การดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นธรรม สุจริต โปร่งใส รับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสู่การเติบโตที่ยั่งยืนขององค์กร นำมาซึ่งความไว้วางใจของผู้มีส่วนได้เสีย ความน่าเชื่อถือในการดำเนินงานและชื่อเสียงที่ดีของบริษัท บริษัทจึงแสดงความมุ่งมั่นและต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อมในทุกธุรกิจและทุกหน่วยงานของบริษัทตามที่ได้ประกาศอย่างชัดเจนในนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน บริษัทได้เข้าเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Thailand’s Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption: CAC) ซึ่งถือเป็นการสะท้อนจุดยืนที่แน่วแน่ของบริษัทในการที่จะนำนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันไปปฏิบัติให้เกิดผลจริงทั่วทั้งองค์กร
เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานของบริษัทจะไม่เพิกเฉยต่อการทุจริตคอร์รัปชัน บริษัทจึงมุ่งเสริมสร้างความตระหนักรู้ครอบคลุมทั้งเชิงนโยบายและแนวปฏิบัติให้แก่คณะกรรมการบริษัทและพนักงานทุกระดับได้รับทราบนโยบายฯ แล้วทั่วทั้งองค์กร ด้วยช่องทางที่หลากหลาย เช่น การปฐมนิเทศกรรมการและพนักงานใหม่ จดหมายข่าวอิเล็กทรอนิกส์ (e-newsletters) แอพพลิเคชันบนมือถือ CPF Connect สื่อประชาสัมพันธ์ภายในต่าง ๆ และการเรียนรู้ผ่านระบบ e-Learning เป็นต้น โดยได้รวมการอบรมหลักสูตรธรรมาภิบาลขั้นพื้นฐานเข้าเป็นหลักสูตรสำคัญที่พนักงานทุกคนสามารถเรียนรู้ ทำความเข้าใจ ตลอดจนนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งตามที่บริษัทกำหนดเป็นนโยบายให้บุคลากรทุกคนทำการทบทวนความรู้ความเข้าใจอยู่เป็นประจำ และพนักงานใหม่จะต้องเข้ารับการอบรมภายใน 90 วัน
โดย ณ ปี 2566 คณะกรรมการบริษัท พนักงานทุกระดับได้รับการอบรมเกี่ยวกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน ดังนี้
ระดับพนักงาน | จำนวน (คน) | ร้อยละ |
---|---|---|
คณะกรรมการบริษัท | 15 | 100 |
ผู้บริหารและพนักงาน | 21,824 | 100 |
คนงาน | 48,082 | 100 |
กิจการประเทศไทย | 69,921 | 100 |
กิจการต่างประเทศ | 65,525 | 100 |
ทั้งหมด | 135,446 | 100 |
นอกจากนี้ บริษัทยังจัดให้มีช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนเมื่อพบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือขัดต่อจรรยาบรรณธุรกิจ ตลอดจนรับฟังข้อเสนอแนะจากพนักงาน โดยบริษัทจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานที่ปฏิเสธการกระทำที่เข้าข่ายทุจริตหรือคอร์รัปชัน หรือแจ้งเรื่องคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ซึ่งในปี 2566 มีการแจ้งเบาะแสและเรื่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการตรวจสอบจำนวนทั้งสิ้น 86 เรื่อง และเมื่อนำเรื่องเข้ากระบวนการตรวจสอบแล้วมีรายละเอียด ดังนี้
ประเภท | จำนวนเรื่อง | มาตรการจัดการ | |||
---|---|---|---|---|---|
ตักเตือนด้วยวาจา | ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร | พักงาน | เลิกจ้าง | ||
1. ทุจริต | 1 | - | - | - | 1 (7 คน) |
2.ไม่ปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติงาน | 13 | 3 (4 คน) |
2 (2 คน) |
- | 1 (1 คน) |
3.คอร์รัปชันและสินบน | - | - | - | - | - |
4.การเลือกปฏิบัติและการคุกคาม | - | - | - | - | - |
5.ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ | - | - | - | - | - |
6.การฟอกเงินและการใช้ข้อมูลภายใน | - | - | - | - | - |
ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมิได้มีนัยสำคัญอันส่งผลกระทบต่อบริษัททั้งทางด้านชื่อเสียง หรือการเงินแต่อย่างใดและบริษัทไม่มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องในประเด็นทุจริต คอร์รัปชัน การให้และรับสินบน การผูกขาดหรือการกีดกันทางการค้าแต่อย่างใด
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ รายงานประจำปี 2566 ส่วนที่ 2 การกำกับดูแลกิจการ หน้า 152
การดำเนินการ