การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกใหม่ ยอดผู้ติดเชื้อยังไม่มีท่าทีว่าจะลดลง ซึ่งในจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดผู้ที่มีอาการหนักหรือเสียชีวิตส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคอ้วนประกอบกัน
สาเหตุที่คนสูงอายุมีความเสี่ยงที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเนื่อจากผู้สูงอายุมีภูมิคุ้มกันลดลงตามวัย และส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคปอด โรคมะเร็ง ทำให้มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายและอาจมีอาการรุนแรงของโรคมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ นอกจากนี้ มักมีความเจ็บป่วยทางร่างกายหลายอย่าง การทำงานของอวัยวะต่างๆ ไม่ดีเหมือนเดิม เช่น การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุช่องคลอดทำให้ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะง่าย หลอดลมของผู้สูงอายุมีการขับไล่สิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปไม่ดีเหมือนคนหนุ่มสาว และสภาวะที่ภูมิคุ้มกันลดลง โดยเฉพาะการลดลงของเซลล์เม็ดเลือดขาวเพชฌฆาต (Natural Killer cell) ซึ่งมีหน้าที่ในการกำจัดเซลล์แปลกปลอมตามธรรมชาติลดลง ทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
ภูมิคุ้มกัน (immune) มีส่วนสำคัญในการต่อสู้ต้านทานกับโรคภัยไข้เจ็บ ถ้ามีภูมิคุ้มกันที่ดีก็สามารถขจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายและควบคุมโรคที่กำลังก่อตัวไม่ให้ลุกลามจนเกิดการเจ็บป่วยขึ้นมาได้ การดูแลตัวเองให้ไม่เครียด นอนหลับพักพ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ในสัดส่วนปริมาณที่เหมาะสมเพียงพอก็จะเป็นเกราะป้องกันให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง จะช่วยให้เรารอดจากภัยสุขภาพต่างๆ ได้ดีขึ้น อาหารที่มีประโยชน์มีส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายของเราได้
เป็นที่ทราบกันดีว่าอาหารมีความจำเป็นต่อร่างกายและการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างมาก ถือเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่มีความสำคัญต่อชีวิต ช่วยในการเจริญเติบโต มีสุขภาพที่แข็งแรง รวมทั้งยังช่วยให้การซ่อมแซมส่วนต่างๆที่สึกหรอ ช่วยควบคุมการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย รวมทั้งยังช่วยในการป้องกันและต้านทานโรคอีกด้วย เราจึงควรบริโภคอาหารที่มีประโยชน์และมีความจำเป็นต่อร่างกายได้อย่างเหมาะสม ไม่เช่นนั้นแล้วร่างกายของเราก็จะไม่สมบูรณ์แข็งแรง ส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆในร่างกายทำให้เกิดโรคได้ง่าย
คำแนะนำในการรับประทานอาหารของผู้สูงวัย คือ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่และมีความหลากหลาย เพิ่มการกินผัก ผลไม้หลากสี อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุและสารพฤกษเคมีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย กินอาหารแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพดี เช่น ไข่ ปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน อาหารทะเล เพราะโปรตีนอุดมไปด้วยธาตุเหล็ก สังกะสีซีลิเนียม ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ การดื่มน้ำเปล่าที่สะอาด อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว จะช่วยรักษาสมดุลของร่างกาย ทั้งด้านอุณหภูมิและการขับของเสีย/เชื้อโรคออกจากร่างกาย สิ่งที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมคือลักษณะอาหารต้องให้พลังงานที่เหมาะสมไม่มากหรือน้อยเกินไป เคี้ยวกลืนได้ง่าย รสชาติไม่รสจัดมาก อาจใช้เครื่องเทศ สมุนไพร ช่วยเพิ่มกลิ่นและรสชาติ การเตรียมอาหารถูกสุขลักษณะ สะอาด สำหรับผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว การจัดอาหารต้องสอดคล้องกับแผนการรักษาของแพทย์ ปัญหาด้านสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ คือ ภาวะทุพโภชนาการขาดสารอาหาร เพราะประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่างๆในร่างกายของผู้สูงอายุที่ลดลง จึงจำเป็นต้องประเมินภาวะโภชนาการโดยแพทย์เป็นระยะ ในบางกรณีแพทย์จะพิจารณาให้อาหารเสริมที่เหมาะสมกับความต้องการสารอาหารของร่างกายคนไข้
นอกจากนี้การปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ COVID-19 ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ
1. โดยหมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที หรือเจลแอลกอฮอล์ 70%
2. กินอาหารร้อนปรุงสุกใหม่หรืออุ่นให้ร้อนอย่างทั่วถึง งดใช้ของส่วนตัวร่วมกัน หากกินอาหารร่วมกันให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัวทุกครั้ง
3. หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน และอย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์
4. นอนหลับอย่างมีคุณภาพ ควรนอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่ควรนอนเกิน 4 ทุ่ม
5. ควบคุมความเครียด โดยเริ่มต้นจาก ไม่เครียด ไม่คิดลบ คิดบวก นั่งสมาธิ และเดินจงกรม
6. เว้นระยะห่าง 2 เมตรและไม่พาผู้สูงอายุไปรวมกลุ่ม หากมีโรคประจำตัวที่ต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ควรสอบถามแพทย์ประจำตัวว่ามีความจำเป็นต้องไปพบแพทย์ด้วยตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางไปโรงพยาบาล
เมื่อดูแลสุขภาพกายแล้ว สุขภาพใจก็เป็นสิ่งสำคัญที่บุตรหลายควรใส่ใจมากขึ้น พูดคุย ถามสารทุกข์สุกดิบบ้าง และหากผู้สูงอายุมีอาการผิดปกติในร่างกาย เช่น มีไข้ น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ ควรรีบปรึกษาแพทย์
แพทย์หญิงปิยะมาศ สิทธิปรีดานันท์
แพทย์ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพ
BDMS Wellness Clinic