โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อย
บริษัทริเริ่มโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อยหรือ Contract Farming ตั้งแต่ปี 2518 ด้วยความมุ่งหวังที่จะส่งเสริมอาชีพและรายได้แก่เกษตรกรไทย โดยระบบ Contract Farming เป็นการทำธุรกิจที่เกษตรกรมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน และบริหารจัดการฟาร์มภายใต้มาตรฐานเดียวกับฟาร์มบริษัท เพื่อประโยชน์โดยตรงต่อเกษตรกรในด้านการมีรายได้ที่แน่นอน และเพื่อผู้บริโภคที่จะได้บริโภคอาหารคุณภาพและปลอดภัย
ในปี 2558 บริษัทได้พัฒนารูปแบบและสัญญาการดำเนินงานเพื่อประโยชน์ทั้งต่อเกษตรกร บริษัท และผู้บริโภคตามแนวทางสากลของ UNIDROIT ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระทางกฎหมายสากลอันดับ 1 ของโลก และเราเป็นผู้ประกอบการรายแรกในประเทศไทยที่นำร่องใช้แนวทางสากล
ตามแนวทางการส่งเสริมศักยภาพและทำงานร่วมกันภายใต้แนวคิด “คู่คิด คู่พัฒนา ก้าวหน้าเคียงคู่สู่ครัวของโลก” บริษัทยังให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมเสริมสมรรถนะและขีดความสามารถในการบริหารจัดการฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพ และดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างโอกาสและความสำเร็จทางธุรกิจไปพร้อมกัน โดยเราได้จัดฝึกอบรมทั้งแบบกลุ่มและแบบตัวต่อตัวในหลากหลายรูปแบบให้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน เรามีเกษตรกรคู่สัญญาราว 5,000 ราย ครอบคลุมการเลี้ยงสุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสัตว์น้ำ
โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรม
นับแต่ปี 2520 จวบจนปัจจุบัน เครือเจริญโภคภัณฑ์และซีพีเอฟได้มีส่วนร่วมและสนับสนุนอาชีพเกษตรกรรมแก่เกษตรกรรายย่อยผ่านการส่งเสริมการรวมกลุ่ม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการ โดยได้น้อมนำแนวคิดการพัฒนาเกษตรกรรมแบบผสมผสานตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบกับการนำขีดความสามารถของบริษัทมาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการเลี้ยงสัตว์ ผสานกับการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อเสริมสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ เพิ่มรายได้ และพัฒนาไปสู่สังคมพึ่งพาตนเองและอยู่ดีมีสุขในที่สุด
ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์และซีพีเอฟได้ร่วมกับเกษตรกรไทยในโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร พัฒนาอาชีพไปพร้อมๆ กับการสร้างความเข้มแข็งในชุมชน จนเกิดความมั่นคงในอาชีพ มีรายได้ที่แน่นอน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสืบทอดอาชีพเกษตรกรรมสู่ลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่น
จากความสำเร็จของจากการพัฒนาชุมชนต้นแบบเกษตรกรรมผสมผสานยั่งยืนของหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า และหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร บริษัทจึงได้ต่อยอดการพัฒนาไปสู่โครงการหมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า…ต้นแบบเกษตรผสมผสานยั่งยืน
เครือเจริญโภคภัณฑ์และซีพีเอฟดำเนินการตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้านการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ด้วยการรวบรวมที่ดิน 1,253 ไร่ ซึ่งเป็นดินทรายที่เสื่อมสภาพ เพาะปลูกไม่ได้ผล ณ หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา มาจัดรูปที่ดินใหม่เมื่อปี 2520 โดยแบ่งเป็นแปลงละ 24 ไร่ พร้อมจัดสร้างบ้านพัก 1 หลัง และโรงเรือนเลี้ยงสุกร 1 หลัง ให้แก่เกษตรกรที่มีฐานะยากจน ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง จำนวน 50 ครอบครัว
‘ชุมชนประชารัฐ’…ฐานรากความเข้มแข็ง
เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่มีความเข้มแข็ง การพัฒนาโครงการจึงดำเนินการในรูปแบบ 4 ประสาน ประกอบด้วย
เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่มีความเข้มแข็ง การพัฒนาโครงการจึงดำเนินการในรูปแบบ 4 ประสาน ประกอบด้วย
ภาครัฐ:
อำเภอพนมสารคาม พัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ
ภาคชุมชน:
เกษตรกรที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 50 ครอบครัว เข้าร่วมโครงการระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2521
สถาบันการเงิน:
ธนาคารกรุงเทพ สนับสนุนเงินลงทุนในรูปแบบสินเชื่อ เพื่อการลงทุนซื้อที่ดิน ปลูกสร้างที่อยู่อาศัยและโรงเรือนเลี้ยงสุกร รวมถึงเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนด้านการเลี้ยงสุกรและการเพาะปลูก
ภาคเอกชน:
บริษัทในนามเครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร ให้ความรู้เทคนิควิชาการสมัยใหม่เกี่ยวกับการเกษตร และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการบริหารจัดการด้านบัญชีและการเงิน พร้อมรับผิดชอบด้านการตลาด และเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้แก่เกษตรกรทุกราย
จาก ‘โครงการ’ สู่ ‘บริษัท’
เกษตรกรในโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้าเลี้ยงหมูเป็นอาชีพหลัก ซึ่งนับเป็นชุมชนผู้เลี้ยงหมูที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และยังประกอบอาชีพเสริมที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนในชุมชน ได้แก่ การปลูกยางพารา การทำสวนมะม่วง การเลี้ยงไก่พื้นเมือง การปลูกไผ่หวาน การเพาะเห็ดฟางในระบบโรงเรือนปิด การเลี้ยงและขยายพันธุ์ม้า และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปั้นเม็ด โดยมีระบบการบริหารจัดการที่อาศัยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการมีส่วนร่วมที่ช่วยให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ จึงได้พัฒนารูปแบบการบริหารและดำเนินงานจาก “โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า” สู่ “บริษัท หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จำกัด” ในปี 2531 ด้วยเป้าหมายสูงสุด 2 ประการ กล่าวคือ บริษัทต้องอยู่ได้และสมาชิกเกษตรกรต้องอยู่ดี หรือมีรายได้ดีและความเป็นอยู่ดีนั่นเอง โดยสมาชิกทุกครัวเรือนเป็นผู้ถือหุ้น และคัดเลือกตัวแทนเกษตรกรเป็นคณะกรรมการบริหาร เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรวบรวมผลิตผลของสมาชิกในหมู่บ้านขายให้กับคู่ค้า รวมถึงการจัดหาปัจจัยการผลิตต่างๆ จากภายนอกมาจำหน่ายให้สมาชิกด้วยกันเอง ซึ่งช่วยให้เกษตรกรมีความรู้เรื่องการตลาดและการบริหารธุรกิจด้านการเกษตรมากยิ่งขึ้น
ความสำเร็จที่มั่นคงและยั่งยืน
ดัชนีชี้วัดความสำเร็จของเกษตรกรที่เห็นได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม คือ รายได้ จากเริ่มต้นที่มีรายได้เฉลี่ย 2,000 บาทต่อครอบครัวต่อเดือน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 80,000 – 100,000 บาทต่อครอบครัวต่อเดือน
ไม่เพียงอาชีพและรายได้ที่มั่นคง หากแต่คุณภาพชีวิตของเกษตรกรและลูกหลานยังเป็นสิ่งที่สะท้อนความสำเร็จของโครงการได้เป็นอย่างดี จากแรกเริ่มอยู่อย่างยากจน ไม่มีแม้ที่ดินทำกินเป็นของตนเอง แต่ในปัจจุบันเกษตรกรมีที่ดิน ทรัพย์สิน และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งบุตรหลานมีโอกาสได้เรียนและจบการศึกษาในระดับสูงเท่าที่ตนเองต้องการ ขณะเดียวกัน เกษตรกรยังนำความรู้ทางด้านการเกษตรและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผสมผสานกับเทคโนโลยี เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น โครงการผลิตแก๊สชีวภาพ โครงการปุ๋ยอินทรีย์ปั้นเม็ดจากมูลสุกร
ความสำเร็จจากการประกอบอาชีพด้วยความขยันหมั่นเพียรและความสามัคคีของคนในชุมชนยังได้รับการถ่ายทอดสู่ลูกหลาน รวมถึงเด็กและเยาวชน บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ ผ่านกิจกรรมด้านการเกษตรที่หลากหลาย เช่น กิจกรรมเปิดโลกความรู้นอกห้องเรียนกับหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า กิจกรรมฟาร์มสเตย์หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จนได้ชื่อว่าเป็นชุมชนต้นแบบด้านการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร
นอกจากนี้ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงมุ่งเน้นการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ ประกอบกับความตั้งใจที่จะปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่าไม้ และความหลากหลายทางชีวภาพให้กับชุมชน พนักงาน เกษตรกรที่อยู่ในฟาร์ม หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้าและซีพีเอฟจึงได้ร่วมดำเนิน “โครงการปลูกป่านิเวศในชุมชนเฉลิมพระเกียรติ ร.๙” ด้วยการปลูกกล้าไม้ 50,000 ต้น ชนิดพันธุ์ไม้มากกว่า 109 ชนิด บนพื้นที่ 14 ไร่ ซึ่งเป็นการปลูกในลักษณะที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบด้านการปลูกป่านิเวศอย่างยั่งยืน ควบคู่ความเป็นอยู่ที่อุดมสมบูรณ์
หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร…หมู่บ้านสามัคคี เทคโนโลยีทันสมัย
โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ก่อตั้งขึ้นด้วยความมุ่งหวังที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริด้านการปฏิรูปที่ดินของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาใช้ในการจัดสรรพื้นที่ราบกว่า 4,000 ไร่ สู่ การเกษตรผสมผสานแบบทันสมัย ณ หมู่ที่ 20 ตำบลเทพนคร อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร
4 ประสาน ควบคู่การจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมผสมผสาน
การดำเนินโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชรนำแนวคิด 4 ประสานเช่นเดียวกับหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้ามาใช้ โดยมีอำเภอเมืองกำแพงเพชรทำหน้าที่พัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เกษตรกร จำนวน 64 ครอบครัว รับผิดชอบด้านการผลิต ธนาคารกรุงเทพสนับสนุนสินเชื่อ ขณะที่เครือเจริญโภคภัณฑ์และบริษัทในเครือฯ รับผิดชอบด้านการบริหารโครงการ ซึ่งได้แบ่งพื้นที่การบริหารจัดการออกเป็น 2 ส่วนหลัก ประกอบด้วย
- ส่วนที่ 1: เนื้อที่ประมาณ 2,400 ไร่ เป็นที่ดินส่วนกลางที่พัฒนาเป็นถนน คลองชลประทาน แปลงเพาะปลูกพืชไร่ และแปลงสาธิตการเพาะปลูกต่างๆ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็น ‘ศูนย์เรียนรู้การจัดการการเกษตรสมัยใหม่ ข้าว-ปลา-ปาล์ม’ ที่เปิดโอกาสให้เกษตรกร ชุมชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจเข้าศึกษาดูงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยการบริหารงานในส่วนนี้รับผิดชอบโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มพืชครบวงจร
- ส่วนที่ 2: เนื้อที่ประมาณ 1,600 ไร่ จัดสรรให้เกษตรกร 64 ครอบครัวๆ ละ 25 ไร่ โดยพื้นที่ 5 ไร่ จัดเป็นพื้นที่สำหรับบ้านพักอาศัย โรงเรือนเลี้ยงสุกร บ่อเลี้ยงปลา และปลูกพืชสวนครัว ส่วนที่ดินอีก 20 ไร่ เป็นแปลงเพาะปลูกพืชไร่ ซึ่งการบริหารงานในส่วนนี้รับผิดชอบโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์และซีพีเอฟ
เกษตรผสมผสานสมัยใหม่นำพาชุมชนเข้มแข็ง
จากความร่วมมือและความมุ่งมั่นของบริษัทกับกลุ่มเกษตรกรในการนำวิชาการทางการเกษตรสมัยใหม่ นวัตกรรมเครื่องจักรกล และระบบการจัดการที่ครบวงจรมาใช้ในกระบวนการผลิตแบบผสมผสาน ส่งผลให้เกษตรกรประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีรายได้จากการเลี้ยงสุกร ซึ่งเป็นอาชีพหลักเฉลี่ย 50,000-150,000 บาท/ครอบครัว/เดือน และมีรายได้จากอาชีพเสริม ได้แก่ การเลี้ยงปลาดุก การปลูกผักกระเฉดน้ำ การปลูกผักสวนครัว และขายปุ๋ยมูลสุกรราว 100,000 บาท/ปี
นอกจากนี้ ชุมชนยังให้ความสำคัญกับการจัดการสภาพแวดล้อมและทรัพยากรน้ำ โดยได้การดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ
- โครงการสวนป่าชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร บนพื้นที่ 30 ไร่ โดยปลูกต้นไม้กว่า 18,000 ต้น ด้วยชนิดพันธุ์ไม้มากกว่า 220 ชนิด เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ไม้ท้องถิ่น เสริมสร้างธรรมชาติในระบบนิเวศที่สมบูรณ์ที่จะสามารถเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ตลอดจนช่วยส่งเสริมกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาและเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับชุมชน สถานศึกษาในท้องถิ่น และผู้ที่สนใจ เข้ามาศึกษาและเยี่ยมชมได้ตลอดทั้งปี
- โครงการก๊าซชีวภาพ จากมูลสุกรและน้ำใช้จากกระบวนการผลิตจากโรงเรือนสุกรเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร
- โครงการปุ๋ยอินทรีย์ จากกากมูลสุกรที่ได้จากโครงการแก๊สชีวภาพ เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่สวนปาล์ม , สวนยางพารา , สวนปุ่าชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชรและช่วยปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่
- โครงการ Water Recycle นำน้ำที่ผ่านการบำบัดจากโครงการก๊าซชีวภาพไปใช้ประโยชน์ในการรดน้ำต้นไม้ในพื้นที่สวนปาล์ม , สวนยางพารา , สวนป่าชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร
จนถึงวันนี้เกษตรกรทุกรายสามารถพึ่งพาตนเอง ทุกครอบครัวมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี หมู่บ้านมีความสามัคคีและยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อความสุข ความสำเร็จที่มั่นคงและยั่งยืน
หมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์
ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของอาชีพตำรวจและคุณภาพชีวิตหลังเกษียณอายุราชการ เครือเจริญโภคภัณฑ์และซีพีเอฟจึงได้ริเริ่มโครงการเกษตรสันติราษฎร์ ณ หมู่ 5 ตำบลนาวังหิน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ในปี 2549 ด้วยการจัดสรรที่ดินกว่า 230 ไร่ พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการเลี้ยงสัตว์แก่ข้าราชการตำรวจและครอบครัว จำนวน 31 ราย เพื่อให้ข้าราชการตำรวจมีรายได้เสริมและมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง
หมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์เกิดจากความร่วมมือในลักษณะ 4 ประสาน ประกอบด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารทหารไทย สถานีตำรวจภูธรเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี และเครือเจริญโภคภัณฑ์ นำโดยซีพีเอฟ ซึ่งได้นำแนวคิด “1 หมู่บ้าน 4 ผลิตภัณฑ์” มาใช้ในการส่งเสริมรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ข้าราชการตำรวจและครอบครัว สำหรับ 4 ผลิตภัณฑ์ มาจาก “3 อาชีพหลัก 1 อาชีพเสริม” โดยอาชีพหลัก ประกอบด้วย การปลูกผัก การเลี้ยงสุกร และการเลี้ยงกบ ขณะที่อาชีพเสริมคือการเลี้ยงไก่พื้นเมือง ซึ่งสามารถแบ่งพื้นที่การดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
-
ส่วนที่ 1: เนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ สำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยสมาชิกแต่ละครอบครัวจะได้รับการจัดสรรที่ดินจำนวน 1.5 ไร่ พร้อมที่พักอาศัยและโรงเรือนเลี้ยงไก่พื้นเมือง
-
ส่วนที่ 2: เนื้อที่ประมาณ 180 ไร่ สำหรับดำเนินธุรกิจการเกษตรประกอบด้วย โรงเรือนปลูกผัก โรงเรือนสุกรพร้อมบ่อหมักก๊าซชีวภาพ และบ่อเลี้ยงกบ
ปัจจุบันหมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์บริหารจัดการในรูปแบบ “บริษัท หมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์ จำกัด” ถือหุ้นโดยข้าราชการตำรวจทั้ง 31 ครอบครัว และในปี 2561 ได้มีการมอบกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดให้แก่ข้าราชการตำรวจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมแก่เกษตรกรรายย่อย
เป็นเวลา 4 ทศวรรษที่ซีพีเอฟร่วมกับมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์และเหล่าพนักงาน ตลอดจนภาคีเครือข่ายต่างๆ ส่งเสริมการสร้างสรรค์ความดี 3 ประการ ได้แก่ “คนดี พลเมืองดี อาชีพดี” เพื่อพัฒนาคนและส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในปี 2562 บริษัทและมูลนิธิฯ มีส่วนร่วมสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยกว่า 5,600 ครอบครัว ให้มีอาชีพที่มั่นคงและรายได้อย่างพอเพียง
การรวมกลุ่มของเกษตรกรไม่เพียงเพื่อร่วมบริหารจัดการอาชีพเท่านั้น หากยังสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภายในชุมชน และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ชุมชนภายนอกอีกด้วย
การดำเนินการ