แม้โรคเพิร์ส (PRRS) หรือโรคแท้งในหมูจะเกิดมานานนับสิบปีแล้วก็ตาม แต่การระบาดใหญ่ครั้งล่าสุด ตั้งแต่ปลายปี 2556 วันนี้ยังคงมีให้เห็นเพื่อป้องกันโรคที่จะกลับระบาดรุนแรงอีกครั้ง ในช่วงปลายฝนต้นหนาวของปีนี้ น.สพ.นรินทร์ ร่มลำดวน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ ผู้ชำนาญการด้านสุขภาพสัตว์ แนะเกษตรกรเจ้าของฟาร์มพ่อแม่พันธุ์สุกรเฝ้าระวังไว้ให้ดี เพราะเป็นช่วงเวลาที่อ่อนไหวต่อการเกิดโรคเพิร์สได้ง่ายที่สุด
"อากาศเปลี่ยนแปลง วันหนึ่งมี 3 ฤดู ร้อน-ฝน-หนาว ทำให้หมูปรับตัวไม่ทัน ร่างกายจะเครียด ภูมิคุ้มกันต่ำ ร่างกายอ่อนแอเจ็บป่วยง่าย ไม่ต่างจากคน ยิ่งโรคเพิร์สเป็นโรคที่ซ่อนอยู่ในตัวหมูเป็นทุนเดิมอยู่แล้วถ้าหมูแข็งแรงจะไม่แสงอาการออกมาให้เห็นและด้วยเป็รโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสยังไม่มียารักษา ยาที่ใช้กันจะเป็นการรักษาตามอาการของโรคแทรกซ้อนที่ตามมาภายหลัง ฉะนั้นสิ่งที่จะช่วยหมูได้ดีที่สุดคือ ทำให้มีภูมิคุ้มกันสู้ไวรัสได้ แต่ถ้ามาเจอกับอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย หมูภูมิคุ้มกันต่ำเมื่อไรจะมีโอกาสเกิดการระเบิดของโรคให้ระบาดไปทั่วได้"
น.สพ.นรินทร์ บอกว่าโรคนี้เป็นเฉพาะในหมูไม่ระบาดสู่คน ที่มีการปล่อยข่าวในสังคมโซเชียลมีเดีย หมูเป็นเอดส์นั้นเป็นแค่ลักษณะอาการคล้ายกัน คือหมูที่ป่วยด้วยโรคนี้ จะผอมแห้งและท้องเสียเท่านั้นเอง
สำหรับการระวังป้องกันโรคเพิร์สในช่วงนี้ผู้ชำนาญการด้านสุขภาพสัตว์ ซีพีเอฟแนะให้เกษตรกรดูแลเรื่องการจัดการแม่หมูสาวฝูงใหม่ที่จะเอาเข้ามาเลี้ยงทดแทนแม่หมูปลดระวาง จะต้องมีการนำไปแยกเลี้ยง 1 เดือน ก่อนนำเข้ารวมฝูงเดิมและในการแยกเลี้ยงจะต้องนำหมูจากฝูงเดิมมาคลุกเลี้ยงด้วยในอัตรา หมูเดิม 1 ตัว ต่อ หมูสาว 10 ตัว ทั้งนี้เพื่อให้เชื้อโรคที่ซ่อนอยู่ในหมูเดิมมากระตุ้นภูมิคุ้มกันของหมูสาวให้รู้จักต่อสู้กับเชื้อโรคที่ไม่เคยเจอมาก่อนเหมือนเป็นการให้วัคซีนแบบธรรมชาติกับหมูสาวนั่นเอง
และต้องจำกัดยานพาหนะและบุคลากรที่จะเข้าภายในฟาร์มเลี้ยงสัตว์จะต้องผ่านการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคจากที่อื่นปนเปื้อนติดมาด้วย
"แต่หากฟาร์มใดพบอาการแท้งผิดปกติ แม่หมูที่ขึ้นคลอดเกิดแท้งลูกติดต่อกันหลายตัว ควรงดการนำสุกรฝูงใหม่เข้ามาเลี้ยง และให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อย่างใกล้ชิด" น.สพ.นรินทร์ กล่าว.
ขอขอบคุณ ไทยรัฐ