วันนี้นำบทความของ "รศ.ดร.ชัยภูมิ บัญชาศักดิ์" อาจารย์ประจำภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) จากเวันพุธที่แล้ว เรื่อง "ไก่ไทยปลอดภัยไม่มีสารเร่งโต" ต่อจากวันพุธที่แล้วครับ
อาจารย์ชัยภูมิ ระบุด้วยว่า บางคนอาจตั้งคำถามว่า “มาตรฐานการผลิตเพื่อการส่งออกและเพื่อบริโภคในประเทศต่างกันหรือไม่?” ในแง่การผลิตไม่ว่าจะเป็นอาหาร การจัดการ การชำแหละ ทางกรมปศุสัตว์มีข้อกำหนดที่มีมาตรฐานระดับเดียวกับต่างประเทศเพื่อควบคุมการผลิตให้ได้มาตรฐาน ดังนั้นในเชิงกฎหมาย วิชาการ และการผลิตแล้ว เนื้อไก่บริโภคในประเทศจึงมีมาตรฐานเดียวกับที่ส่งออกต่างประเทศ
บางคนอาจตั้งคำถามอีกว่า “ทำไมเดี๋ยวนี้ไก่ถึงโตเร็วนัก ?” คำตอบอยู่ที่การพัฒนาขององค์ความรู้ด้าน พันธุ์ อาหาร และการจัดการ หลายๆ ท่านอาจยังไม่ทราบถึงการพัฒนาองค์ความรู้วิทยาศาสตร์การเลี้ยงสัตว์ว่าไปไกลขนาดไหน ผมขอเล่าสั้นๆ ดังนี้ครับ
1.การพัฒนาสายพันธุ์ไก่เกิดขึ้นตลอดเวลา (ไม่ใช่ตัดต่อพันธุกรรม) โดยเฉลี่ยพันธุกรรมไก่เนื้อจะโตเร็วขึ้น 50 กรัมทุกๆ ปี แปลว่า ไก่ที่เลี้ยงปีนี้จะโตกว่าที่เลี้ยงเมื่อ 10 ปีก่อน 500 กรัม หากเลี้ยงด้วยอาหารและการจัดการเดียวกัน
2.อาหารไก่ถูกพัฒนาไประดับโมเลกุล กรดอะมิโนหรือพลังงานงานที่กินถูกให้ตรงตามพันธุกรรมมีการคำนวณโภชนาการทุกชนิดให้ไก่อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะโรงงานอาหารสัตว์ที่ทันสมัยควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ทำการผสม อัดเม็ด หรือทำให้อาหารสุกอย่างมีประสิทธิภาพ
3.การจัดการที่เน้นความสะอาด ปลอดภัย ควบคุมอุณหภูมิ แสง และความชื้นตลอดเวลาโดยระบบอัตโนมัติเพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวนสัตว์ และการแพร่ระบาดของเชื้อโรค การเลี้ยงที่มีสัดส่วนพื้นที่ต่อตัวให้เหมาะสมไม่หนาแน่นจนเกินไป (ยึดหลักสวัสดิภาพสัตว์) การพัฒนาองค์ความรู้ทั้ง 3 ทำให้จากที่เคยเลี้ยงไก่ 42 วัน ได้น้ำหนัก 2 กิโลกรัม เป็น 2.6 กิโลกรัม ใช้เวลาเพียง 37-38 วัน เท่านั้น
จากที่กล่าวมา ด้วยกฎระเบียบที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหรือของไทยเอง และเทคโนโลยีการเลี้ยงไก่ที่ก้าวหน้ามาก จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่อุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ไทยจะใช้ฮอร์โมนเพื่อเร่งการเจริญเติบโต ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศห้ามใช้ยาเฮ็กโซเอสตรอล (Hexoestrol) ซึ่งเป็นยาที่ใช้สำหรับตอนสัตว์ปีกและเป็นฮอร์โมนสำหรับรักษาสัตว์ โดยมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนตำรับยาที่มีเฮ็กโซเอสตรอลไม่ให้จำหน่ายในประเทศไทยมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2529 หรือนานเกือบ 30 ปีมาแล้ว
ที่สำคัญไปกว่านี้ ด้วยกฎระเบียบที่จะเข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตอาจห้ามใช้ยาปฏิชีวนะทุกชนิด (แม้แต่รักษา) หรือการห้ามทำวัคซีน (เพื่อป้องกันโรค) ก็ได้ ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์และนักสัตวบาลทั้งหลายกำลังพยายามหาวิธีเลี้ยงไก่ไม่ให้ป่วยเลย (ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะและวัคซีน ไม่ตัดต่อพันธุกรรม) โดยยืนบนพื้นฐานการพัฒนาด้าน พันธุ์ อาหาร และการจัดการ
ดังนั้น ประเด็นการใช้ฮอร์โมนในการเลี้ยงไก่จึงเป็นเรื่องล้าสมัยมากในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่และวิชาการ ขอให้ทุกท่านได้หายสงสัยในเรื่อง “ฮอร์โมน กับ การเลี้ยงไก่” ได้เลยครับ เพราะยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ทันสมัยกว่าไว้คอยถกเถียงอีกต่อไป
cr. คมชัดลึก