พลาสติกกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คน ด้วยคุณสมบัติที่หลากหลาย เป็นวัสดุที่มีความแข็งแรง น้ำหนักเบา ป้องกันสิ่งปนเปื้อนได้ดี จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่จะเห็นในรูปแบบของถุงพลาสติก แก้วน้ำ ขวดน้ำ หลอด รวมทั้งการใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร เป็นต้น
ปัจจุบัน มีการนำพลาสติก Food Grade ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร เนื่องจากมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค สะอาด ไม่ม่ีสารอื่นออกมาปนเปื้อนกับอาหารในปริมาณที่เป็นอันตราย ต่อสุขภาพ ไม่ทําให้คุณภาพและรสสัมผัสของอาหารเปลี่ยนแปลงไป โดยตามกฎหมาย (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข) ได้อนุญาตให้ใช้พลาสติก 12 ชนิดบรรจุอาหารหรือสัมผัสกับอาหารได้ ซึ่งประกอบด้วย พอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinylchloride, PVC) พอลิเอทิลีน (Polyethylene, PE), พอลิพรอพิลีน (Polypropylene, PP), พอลิสไตรีน (Polystyrene, PS), พอลิไวนิลิดีนคลอไรด์ (Polyvinylidene chloride, PVDC), พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene terephthalate, PET), พอลิคาร์บอเนต (Polycarbonate, PC), ไนลอน (Nylon, PA), พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ (Polyvinyl alcohol, PVA), พอลิเมทิลเม ทาคริเลต (Polymethyl methacrylate, PMMA), พอลิเมทิลเพนทีน (Polymethylpentene, PMP) และเมลามีน (Melamine, MF)
กรณีที่ใช้พลาสติก Food grade กับไมโครเวฟ ต้องเลือกชนิดพลาสติกให้ถูกต้องและเหมาะสมกับการใช้งาน โดยปกติพลาสติกที่สามารถเข้าไมโครเวฟได้ ต้องมีความสามารถทนต่ออุณหภูมิสูงได้ เช่น PP CPET เมื่อนําภาชนะพลาสติกไปใช้กับอาหารที่มีไขมันซึ่งอาจจะมีความร้อนสูงมากกว่า 100 องศาเซลเซียส จะทําให้พลาสติกได้รับความร้อนสูงจนอาจละลายหรือเปลี่ยนรูปได้ ดังนั้น จึงควรอ่านฉลากที่ติดมากับภาชนะให้ละเอียด ซึ่งภาชนะที่ใช้กับไมโครเวฟได้ต้องมีสัญลักษณ์ไมโครเวฟ เซฟ (Microwave Safe) หรือไมโครเวฟเอเบิล (Microwavable)
ส่วนการพิมพ์ข้อมูลหรือข้อความบนพลาสติกสามารถทําได้ เฉพาะด้านที่ไม่สัมผัสอาหารโดยตรง ซึ่งปกติบรรจุภัณฑ์อาหารมักมีการพิมพ์ข้อมูลหรือข้อความที่ภายนอกของบรรจุภัณฑ์ และสีในการพิมพ์ต้องเป็นสีชั้นคุณภาพ สัมผัสอาหารที่มีความปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยความร้อนสีจะซึมหรือปนเปื้อนเข้าไปภายในอาหารหรือไม่ขึ้นอยู่กับขบวนการผลิต ชนิดของพลาสติก และการใช้สี หากมีกระบวนการผลิตที่ดีและใช้สีที่ถูกต้องก็จะไม่มีปัญหาเรื่องสีจะซึมหรือปนเปื้อนเข้าไปในอาหาร
ข้อแนะนําในการดูว่าพลาสติกที่นํามาใช้กับอาหารปลอดภัยต่อการบริโภค ควรเลือกภาชนะพลาสติกที่มี เครื่องหมาย มอก. หรือมีฉลาก แจ้งชื่อผลิตภัณฑ์ ชนิดของพลาสติก อุณหภูมิใช้งาน ข้อความแนะนําเกี่ยวกับการใช้งานและชื่อผู้ผลิต สําหรับพลาสติกที่ทนความร้อน ได้แก่ High Density Polyethylene (HDPE), Polypropylene (PP) และ crystalline poly ethylene terephthalate (CPET) กรณีนําพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ ต้องล้างให้สะอาดและผึ่งให้แห้ง ควรใช้ภาชนะพลาสติกบรรจุซ้ำเฉพาะสิ่งของที่เหมือนการบรรจุในครั้งแรก และควรสังเกตลักษณะของขวดน้ำดื่ม หากมีความผิดปกติไม่ควรนำมาใช้
นอกจากนี้ รัฐบาลได้เล็งเห็นความสําคัญและตระหนักถึงปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพลาสติกจึงได้จัดทํา Road map การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ของไทย โดยมีเป้าหมายในการลดและเลิกใช้พลาสติก ให้หันมาใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น แนวโน้มของพลาสติกชีวภาพที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มในปี 2563 - 2570 คาดการณ์ว่าทั่วโลกมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงขึ้น (CAGR) 13.6% ปัจจุบันมีมาตรฐานรับรองของประเทศสหรัฐอเมริกา (มาตรฐาน ASTM D6400) ยุโรป (มาตรฐาน EN13432) และมาตรฐานสากล (มาตรฐาน ISO 17088) สําหรับในไทยปัจจุบันได้เริ่มใช้สินค้ากลุ่ม กระดาษเคลือบ BioPBS , PLA ซึ่งพลาสติกชนิดนี้จะนํามาทําภาชนะบรรจุอาหารและหลอดพลาสติก มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องคือ มอก. 2884 และ 2744-2559 คาดว่าการส่งเสริมให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลาย (Biodegradable plastic) มีเพิ่มมากขึ้น
นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ
รองอธิบดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์