น.สพ.สุเมธ ทรัพย์ชูกุล นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก เปิดเผยว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่ติดอันดับ 4 ของโลก ในแต่ละปีมีการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์มากกว่า 5 แสนตัน โดยมีตลาดหลักคือสหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น คิดเป็น 80-90% ของการส่งออกเนื้อไก่ทั้งประเทศ ซึ่งทั้งสองตลาดนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยอาหารของผู้บริโภคในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีกฎระเบียบที่ห้ามใช้ฮอร์โมนและสารปฏิชีวนะในการเลี้ยงไก่ และไทยยังถือเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่และปศุสัตว์รายใหญ่ใน AEC จึงทำให้หลายประเทศในกลุ่มนี้พยายามเรียนรู้และทำตามอย่างประเทศไทย ทั้งมาตรฐานการผลิต การป้องกันโรค และมาตรฐานการส่งออก
ทั้งนี้ สัตวแพทย์เป็นผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพสัตว์ปีก ที่ยืนหยัดในการแนะนำทั้งการเลี้ยง การจัดการ และการควบคุมโรคสัตว์ปีกแก่เจ้าของธุรกิจตามหลักวิชาการ เช่น การดูแล-การเฝ้าระวังสัตว์ป่วย การทำลายซากไก่ ตลอดจนสร้างความเข้าใจในการป้องกันโรคแก่ ผู้ประกอบการ ผู้คนในชุมชน ผู้นำชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความสำนึกรับผิดชอบต่ออาชีพ และสังคมโดยรวมเพื่อให้เกษตรกรมีผลผลิตที่ดี มีคุณภาพสู่ผู้บริโภค อย่างไรก็ตามยังมีความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับการบริโภคเนื้อไก่ ทั้งเรื่องกลัวว่าไก่จะใช้ฮอร์โมนเร่งโต กลัวสารปนเปื้อนที่มากับเนื้อไก่ กลัวโรคที่มากับไก่ กลัวอาหารแปรรูปจากเนื้อไก่ หรือแม้แต่กลัวว่าทานไก่แล้วจะทำให้ลูกเป็นสาวเร็วหรือทำให้หน้าอกใหญ่ โดยในทางปฏิบัติยังไม่เคยตรวจพบเนื้อไก่ที่มีการปนเปื้อนฮอร์โมนหรือสารปนเปื้อน เพราะในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีกมีมาตรฐานการเลี้ยงดูที่ดี
“ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ไม่ใช้ฮอร์โมนในการเลี้ยงไก่ แต่ทั้งอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ต่างก็สั่งระงับการใช้ฮอร์โมนมาเป็นเวลานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้วนับตั้งแต่ปี 1959 เป็นต้นมา ดังนั้น ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่าเนื้อไก่ของไทยมีมาตรฐานการผลิตระดับโลกและการป้องกันโรคที่ดี สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัยแน่นอน” น.สพ.สุเมธ กล่าว
ด้าน นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า ไก่เนื้อของไทยมีการเติบโตและอนาคตที่สดใส โดยคาดว่าในปี 2558 นี้ไทยจะสามารถส่งออกไก่เนื้อได้ 6 แสนตัน เพิ่มจากปี 2557 ประมาณ 6-7% จากที่ส่งออกได้ 5.7 แสนตัน ส่วนมูลค่าจะเพิ่มขึ้น 5% หรือประมาณ 8.1-8.2 หมื่นล้านบาท และคาดว่าในช่วงกลางปีนี้ตลาดเกาหลีใต้จะอนุญาตให้ไทยส่งออกไก่สดไปได้ ที่จะช่วยให้ไทยส่งไก่สดเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งไทยเคยส่งได้ถึง 4 หมื่นตันต่อปี ปัจจุบันส่งได้เฉพาะไก่ปรุงสุกปริมาณ 1.5 หมื่นตันต่อปี
นายคึกฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาไทยปฏิบัติตามมาตรฐานการผลิตทั้งในประเทศและมาตรฐานสากลอย่างครบถ้วน ผู้ประกอบการไทยล้วนให้ความสำคัญกับการรักษามาตรฐาน และระบบปฏิบัติด้านการผลิตตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ฟาร์มจนถึงมือผู้บริโภคอย่างเคร่งครัด โดยยึดถือความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ขณะที่ประเทศคู่ค้าทั้งสองจะส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจระบบการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยอาหารทุกๆ 1-2 ปี ที่สำคัญผู้ประกอบการไทยต่างยึดแนวทางการผลิตตามข้อกำหนดทางการค้าของอียูและญี่ปุ่น และมาตรฐานสากลในคราวเดียวกัน ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการแปรรูปเพื่อไม่ให้มีสารอันตรายใดๆ ปนเปื้อนหรือตกค้างในสินค้าเป็นอันขาด
“สมาคมฯต้องการให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภค ที่ยังมีความเข้าใจผิดและบอกต่อๆกันมาว่าไก่ไทยไม่ปลอดภัย ทั้งๆที่ในการส่งออกจนถึงปัจจุบันยังไม่เคยมีการตรวจพบว่าไก่ของประเทศไทยมีการใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตใดๆ ผู้บริโภคมั่นใจได้ในคุณภาพของไก่ไทยที่ทั้งการผลิตเพื่อส่งออกและบริโภคในประเทศก็ผลิตจากโรงงานและใช้มาตรฐานเดียวกันภายใต้การดูแลของกรมปศุสัตว์” นายคึกฤทธิ์ กล่าวย้ำ
ขอบคุณ มติชนออนไลน์