การรายงานของ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ถึงจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากเชื้อ COVID-19 เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีท่าทีว่าจะลดลง การระบาดในระลอกใหม่นี้แพร่กระจายเป็นวงกว้างและรวดเร็ว เช่น แคมป์คนงานก่อสร้าง ย่านชุมชนพักอาศัย ตลาดสด และโรงงานผลิตอาหาร เป็นต้น ซึ่งอาจมีคนบางกลุ่มเกิดความกังวลใจว่าหากเชื้อแพร่ระบาดในแหล่งที่ใกล้ชิดกับอาหาร เราจะยังสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัยหรือไม่
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration - FDA) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) เผยว่า โรค COVID-19 ไม่ติดต่อทางการกินอาหาร และทางการสัมผัสกับบรรจุภัณฑ์อาหารทุกชนิด และไม่ใช่โรคติดต่อทางการกินอาหารเหมือนโรคไวรัสตับอักเสบ A โรคท้องร่วงจากโนโรและโรตาไวรัส ปัจจุบัน คนทั่วโลกติดเชื้อ COVID-19 มากกว่า 160 ล้านคน และยังไม่พบรายงานว่า เชื้อ COVID-19 ติดต่อทางการกินอาหารและทางการสัมผัสกับบรรจุภัณฑ์อาหาร ถึงแม้จะมีรายงานตรวจพบรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิดบนอาหารทะเลเนื้อสัตว์แช่แข็งและบรรจุภัณฑ์อาหารซึ่งน่าจะเกิดจากการสัมผัสและส่วนใหญ่เป็นซากเชื้อที่ไม่สามารถก่อโรคในคนได้
ด้าน นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยว่า จากข้อมูลการเก็บตัวอย่างอาหารของสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร เพื่อตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรมเชื้อ COVID-19 ในอาหาร ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทรายแดง ปลาซาบะ ปลาทู ปลาอินทรีย์ ปลาใบขนุน ปลาน้ำดอกไม้ หอย หมึก กุ้ง รวมถึงตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ เช่น กระป๋อง กล่องกระดาษ จำนวน 117 ตัวอย่าง ก็ตรวจไม่พบการปนเปื้อนในทุกตัวอย่าง
ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไวรัส COVID-19 จะถูกทำลายด้วยความร้อน เปลือกของเชื้อไวรัสเป็นไขมัน ทำลายหรือชะล้างได้ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์ สำหรับการปรุงอาหารหรือเนื้อสัตว์ควรผ่านความร้อนเกิน 56 องศาเซลเซียสจะใช้เวลาครึ่งชั่วโมงทำให้ไวรัสตาย ถ้าอุณหภูมิ 65 องศาเซลเซียส ระยะเวลาจะเหลือ 15 นาที หากเกิน 80 องศาเซลเซียสขึ้นไป จะใช้เวลาเพียง 1 นาทีในการทำลายเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ถ้าใช้ความร้อนจนเดือดในการปรุงอาหารเชื้อไวรัสจะตายทันที รวมถึงอาหารที่อุ่นในไมโครเวฟ หากใช้ความร้อนสูงเกินอุณหภูมิ 85 องศาเซลเซียส หลักการทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าไวรัสตาย ก็มั่นใจได้ว่าอาหารนี้ปลอดภัยจาก COVID-19
นอกจากนี้ ศ.นพ.ยง ย้ำว่า ทุกคนต้องหมั่นล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัส หรือจับต้องใบหน้า รวมถึงก่อนและหลังจับต้องอาหาร เพื่อให้มั่นใจได้ว่าช่วยป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโรคโควิด-19 รวมถึงเชื้อโรคอื่นๆ ได้ สิ่งสำคัญคือ รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกผ่านความร้อนทุกครั้ง ส่วนการสัมผัสอาหารช่วงการเตรียม การปรุง วิธีการที่ปลอดภัยที่สุดคือ ทุกครั้งก่อนและหลังสัมผัสอาหารควรล้างมือให้สะอาดทันที หากปฏิบัติได้เช่นนี้แล้ว สามารถสบายใจได้เลยว่าจะปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 อย่างแน่นอน