ในช่วงของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ขยายเป็นวงกว้างและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญาณว่าวิกฤตครั้งนี้คงไม่จบลงได้ง่าย และยังสร้างผลกระทบในหลายๆ ด้านด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือเรื่องของการบริโภคอาหารอย่างไรให้ปลอดภัย ถึงแม้ว่าล่าสุดจะพบการติดเชื้อโควิด-19 ของพนักงานในโรงงานชำแหละเนื้อสัตว์ แต่หน่วยงานภาครัฐก็ไม่นิ่งนอนใจ ลงพื้นที่ตรวจสอบเชิงรุกรวมถึงให้ความรู้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค พร้อมรณรงค์มาตรการ D-M-H-T-T ของกระทรวงสาธารณสุขให้ทุกคนปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อรับมือและชะลอการติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ ได้แก่ Distancing (อยู่ห่างไว้) Mask wearing (ใส่มาส์กกัน) Hand washing (หมั่นล้างมือ) Testing (ตรวจให้ไว) ThaiChana (ใช้ไทยชนะและหมอชนะ)
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) รายงานว่า ยังไม่พบหลักฐานที่แสดงว่าอาหารเป็นแหล่งแพร่เชื้อโควิด-19 ขณะที่องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยยืนยันว่า เชื้อโควิดไม่สามารถติดต่อจากการรับประทานอาหาร และจากจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกในขณะนี้ ยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จากการบริโภคอาหาร นอกจากนี้ เชื้อโควิดไม่สามารถเพิ่มจำนวนในอาหารได้ เพราะไวรัสชนิดนี้ต้องอาศัยอยู่ในร่างกายของสัตว์หรือมนุษย์เพื่อเพิ่มจำนวนและอยู่รอด ดังนั้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อจึงควรประกอบอาหารอย่างระมัดระวัง รักษาความสะอาดของมือและพื้นผิวที่สัมผัส แยกอาหารดิบและปรุงสุก เก็บอาหารในอุณหภูมิเหมาะสม และหมั่นล้างมือ
ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เผยว่าเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหาร ประชาชนควรเลือกซื้อจากแหล่งที่ได้มาตรฐาน เชื่อถือได้ และก่อนนำเนื้อไก่สดมาประกอบอาหารต้องล้างให้สะอาดก่อน โดยเฉพาะภายนอกบรรจุภัณฑ์เพื่อกำจัดคราบไขมัน สิ่งสกปรก จากนั้นนำมาชำแหละเอาส่วนต่างๆ และกระดูกที่ไม่ต้องการออก เพื่อนำมาปรุงสุกโดยใช้ความร้อนสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส ในเวลาไม่น้อยกว่า 5 นาที เป็นการทำลายเชื้อโรคต่างๆ รวมถึงเชื้อโควิด-19 ได้ด้วย
สิ่งสำคัญผู้บริโภคควรพิจารณาแหล่งที่มาและสถานที่จำหน่ายที่ได้มาตรฐาน หรือสังเกตป้ายสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์ OK" เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค
สำหรับการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ เช่น หมู ไก่ รศ.ดร.จุฑารัตน์ เศรษฐกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเนื้อสัตว์ แนะนำผู้บริโภคควรคำนึงถึง อุณหภูมิภายในเนื้อสด (Fresh meat) ต้องควบคุมอุณหภูมิให้เย็นระหว่าง 0-7 องศาเซลเซียส เพราะเป็นช่วงอุณหภูมิที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้ดี แต่ถ้าเป็นเนื้อแช่แข็ง (Frozen meat) ควรอยู่ในถุงบรรจุสุญญากาศอุณหภูมิของเนื้อไม่เกิน -18 องศาเซลเซียส สีของเนื้อสัตว์ต้องสดใสตรงตามคุณสมบัติของเนื้อแต่ละประเภท โดยสีของเนื้อขึ้นอยู่กับปริมาณเม็ดสี (ไมโอโกลบิน) ที่มีอยู่ในกล้ามเนื้อ และการใช้งานของแต่ละกล้ามเนื้อขณะสัตว์มีชีวิต
อย่างไรก็ดี เนื้อไก่ถือว่าเป็นแหล่ง “โปรตีนสมบูรณ์” มีกรดอะมิโนที่ร่างกายต้องการครบถ้วนซึ่งช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับผิวหนัง กระดูก และกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ โปรตีนของเนื้อไก่ ยังเป็นโปรตีนที่ย่อยง่าย เพราะเส้นใยกล้ามเนื้อของไก่มีความละเอียดอ่อนนุ่มคล้ายปลา จึงเหมาะสำหรับการบริโภคในทุกเพศทุกวัย