17 ปี กับความสำเร็จ พลิกชีวิตชาวไร่ มั่นคงได้กับอาชีพเลี้ยงหมูขุนกับซีพีเอฟ
ต่อยอดนำน้ำจากไบโอแก๊สรดข้าวโพดตัวช่วยผ่านพ้นวิกฤติแล้ง
หลายคนคงยังจำพิษเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2540 ได้ นายเพ็ญ สังข์นาค เป็นอีกคนที่ไม่เคยลืมช่วงเวลาอันเลวร้ายนั้นได้ เพราะขนาดตัวเขาเองแม้จะทำอาชีพเกษตรกรรม ปลูกพืชไร่กับครอบครัว ก็ยังถูกพิษเศรษฐกิจทำร้ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นเพราะราคาสินค้าทางการเกษตรผันผวนอย่างมาก รายได้ที่ได้รับจึงไม่แน่นอน ทำให้เขาต้องหันมามองหาอาชีพมั่นคงกว่าอาชีพที่ทำอยู่ เวลานั้นเองเขาทราบข่าวว่า ทางบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ มีโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกร ที่ช่วยสร้างอาชีพที่มั่นคงและรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกรรายย่อย เขาจึงสนใจในทันทีและได้ลองศึกษาพร้อมทั้งปรึกษาหารือกับบริษัท เมื่อเห็นว่ามีความเป็นไปได้และความสำเร็จของเกษตรกรที่ร่วมโครงการอยู่ก่อนแล้ว เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพมาเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรขุนกับซีพีเอฟ ที่ 182/2 หมู่ 4 ต.ชอนม่วง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี อย่างไม่ลังเล
นายเพ็ญ เล่าว่าได้เริ่มลงทุนเลี้ยงหมูขุนกับซีพีเอฟ โดยเลี้ยงในโรงเรือนแบบเปิด 1 หลัง เมื่อปลายปี 2540 พอเลี้ยงได้ 1 รุ่น บริษัทก็แนะนำระบบการเลี้ยงแบบโรงเรือนปิด ที่ส่งเสริมให้ได้ผลผลิตที่ดีเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งพาผมและเพื่อนเกษตรกรผู้ร่วมโครงการฯ อีกหลายคนไปศึกษาดูงานระบบการเลี้ยงที่หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ซึ่งผลผลิตที่ทำได้ก็ดีอย่างที่บริษัทบอกไว้จริงๆ ผมจึงไม่รีรอที่จะนำระบบนี้มาใช้ โดยได้สร้างโรงเรือนระบบปิดเพิ่มขึ้นอีก 1 หลัง พร้อมกันนั้นก็ปรับปรุงโรงเรือนหลังแรกให้เป็นระบบปิด ขณะเดียวกันก็ได้ลงทุนสร้างระบบไบโอแก๊ส เพื่อนำแก๊สจากระบบมาใช้ประโยชน์โดยนำมาปั่นเป็นไฟฟ้าใช้ในฟาร์ม
“แม้การลงทุนที่ว่ามาทั้งหมดนี้จะใช้เงินค่อนข้างมาก แต่เมื่อมองในระยะยาวแล้ว ถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะทำให้การเลี้ยงมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญกระแสไฟฟ้าจากระบบไบโอแก๊สที่ใช้ในปัจจุบันสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านกระแสไฟฟ้าลงไปได้มาก แถมยังช่วยลดมลภาวะและลดโลกร้อนอีกด้วย” นายเพ็ญ บอก
จากความใส่ใจและไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาการเลี้ยง รวมทั้งเปิดรับความรู้ใหม่ๆ ที่บริษัทนำมาถ่ายทอดอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จในอาชีพของนายเพ็ญ จึงเกิดขึ้นได้อย่างไม่ยากนัก ที่สำคัญ ตัวของเขาเองไม่ได้เก็บความสำเร็จนี้ไว้กับตัวเองเท่านั้น แต่กลับเปิดฟาร์มให้เกษตรกรผู้สนใจเข้ามาศึกษาการเลี้ยงสุกรที่ได้มาตรฐาน ตัวของเขาเองก็ทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำการเลี้ยงและการสร้างโรงเรือนเพื่อถ่ายทอดความสำเร็จแก่เพื่อนเกษตรกรมาตลอด
หลังจากการเลี้ยงหมูลงตัว สามารถบริหารจัดการภายในฟาร์มได้เป็นอย่างดี และยังขยายความสำเร็จนี้ไปให้กับลูกชายที่เมื่อได้คลุกคลีกับอาชีพนี้ก็สนใจและรักที่จะเลี้ยงหมู นายเพ็ญจึงให้ลูกเข้ามารับผิดชอบบริหารจัดการเอง ซึ่งเขาก็สามารถทำได้อย่างที่ตั้งใจไว้ นอกจากนี้ ยังต่อยอดอาชีพโดยนำมูลสุกรที่ผ่านการหมักในระบบไบโอแก๊สแล้วมาเพิ่มมูลค่า ทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดสำหรับพืชผลทุกชนิด ตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งที่ผ่านมามีการตอบรับที่ดีจากเพื่อนเกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ และพืชชนิดอื่นๆ เป็นอย่างมาก
“ที่สำคัญคือน้ำหลังการบำบัดสามารถนำมาใส่ไร่ข้าวโพดกว่า 160 ไร่ ซึ่งเป็นอีกอาชีพหลักของครอบครัว ในส่วนของ 80 ไร่ ที่ติดกับฟาร์มก็สามารถต่อท่อตรงไปที่แปลงปลูก ส่วนอีก 80 กว่าไร่ในพื้นที่ห่างออกไปจะใช้รถแทงค์น้ำที่คล้ายกับรถดับเพลิง สำหรับขนน้ำไปรดต้นข้าวโพด ทำให้ที่ผ่านมาแม้ในพื้นที่อำเภอบ้านหมี่จะพบปัญหาภัยแล้งอยู่เป็นประจำ แต่ไร่ข้าวโพดของเราก็ผ่านวิกฤติมาตลอดเพราะการบริหารจัดการน้ำที่ดี น้ำเสียเราก็นำมาบำบัดไม่ทิ้งเปล่า เรียกว่าได้ทั้งน้ำรดต้นพืชและปุ๋ยบำรุงไปในตัว เพราะในน้ำหลังบำบัดจะมีไนโตรเจนสูง” นายเพ็ญ กล่าว
ด้วยข้อดีของน้ำหลังการบำบัดด้วยระบบไบโอแก๊สดังกล่าว ทำให้เพื่อนเกษตรกรชาวไร่อ้อย บริเวณรอบฟาร์มติดต่อขอน้ำสำหรับใส่ในไร่ของตนเองด้วย ที่ผ่านมาก็ได้แบ่งปันน้ำให้กับเพื่อนเกษตรกรมาโดยตลอดเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติภัยแล้งไปด้วยกัน
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นตลอดเวลากว่า 17 ปีที่ผ่านมานี้ นายเพ็ญบอกว่าต้องขอขอบคุณซีพีเอฟ และพนักงานทุกคน ที่มีความจริงใจให้กับเกษตรกร มีการดูแลช่วยเหลือเกษตรกรเหมือนญาติมิตรมาตลอด พร้อมทั้งคอยแนะนำเทคนิควิชาการ และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพการเลี้ยงของตนเองและเพื่อนเกษตรกร รวมถึงเป็นตลาดรองรับผลผลิตให้ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องราคาว่าจะขึ้นหรือลง ไม่ต้องห่วงเรื่องการหาตลาด
“หน้าที่ที่เกษตรกรต้องทำคือ การเลี้ยงหมูให้ดีตามมาตรฐานที่บริษัทแนะนำ วันนี้ผมมีรายได้ที่มั่นคง มีครอบครัวที่อบอุ่นเพราะทุกคนต่างช่วยกันทำงานอยู่ที่บ้านของเราเอง ที่สำคัญคือ ผมภูมิใจที่มีมรดกอาชีพส่งต่อให้ลูกเพื่อให้เขาประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน” นายเพ็ญ กล่าวทิ้งท้าย
ความสำเร็จตลอดระยะเวลากว่า 17 ปีของนายเพ็ญ เกษตรกรตัวอย่างที่มุ่งมั่นพัฒนาเคียงคู่ไปกับซีพีเอฟ คงเป็นบทพิสูจน์ของคำพูดที่ว่า “เกษตรกรคือ...คู่ชีวิต” ซึ่งเป็นนโยบายที่ซีพีเอฟถือเป็นหลักปฏิบัติมาโดยตลอด ด้วยการมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อถ่ายทอดสู่เกษตรกร ตลอดจนติดตามดูแลด้านการจัดการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นช่องทางรองรับผลผลิตออกสู่ตลาด เพื่อช่วยประกันความเสี่ยงแก่เกษตรกร เมื่อการผลิตมีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยงสู่ตลาดได้ เกษตรกรก็สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนและเติบโตไปพร้อมๆ กับบริษัท./