การเสริมสร้างความผูกพันองค์กร เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้องค์กรประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซีพีเอฟจึงให้ความสำคัญกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ โดยมุ่งเน้นให้พนักงานมีประสบการณ์ที่ดีในสถานที่ทำงานทุกๆ วัน ผ่านกระบวนการการบริหารทรัพยากรบุคคลที่มีมาตรฐาน ตั้งแต่การคัดเลือกพนักงานที่เป็นคนเก่ง คนดี ตลอดจนให้การดูแลและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของโลกธุรกิจปัจจุบัน รวมถึงบริหารผลตอบแทนอย่างโปร่งใส เท่าเทียม ตรวจสอบได้ ทั้งยังดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ ของพนักงานผ่านโครงการ และกิจกรรมต่างๆ มากมาย ทั้งนี้ บริษัทได้ส่งเสริมให้พนักงานทุกคนอยู่ร่วมกันภายใต้วัฒนธรรมองค์กร (CPF WAY) ที่เข้มแข็ง ปลูกฝังให้พนักงานมีความรู้สึกผูกพัน รัก และภาคภูมิใจ (Brand Love) ในองค์กร จนเกิดเป็นผลลัพธ์จากการทำงานที่มีประสิทธิภาพ
ตลอดการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทมุ่งมั่นสร้างความผูกพันองค์กรของพนักงาน รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตการทำงาน (Well-being) ภายใต้กรอบ “CPF@HEART” ซึ่งครอบคลุมทุกมิติในสถานที่ทำงาน เพื่อให้พนักงานมีสุขภาพกาย และสุขภาพใจที่ดี และพร้อมเติบโตไปกับองค์กร ก้าวสู่การเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืนระดับโลก โดย “CPF@Heart” ประกอบด้วย 2 โครงการ คือ CPF WE CARE และ CPF LOVE&SHARE ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- Care for Career: การเลือกคนที่ใช่ ให้ตรงกับงานที่ชอบ พร้อมก้าวสู่เส้นทางอาชีพที่เหมาะสมกับศักยภาพ ด้วยกระบวนการพัฒนาและโปรแกรมการอบรมที่เหมาะสม ปรับปรุงองค์ความรู้ให้ก้าวทันโลกธุรกิจ สร้างทักษะที่ตอบโจทย์ สนับสนุนให้พนักงานได้เติบโตตามเส้นทางที่เลือกอย่างมืออาชีพ
- Care for Culture: ผลักดันวัฒนธรรมองค์กร CPF WAY 6 ประการ ผ่านโครงการ CPF Ambassador ส่งเสริมให้พนักงานเกิดความรักในองค์กร เข้าใจธุรกิจของบริษัท พร้อมเป็นสื่อกลางถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ของบริษัทสู่ภายนอก ผ่านช่องทางสื่อสารที่มีประสิทธิภาพภายใต้โครงการ Super KOL รวมถึงสนับสนุนการแสดงออกที่ดี เช่น ชี้แนะ ไม่ชี้นำ และการยกย่องชื่นชมระหว่างพนักงาน
- Care for Benefits: สร้างการรับรู้ให้พนักงานทุกระดับสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ และได้รับสวัสดิการที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี เช่น การตรวจสุขภาพประจำปี, สวัสดิการเงินกู้ดอกเบี้ยถูก (ปลดหนี้ สร้างสุข), ทุนการศึกษา, สวัสดิการเงินยืมเพื่อการศึกษาของบุตรพนักงาน เป็นต้น
- Care for Well-Being: เพราะบริษัทมุ่งมั่นสู่การเป็นองค์กรแห่งความสุข จึงจัดตั้งชมรมที่ครอบคลุมทุกมิติตามความสนใจของพนักงาน ส่งเสริมให้เป็นชุมชนแห่งการแลกเปลี่ยน พบปะกันของพนักงานนอกเหนือจากเวลาการทำงาน จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะทั้งกายและใจ และเปิดโอกาสให้พนักงานเข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างอิสระ
“CPF LOVE&SHARE” เป็นโครงการที่สนับสนุนให้พนักงานพร้อมและกล้าที่จะแสดงออกถึงความรักและศรัทธาในองค์กร สามารถปกป้องแบรนด์ บอกต่อสิ่งดีๆ ได้ในสังคม รวมทั้งเป็นช่องทางสื่อสารให้พนักงานรับทราบสิทธิประโยชน์และส่วนลดพิเศษสำหรับพนักงานและครอบครัว โดยมีรายละเอียดดังนี้
- Employee Relationship Platform (ERP) - แอปพลิเคชัน CP L.O.V.E ช่องทางสะสมคะแนนจากการเข้าร่วมกิจกรรมของบริษัท สามารถนำไปแลกรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ของบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์
- สิทธิประโยชน์และส่วนลดครอบครัว / เพื่อนพนักงาน สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการในเครือ เช่น Truemove, Truemoney Wallet เป็นต้น
- กิจกรรมการประชาสัมพันธ์สิทธิประโยชน์ดีๆ จากบริษัท รวมถึงกิจกรรมร่วมสนุกผ่านสื่อ Social Media ตามเทศกาลสำคัญตลอดปี เช่น วันสงกรานต์, วันลอยกระทง เป็นต้น
นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังส่งเสริมให้พนักงานสามารถบริหารจัดการความเครียดในสถานที่ทำงาน ด้วยการร่วมกับแอปพลิเคชันหมอดี (MORDEE) ส่งเสริมสุขภาพกายและใจของพนักงาน ให้สามารถเข้ารับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้โดยตรงหรือสั่งยาได้ทันทีผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งบริษัทยังให้ความสำคัญกับการป้องกันปัญหาสุขภาพ โดยเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำ พร้อมกับแนวทางการรับมือเกี่ยวกับการดูแลตนเองไม่ให้เกิดโรคจากการทำงาน เช่น Office Syndrom และ การบริหารจัดการความเครียดในสถานที่ทำงาน เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน บริษัทเชื่อว่าเมื่อพนักงานมีสุขภาวะที่ดี ส่งผลให้การทำงานเป็นไปอย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพ จึงจัดกิจกรรมที่หลากหลายผ่านชมรมกว่า 19 ชมรม ซึ่งครอบคลุมมิติต่างๆ ดังนี้
- ชมรมที่ส่งเสริมด้านกายภาพ มุ่งเน้นการทำกิจกรรมที่ส่งเสริมให้พนักงานได้ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดกิจกรรมรายสัปดาห์ของชมรมฟุตบอล และชมรมแบดมินตัน รวมถึงกิจกรรมสร้างความภาคภูมิใจให้แก่พนักงานงานด้วยการจัดการแข่งขันระดับประเทศ เช่น การแข่งขันชิงแชมป์แบดมินตัน CEO CUP 2023 เป็นต้น
- ชมรมด้านนันทนาการ ริเริ่มกิจกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้พนักงานทั้งในระดับบุคคลและสังคม เช่น กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิถีชุมชน จากชมรมท่องเที่ยวจิตอาสา เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีด้านสิ่งแวดล้อม กิจกรรมไหว้พระ 5 วัด รอบเกาะรัตนโกสินทร์ฯ ศาสตร์เสริมพลังชีวิต จากชมรม MU-TE World เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนา และสร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่สมาชิกชมรม เป็นต้น
- ชมรมเสริมสร้างสุขภาวะ สนับสนุนการทำกิจกรรมที่ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกทั้งภายในและภายนอกองค์กร สร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน สร้าง Branding องค์กรที่แข็งแกร่ง เช่น สร้างฝายชะลอน้ำ ชมรมครอบครัวอบอุ่น, กิจกรรม Spreading Pride ชมรม LGBTQ+ และกิจกรรมเตรียมความพร้อมสู่วัยเกษียณ ชมรม Happy Life เป็นต้น
เพราะซีพีเอฟเชื่อว่าประสบการณ์ที่ดีของพนักงาน ส่งผลต่อธุรกิจในหลากหลายด้าน จึงผลักดันนโยบายที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) ในสถานที่ทำงานให้สอดรับสถานการณ์การทำงานในโลกยุคปัจจุบัน ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพนักงาน โดยสามารถเลือกช่วงเวลาการปฏิบัติงานแบบยืดหยุ่น (Flexible Working Hour) และมีการทำงานแบบ Remote Work สำหรับหน่วยงานที่สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ได้ อีกทั้งในปีที่ผ่านมา บริษัทยังเปิดโอกาสให้พนักงานได้พัฒนาตนเองเพื่อความก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career path) ผ่านกิจกรรม Opportunity Day ซึ่งจะเติมเต็มศักยภาพให้พนักงานพร้อมเติบโตในตำแหน่งที่สูงขึ้น สอดคล้องกับผลตอบแทนที่เหมาะสม ซึ่งกิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานได้โอนย้าย หมุนเวียนงานภายในไปยังที่ตำแหน่งที่ตนเองสนใจ โดยดำเนินการผ่านระบบงานบริหารทรัพยากรบุคคล (HR-eXp) ที่พนักงานสามารถเข้าถึงการใช้งานได้ง่าย สะท้อนให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและโอกาสเติบโตมากมายในซีพีเอฟ ปราศจากการเลือกปฏิบัติ เป็นไปตามนโยบายและหลักปฎิบัติของบริษัท
เพื่อสร้างสถานที่ทำงานที่เป็นมิตรและเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนเติบโตในการทำงานควบคู่ไปกับการสร้างชีวิตส่วนตัวที่ต้องการ เมื่อบริษัททราบว่าพนักงานตั้งครรภ์ บริษัทจะพิจารณาปรับเวลาและสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมกับผู้ตั้งครรภ์ และให้สิทธิในการลาคลอดบุตรรวมถึงวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตร (Parental Leave) สำหรับพนักงานหญิงเป็นเวลา 98 วัน โดยได้รับค่าจ้าง (Paid parental Leave for primary) 45 วัน ตามที่กฏหมายกำหนด ในขณะเดียวกันพนักงานชายได้รับสิทธิในการลาเลี้ยงดูบุตรแรกเกิดเนื่องจากภรรยาที่ชอบด้วยกฏหมายคลอดบุตร โดยได้รับค่าจ้าง (Paid parental Leave for non-primary) ตลอดระยะเวลาที่ลาเป็นจำนวน 7 วัน ทั้งนี้ บริษัทไม่เพียงแต่ดูแลพนักงานในช่วงตั้งครรภ์เท่านั้น แต่ยังสนับสนุนให้พนักงานสามารถเลี้ยงดูบุตรให้ได้รับโภชนาการที่ดีด้วยการดื่มนมแม่ โดยจัดสรรพื้นที่ในโรงงานและสำนักงานเพื่อให้คุณแม่มีมุมส่วนตัวในการปั๊มนม รวมไปถึงมีสวัสดิการเบิกถุงเก็บน้ำนมแม่ที่ถูกสุขอนามัย เพื่อใช้จัดเก็บและนำน้ำนมกลับไปเลี้ยงดูบุตรได้อย่างถูกสุขลักษณะ ช่วยเพิ่มโอกาสให้ลูกได้รับนมแม่ในช่วงเวลาการเลี้ยงดูที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนให้ความรู้ที่สำคัญพร้อมเป็นคุณแม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะบริษัทเชื่อว่า เมื่อพนักงานสามารถทำบทบาทของแม่ได้อย่างเต็มที่ไร้ความกังวล ส่งผลต่อการทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
จากเป้าหมายการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ซีพีเอฟส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรที่ดีมีคุณภาพ เพื่อสร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนให้กับชุมชน สังคม และประเทศชาติในอนาคต ด้วยการสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับพนักงานและบุตรพนักงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งหมดเป็นจํานวน 80 ทุน อีกทั้งสวัสดิการเงินยืมเพื่อการศึกษาสำหรับบุตรพนักงาน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงปริญญาตรี สร้างโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำ และยังเป็นการแบ่งเบาภาระด้านการเงินให้กับผู้ปกครองอีกด้วย
ซีพีเอฟมีรูปแบบการจ้างงานพาร์ทไทม์ (Part-time) และเปิดโอกาสให้พนักงานกำหนดเวลาทำงานเองได้ โดยเฉพาะในธุรกิจร้านอาหาร การจ้างงานรูปแบบนี้ช่วยให้พนักงานสามารถปรับเวลาทำงานให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของตนเองได้ดีขึ้น ตอบสนองต่อความต้องการของพนักงานแต่ละคน แต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทของธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง โดยรายละเอียดค่าจ้างและสวัสดิการในการจ้างงานดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมาย
จากการดำเนินงานทั้งหมดนี้ ซีพีเอฟได้จัดทำการสำรวจความพึงพอใจของพนักงาน (Employee Engagement Survey) โดยร่วมมือกับบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก ดำเนินการสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2565 ซึ่งแบบสำรวจนี้ครอบคลุมปัจจัยสำคัญต่างๆ เช่น ความสุขในการทำงานของพนักงาน ความเครียดจากการทำงาน การส่งเสริมแรงบันดาลใจในการทำงาน รวมถึงการประเมินผลและนโยบายการโยกย้ายงานตามความสนใจของพนักงานอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ บริษัทจะมีการวัดผลซ้ำทุกๆ 2 ปี โดยการสำรวจครั้งถัดไปจะดำเนินการในปี 2567 จากผลสำรวจที่ผ่านมา บริษัทได้วางกลยุทธ์และแผนการยกระดับในทุกประเด็นตามผลลัพธ์ที่ได้ โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการยกระดับความผูกพันพนักงานซีพีเอฟ (CPF Employee Engagement Committee) เพื่อติดตามแผนการยกระดับ รายงาน และตรวจสอบทั้งในระดับธุรกิจและองค์กร เพื่อให้พนักงานทุกระดับมีความสุขในการทำงาน และมีความผูกพันธ์ต่อองค์กรมากยิ่งขึ้น