กระแสของโลกธุรกิจในปัจจุบันนี้ ไม่เพียงแต่เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจเพียงอย่างเดียว องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ยังมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ที่ยึดหลักปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน โดยธุรกิจที่ทำต้องคำนึงถึงประโยชน์ต่อประเทศ ประชาชน และบริษัท ด้วยวิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” ที่สร้างสรรค์อาหารคุณภาพปลอดภัยสู่ผู้บริโภค ควบคู่ไปพร้อมกับการร่วมดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่ง “Green Business” หรือ ธุรกิจสีเขียว เป็นหนึ่งในแนวทางที่ซีพีเอฟยึดมั่น เพื่อร่วมบรรเทาผลกระทบเชิงลบและเพิ่มผลกระทบเชิงบวกทางด้านสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่คุณค่า
น.สพ. ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจสุกรซีพีเอฟ กล่าวว่า เนื่องจาก“ฟาร์ม” เป็นอีกหนึ่งกิจการที่สำคัญของซีพีเอฟ บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้ยกระดับฟาร์มสุกรสู่มาตรฐานฟาร์มสีเขียว (Green Farm) เป็นรายแรกของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2552 และได้นำไปปรับใช้ทั้งในส่วนของธุรกิจผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของบริษัท ตลอดจนผลักดันสู่เกษตรกรในโครงการคอนแทรคฟาร์ม รวมถึงโรงงานธุรกิจอาหารด้วย โดยโครงการฟาร์มสีเขียว จะมุ่งเน้นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้ระบบแก๊สชีวภาพเพื่อลดการปล่อยแก็สเรือนกระจก การใช้น้ำหมุนเวียนภายในฟาร์มโดยไม่ปล่อยออกจากฟาร์ม การลดการใช้น้ำและไฟฟ้าในกระบวนการผลิต การปรับภูมิทัศน์ภายในฟาร์มให้สวยงามระดับรีสอร์ท (Resort Scenery Swine Farm) โดยมีรูปแบบการบริหารจัดการด้วย “มาตรฐานฟาร์มสีเขียว” ที่จัดทำเป็นมาตรฐานกลาง และได้นำมาประยุกต์ใช้ทั้งด้านการวางแผน การปฏิบัติ การติดตามตรวจสอบ การตรวจติดตามคุณภาพภายใน และการทบทวน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการดำเนินการต่างๆ ของบริษัท ได้พิจารณาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความปลอดภัย ของผู้ปฏิบัติงานและชุมชนในพื้นที่
“ซีพีเอฟมุ่งหวังให้ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทุกแห่งนำมาตรฐานฟาร์มสีเขียวไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการที่ดำเนินการอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสังคมและประเทศ โดยโครงการนำร่องของฟาร์มหมูได้ถูกนำไปต่อยอดสู่ ฟาร์มสัตว์บกและฟาร์มสัตว์น้ำ ทั้งฟาร์มสุกรพ่อแม่พันธุ์ ฟาร์มสุกรขุน ฟาร์มไก่-เป็ดพันธุ์ โรงฟักไข่ไก่เป็ด ฟาร์มทดลองและวิจัย ฟาร์มไก่-เป็ด กระทง ฟาร์มไก่ไข่และศูนย์คัดไข่ไก่ โรงเพาะฟักลูกกุ้ง ฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ศูนย์ปรับปรุงพันธุกรรมกุ้ง และฟาร์มเพาะพันธุ์และอนุบาลปลา ขณะเดียวกันโรงงานแปรรูปอาหารก็นำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้เช่นเดียวกัน” น.สพ. ดำเนิน กล่าว
มาตรฐานฟาร์มสีเขียว คือ “ฟาร์มที่มีกระบวนการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ มีสภาพแวดล้อมที่สวยงาม น่าอยู่ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัยตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค” มาตรฐานดังกล่าว จะทำให้ฟาร์มมีพื้นที่สีเขียว มีบรรยากาศและภูมิทัศน์ที่ดี ซึ่งจะช่วยป้องกันและลดผลกระทบเชิงนิเวศน์ ไม่เกิดการปนเปื้อนในระบบนิเวศน์ สามารถคุ้มครองพืชเฉพาะถิ่นและสัตว์พื้นเมืองเฉพาะถิ่นให้คงอยู่ เกิดการมีส่วนร่วมและความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการทรัพยากรที่ใช้ในฟาร์มได้อย่างเหมาะสม ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย และสุขภาพอนามัยของบุคคลที่เกี่ยวข้อง
น.สพ.ดำเนิน กล่าวอีกว่า นอกจากมาตรฐานฟาร์มสีเขียวแล้วยังได้เริ่มนำระบบบริหารคุณภาพแห่งชาติ (TQA) มาใช้ตั้งแต่ปี 2556 โดยตั้งเป้าหมายจะผ่านการรับรอง TQC ในปี 2558และ TQA ในปี 2561 ตามลำดับ เพื่อยกระดับการดำเนินธุรกิจสู่มาตรฐานคุณภาพต่อไป...การเดินหน้าพัฒนาระบบการเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะฟาร์มสุกรให้กลายเป็น “ฟาร์มเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน” ของซีพีเอฟพร้อมกับการนำระบบบริหารจัดการที่เป็นสากลมาประยุกต์ใช้ดังกล่าวนี้ จึงนับเป็นอีกหนึ่งก้าวย่างสำคัญของภาคปศุสัตว์ไทยเพื่อให้ผลผลิตสัตว์ที่ได้มีคุณภาพปลอดภัยสู่ผู้บริโภคอย่างแท้จริง./