จากกรณีพบผู้ป่วยติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคหูดับ หรือ โรคติดเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) ที่ จังหวัดน่าน ซึ่งจากการสอบสวนประวัติพบว่า ผู้ป่วยรับประทานเนื้อหมูที่ไม่สุก รวมถึงบางรายที่ซื้อเนื้อหมูจากแหล่งขายที่ไม่ได้มาตรฐาน
สำหรับเรื่องนี้ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า เชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส จะเข้าสู่ร่างกายสุกร หากสุกรมีภาวะภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง เช่น ช่วงรอยต่อปลายฝนต้นหนาวหรือในสุกรที่อายุน้อยหรือสุกรที่ไม่ร่างกายแข็งแรง ซึ่งโดยปกติจะแฝงตัวตามต่อมน้ำเหลือง เช่น ต่อมทอนซิล หรืออาจเข้าสู่กระแสเลือด ในบางตัวอาจแสดงภาวะป่วยออกมาได้
“ผู้บริโภคที่รับประทานเนื้อสุกรหรือเลือดสุกรดิบหรือสุกๆดิบๆ เช่น เมนูลาบ หลู้ ก้อย มีโอกาสจะได้รับเชื้อนี้ ดังนั้น จึงควรรับประทานอาหารเนื้อสัตว์ปรุงสุกเท่านั้น” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว
ด้าน น.พ.พงษ์เทพ วงวัชรไพบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อติดเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส จะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะรุนแรง ถ้าติดเชื้อเข้าเยื่อบุประสาทจะทำให้คอแข็ง หูไม่ได้ยิน หากติดเชื้อเข้ากระแสเลือดจะมีความดันโลหิตลดลง ช็อกจนถึงเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการรุนแรงมักจะเป็นผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน โรคไตวาย โรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่ได้รับการตัดม้าม หรือ ดื่มสุราเป็นประจำ
นอกจากนี้ อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร ฝ่ายโสต ศอ นาสิกวิทยา รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลเรื่องนี้ผ่านเฟสบุ๊คเพจ เจาะใจ ว่าเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส จะเข้าสู่กระแสเลือด และขึ้นไปที่บริเวณเยื่อหุ้มสมอง ทำให้เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เนื่องจากช่องสมองส่วนนั้นอยู่ติดกับบริเวณหูทำให้เชื้อเข้าสู่หูชั้นในได้โดยตรง และเมื่อหูได้รับเชื้อในปริมาณมากจะทำให้เกิดการอักเสบจึงทำให้เกิดอาการหูดับและเสียการทรงตัวตามมา นอกจากนี้ สำหรับผู้บริโภคที่ประกอบอาหารควรระมัดระวังในการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น ควรแยกเขียงสำหรับเนื้อสัตว์ที่เป็นของดิบและของสุก เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อต่างๆที่อาจจะมาจากของดิบได้ รวมถึงตะเกียบที่ใช้ต้องแยกเช่นกันเพื่อป้องกันเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ทั้งนี้ เชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส จะถูกทำลายในความร้อนสูง จึงแนะนำให้ให้รับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก
อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากแหล่งจำหน่ายที่มีมาตรฐาน หรือมีตรา ปศุสัตว์ OK และหากต้องประกอบอาหารแต่มีบาดแผลที่มือ ควรสวมถุงมือเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเนื้อสัตว์หรือเลือดสัตว์โดยตรง ซึ่งเป็นการลดโอกาสติดเชื้อเข้าทางบาดแผลได้ และเพื่อความปลอดภัยควรปรุงอาหารให้สุกที่อุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อต่างๆ ได้ ทั้งเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส รวมถึงพยาธิอื่นๆ ด้วย