ซีพีเอฟเล็งเห็นถึงคุณค่าและให้ความสำคัญกับความแตกต่างและความหลากหลายทางความคิด ทักษะ และประสบการณ์ของพนักงาน เพราะบริษัทเชื่อว่าความหลากหลายนั้นสามารถเพิ่มขีดความสามารถให้กับพนักงานในการขับเคลื่อนบริษัทได้อย่างยั่งยืน บริษัทได้กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อส่งเสริมความหลากหลายในองค์กร เป้าหมายคือการปกป้องพนักงานในทุกระดับ และไม่ประนีประนอมต่อการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ อันเนื่องมาจากลักษณะของบุคคลหรือกลุ่มคนนั้นในเรื่อง เชื้อชาติ สัญชาติ เผ่าพันธุ์ สีผิว ต้นตระกูล ความเชื่อ ศาสนา สถานะทางสังคม รสนิยมทางเพศ เพศ อายุ สรีระทางกายภาพ ความพิการหรือทุพพลภาพ ภาษาที่ใช้ แนวคิดทางการเมือง ตลอดจนสถานภาพเกี่ยวกับการสมรส หรือข้อมูลอื่นใดที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ บริษัทยังป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดและการคุกคามในทุกรูปแบบไม่ว่าการแสดงพฤติกรรมนั้นจะมีนัยยะทางเพศหรือไม่ก็ตามซึ่งได้นำหลักการนี้ไปใช้กับพนักงานทุกระดับในการดำเนินงานทั้งในและต่างประเทศ
บริษัทได้ผนวกเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals of the United Nations: UN SDGs) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ด้านงานทรัพยากรบุคคลเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายแห่งความยั่งยืนในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ โดยมีเป้าหมายในปี 2573 ในการผลักดันให้อัตราส่วนจำนวนและค่าตอบแทนสำหรับพนักงานหญิงและชายเท่าเทียมกันในระดับตำแหน่งที่เท่ากัน โดยในปี 2566 บริษัทมีการจ่ายค่าตอบแทน เฉลี่ยระหว่างพนักงานหญิงและพนักงานชายในระดับพนักงาน ทั้งในกิจการประเทศไทยและต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 1:1.13
ทั้งนี้ บริษัทมีแนวทางในการส่งเสริมการปฏิบัติตามนโยบาย การบริหารความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่าง ดังนี้
- ผู้นำต้องพร้อมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของผู้อื่น
- ส่งเสริมให้พนักงานกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์
- เสริมสร้างบรรยากาศในการทำงานและความเคารพซึ่งกันและกัน สามารถอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของความแตกต่าง
- ยึดหลักการไม่เลือกปฏิบัติและมีความเสมอภาคในโอกาส อันรวมถึงการยกย่องชมเชยพนักงานอย่างเหมาะสม
บริษัทยังมีนโยบายสนับสนุนให้พนักงานทุกภาคส่วนเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ (สปก.) ซึ่งเป็น กลุ่มตัวแทนของพนักงานจากทุกระดับและสายงาน เพื่อเปิดโอกาสในการเสนอแนะให้บริษัทพิจารณาปรับปรุงในด้านสวัสดิการ สภาพแวดล้อมการทำงาน การร้องเรียน และการบริหารจัดการด้านแรงงานที่ไม่เหมาะสม เช่น การจัดทางม้าลายเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้พื้นที่ภายในสถานประกอบการ การจัดพื้นที่รับประทานอาหารและพักผ่อนระหว่างการทำงานภายในสถานประกอบการ เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการสวัสดิการจะรับข้อคิดเห็นและพิจารณาในประเด็นดังกล่าวมาปรับปรุงใช้ในองค์กร โดยในปี 2566 พนักงานของบริษัทได้รับผลประโยชน์จากการปรับปรุงตามข้อเสนอแนะกับตัวแทนบริษัทแล้วร้อยละ 82.9 ของพนักงานในกิจการประเทศไทยทั้งหมด นอกจากนี้บริษัทยังได้สนับสนุนกิจกรรม หรือให้ความสะดวกแก่แรงงานต่างชาติในประเด็นของความแตกต่างด้านภาษาเพิ่มเติมอีกด้วย เช่น ประกาศและล่ามสำหรับแรงงานต่างชาติที่อยู่ในสถานประกอบการ