ปัจจุบันปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากภาคธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาคพลังงาน ภาคเกษตรกรรม ภาคกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม และภาคการจัดการของเสีย เป็นต้น ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังก่อให้เกิดความแปรปรวนของภูมิอากาศอย่างรุนแรง ฤดูกาลที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น อันส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากปริมาณและคุณภาพของผลผลิตขึ้นกับสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งส่งผลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ การควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงเป็นหนึ่งในประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จากความร่วมมือกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ประเทศต่างๆ ตั้งเป้าหมายร่วมกันขั้นพื้นฐานที่จะรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และมีความพยายามที่การจำกัดให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกต่ำกว่าหรือใกล้เคียงกับ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถลดผลกระทบทางลบต่อระบบนิเวศ สุขภาพและสุขภาวะของมนุษย์ได้ได้มากกว่าเมื่อเทียบกับจำกัดที่ 2 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นความท้าทายต่อการบริหารจัดการในทุกภาคส่วน บริษัทจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแสวงหาและพัฒนาแนวทางการมีส่วนร่วมบรรเทาและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ซีพีเอฟจำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบริษัทได้นำแนวปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ หรือ The Recommendation of Taskforces on Climate-related Financial Disclosure (TCFD) มาเป็นแนวทางในการประเมินความเสี่ยงและโอกาสอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเป็นแนวทางในการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศต่อผู้ลงทุนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อนำไปวิเคราะห์ความสามารถของบริษัทในการรับมือกับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่
ซีพีเอฟ Net-Zero Journey
เราภูมิใจที่เป็นบริษัทผลิตอาหารบริษัทแรกในโลกที่ได้รับอนุมัติทั้งเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว สอดคล้องตามมาตรฐาน Forest, Land and Agriculture (FLAG) ซึ่งเป็นมาตรฐานเฉพาะสำหรับภาคเกษตรและอาหาร จากองค์กร the Science Based Targets initiative (SBTi) เทียบกับปีฐาน 2563 บริษัทตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 42% และ 90% สำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภท non-FLAG ภายในปี 2573 และปี 2593 ตามลำดับ รวมทั้ง 30.3% และ 72% สำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภท FLAG ภายในปี 2573 และปี 2593 ตามลำดับ นอกจากนี้เรายังกำหนดเป้าหมายต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าสำหรับวัตถุดิบหลักที่มีความเชื่อมโยงกับการตัดไม้ทำลายป่า ภายในปี 2568
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ซีพีเอฟ Net-Zero Journey
การประเมินผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ: ต้นทุนคาร์บอนที่ส่งผลกระทบต่อสังคม (Social Cost of Carbon)
ซีพีเอฟตระหนักถึงความสำคัญของการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของเรา จึงได้มีการติดตามผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านตัวชี้วัดที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยซีพีเอฟได้กำหนดเป้าหมายในการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2573 นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังได้ประเมินต้นทุนคาร์บอนที่ส่งผลกระทบต่อสังคม (Social Cost of Carbon) ซึ่งอ้างอิงจาก International Business Council Guidance จัดทำโดย World Economic Forum ต้นทุนคาร์บอนที่ส่งผลกระทบต่อสังคมเป็นการวัดมูลค่าทางการเงิน ของผลกระทบสุทธิในเชิงลบที่เกิดต่อสังคมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละปี โดยมูลค่าดังกล่าวคำนึงจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณผลผลิตทางการเกษตร ผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ ความเสียหายต่อทรัพย์สินจากน้ำท่วมและภัยธรรมชาติ การหยุดชะงักของระบบพลังงาน ความเสี่ยงในการเกิดความขัดแย้ง การอพยพอันเนื่องมาจากสิ่งแวดล้อม และคุณค่าของบริการทางระบบนิเวศที่สูญเสียไป
ต้นทุนคาร์บอนที่ส่งผลกระทบต่อสังคมถูกประเมินไว้ที่ 7,015.07 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าหรือ 204 USD ต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2566 ซึ่งพิจารณาจากอัตราคิดลดที่ร้อยละ 2
ในปี 2566 การพื้นที่ดำเนินงานที่อยู่ภายใต้การควบคุมโดยตรงของซีพีเอฟใน 9 ประเทศ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1,455,422 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ดังนั้นจึงมีต้นทุนคาร์บอนที่ส่งผลกระทบต่อสังคม คิดเป็นมูลค่า 10,210 ล้านบาท
ด้วยความตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าวซีพีเอฟจึงมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซซื้อกระจกทั้งในพื้นที่ปฏิบัติงานและในห่วงโซ่คุณค่า ผ่านการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน การดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพ และศึกษาเทคโนโลยีการกักเก็บและใช้ประโยชน์จากคาร์บอน (Carbon Capture and Storage/Utilization) นอกจากนี้ เรายังส่งเสริมความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในห่วงโซ่คุณค่า ผ่านการวิจัยและพัฒนาสินค้าคาร์บอนต่ำ รวมถึงการส่งเสริมการจัดหาอย่างยั่งยืนในหลาย ๆ ด้าน อาทิ การตรวจสอบย้อนกลับ และการจัดหาที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า การทำการเกษตรอย่างยั่งยืนและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตปริ้นท์ของวัตถุดิบ ซีพีเอฟเชื่อมั่นว่ากิจกรรมเหล่านี้จะมีส่วนช่วยในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสังคมอันเกิดจากการดำเนินธุรกิจของเรา และจะช่วยส่งผลในแง่บวกต่อสังคมในอนาคตในระยะยาว