ปกติร่างกายมนุษย์ต้องการสารอาหารทั้ง 5 หมู่ ประกอบไปด้วย โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุ เพื่อช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตได้ดี แข็งแรง มีการสร้างเซลล์ใหม่เพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์หรือทดแทนเซลล์เก่าตลอดเวลา แต่ร่างกายไม่สามารถเก็บสะสมโปรตีนไว้ใช้ในภายหลังได้เหมือนคาร์โบไฮเดรตและไขมัน ผู้บริโภคจึงต้องรับประทานโปรตีนให้ครบถ้วน เพียงพอ
ทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าโปรตีนมีบทบาทสำคัญต่อร่างกายอย่างมาก ช่วยเรื่องการเจริญเติบโต ซ่อมแซมเนื้อเยื่อและเซลล์ โดยเฉพาะเซลล์ภูมิคุ้มกันซึ่งหากได้รับในปริมาณน้อย จะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง ไม่เพียงพอต่อการป้องกันเชื้อโรคต่างๆ ที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ เราจึงต้องการโปรตีนเพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต่อสู้กับเชื้อโรค ช่วยฟื้นฟูอาการเจ็บป่วยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 นอกจากนี้ ยังช่วยลดน้ำหนักเนื่องจากอาหารที่มีโปรตีนสูงทำให้อิ่มเร็ว
โปรตีนประกอบด้วยกรดอะมิโนที่ช่วยให้ผิวหนัง กระดูก และกล้ามเนื้อแข็งแรง โดยแหล่งที่มาของโปรตีนแบ่งได้ 2 ประเภท คือ โปรตีนจากเนื้อสัตว์จำพวกเนื้อไก่ เนื้อหมู ไข่ นม และโปรตีนจากพืชที่พบในอาหารจำพวกถั่วประเภทต่างๆ ธัญพืช เป็นต้น ความโดดเด่นของโปรตีนจากเนื้อสัตว์ คือ มีกรดอะมิโนสมบูรณ์ครบตามที่ร่างกายต้องการทั้ง 9 ชนิด แต่โปรตีนจากพืชจะขาดกรดอะมิโนบางชนิด หรือมีน้อยมากไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรรับประทานโปรตีนให้หลากหลายและเหมาะสม
นอกจากปัจจัยเรื่องเพศ ช่วงวัย ยังมีเรื่องน้ำหนัก พฤติกรรมการใช้ชีวิตและกิจกรรมต่างๆ ที่จะเป็นตัวกำหนดความต้องการปริมาณโปรตีนของร่างกายที่แตกต่างกัน เช่น ผู้หญิงสุขภาพแข็งแรงโดยทั่วไปจะต้องการโปรตีนอย่างต่ำวันละ 50 กรัม ส่วนผู้ชายประมาณ 60 กรัม หรือเด็กในช่วงวัยรุ่นจะมีความต้องการปริมาณโปรตีนประมาณ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
การรับประทานโปรตีนเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด และมีสุขภาพที่ดี ผู้บริโภคควรใส่ใจเลือกซื้อจากแหล่งที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย เลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันน้อย เช่น เนื้อไก่ หรือหากจะรับประทานเนื้อหมูให้หลีกเลี่ยงส่วนที่ติดมันมาก รวมถึงเนื้อปลาก็เป็นแหล่งโปรตีนที่ดี มีไขมันไม่อิ่มตัวที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ย่อยง่าย นอกจากนี้ยังมีไข่ ที่เป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี หาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพงอีกด้วย
ปัจจุบัน ด้วยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี จึงมีนวัตกรรมอาหารรูปแบบใหม่ๆ ทำให้มีรูปแบบของผลิตภัณฑ์อาหารหลากหลายมากขึ้น เช่น เนื้อจากพืช (Plant-based Meat) เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติหรือ 3D-printing และในอนาคตคงจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะมาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างครบถ้วน
ศาสตราจารย์ ดร. ไพโรจน์ วิริยจารี
สาขาวิชาเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ประชาชาติธุรกิจ : https://www.prachachat.net/hilight-prachachat/news-805930