คณะกรรมการโครงการรณรงค์บริโภคไข่ไก่ 300 ฟอง จับมือกับสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ และสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ สานต่อ “โครงการการรณรงค์คนไทยบริโภคไข่ไก่ 300 ฟอง” เป็นปีที่ 2 เน้นส่งเสริมการสนับสนุนองค์ความรู้ประโยชน์ไข่ไก่ และดำเนินกิจกรรมรณรงค์ทั่วประเทศเพื่อให้คนทุกกลุ่มมั่นใจบริโภคไข่ไก่มากขึ้น ตั้งเป้า ในปี 2561 คนไทยจะบริโภคไข่ไก่เพิ่มขึ้นเป็น 300 ฟองต่อคนต่อปี เพื่อนำไปสู่สังคมคนไทยสุขภาพแข็งแรง และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่อยู่ได้อย่างยั่งยืน
นายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์ ประธานคณะกรรมการโครงการรณรงค์บริโภคไข่ไก่ 300 ฟอง กล่าวว่า ไข่ไก่เป็นอาหารโปรตีนคุณภาพสูงที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของคนทุกวัยแต่คนไทยยังบริโภคไข่ไก่ในปริมาณที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้น ในปี 2559 คณะกรรมการฯ จึงร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ เปิดตัว “โครงการรณรงค์บริโภคไข่ไก่ของคนไทย 300 ฟอง” ตามแผนยุทธศาสตร์ไก่ไข่ พ.ศ.2557-2561 เพื่อกระตุ้นให้คนไทยตื่นตัว มีความเข้าใจเกี่ยวกับคุณค่าทางอาหารของไข่อย่างถูกต้องและมีการบริโภคไข่ไก่เพิ่มขึ้นสู่เป้าหมาย 300 ฟองต่อคนต่อปี จากปัจจุบันการบริโภคอยู่ที่ประมาณ 220 ฟองต่อคนต่อปี
"โครงการรณรงค์บริโภคไข่ไก่ของคนไทย 300 ฟอง" นั้น ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกภาคส่วนทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร สถาบันการศึกษา และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมผลิตไข่ไก่ ในการทำกิจกรรมส่งเสริมการบริโภค และเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความมั่นใจในการบริโภคไข่ไก่ของผู้บริโภคทุกกลุ่มและทุกวัย โดยการดำเนินโครงการในปี 2559
ที่ผ่านมา โครงการฯ ได้จัดทำยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์แบบ 3 ON (On Air – On Line – On Ground) ภายใต้แคมเปญ “กินไข่ทุกวัน กินได้ทุกวัย” ซึ่งประกอบด้วย การเผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณาชุด “Believe me Daughter” เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการบริโภคไข โดยเฉพาะคลอเรสเตอรอลในไข่ และประโยชน์ของไข่ไก่ ผ่านทางรายการต่างๆ อาทิ เรื่องเล่าเช้านี้ เช้านี้ที่หมอชิต ทุบโต๊ะข่าว และผ่านทางเพจขอไข่ พร้อมกับทำคลิปโดยให้นักกีฬา นักเรียนทุนมาเป็นพรีเซ็นเตอร์เล่าถึงประโยชน์ที่ได้จากการบริโภคไข่ไก่
พร้อมกันนี้ ยังเปิดเพจเฟสบุ๊ค “ขอไข่” (Facebook ขอไข่ >> http://bit.ly/2dMP892) เผยแพร่กิจกรรมและความรู้เกี่ยวกับไข่ไก่ ร่วมมือกับเพจอาหาร 8 เพจ จัดทำเมนูไข่ไก่, การจัดกิจกรรมในวันไข่โลก โดยร่วมมือกับหอการค้าจังหวัด และมหาวิทยาลัยราชภัฏ รวมกว่า 40 แห่งทั่วประเทศ, การสนับสนุนไข่ไก่ 500,000 ฟอง ให้กับกรมพลาธิการทหารบก เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบทำอาหาร และปรุง “ไข่พระอาทิตย์ของพ่อ” เมนูพระราชทานของ "ในหลวง รัชกาลที่ 9" บริการให้แก่ประชาชนที่เดินทางมาถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ ท้องสนามหลวง การแจกหนังสือ The Story of Eggs แก่โรงเรียน โรงพยาบาล และหน่วยงานราชการต่างๆ รวมถึงการผลิตสื่อป้ายประชาสัมพันธ์ติดรถยนต์ หน้าร้านค้า เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนสนใจการบริโภคไข่ไก่มากขึ้น
"ผลการการดำเนินโครงการฯ ในปีที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ สื่อการประชาสัมพันธ์สามารถเข้าถึงประชาชนได้มากกว่า 10 ล้านคน และจากการสำรวจโดยบริษัท YouGov พบว่า ผู้บริโภครับประทานไข่เฉลี่ย 5 ฟองต่อสัปดาห์ ซึ่งใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิง ผู้ชาย ในทุกช่วงอายุ ถือเป็นการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่สำคัญกลุ่มผู้สูงอายุจากเดิมที่ระมัดระวังในการบริโภคไข่ เพราะเกรงว่า จะมีปัญหาคอเลสเตอรอลก็หันมาบริโภคไข่ไก่เพิ่มขึ้น หลังจากได้รับข้อมูลที่ถูกต้องถึงคุณประโยชน์ของไข่ไก่ พร้อมกันนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เชื่อว่า สามารถกินไข่ได้ทุกวัน, ผู้สูงอายุเชื่อว่าสามารถกินไข่ได้มากกว่า 2 ฟองต่อสัปดาห์ และไข่ไม่มีผลต่อปริมาณคอเลสเตอรอลในร่างกาย ส่งผลให้ปัจจุบันคนไทยบริโภคไข่ไก่เพิ่มขึ้นเป็น 240 ฟองต่อคนต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 220 ฟองต่อคนต่อปี" นายเรวัตรกล่าว
ด้าน นายอรรณพ อัครนิธิยานนท์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เปิดเผยว่า ในปี 2560 โครงการมีแผนงานรณรงค์เพื่อสร้างความมั่นใจของคนไทยในการบริโภคไข่ไก่อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการสนับสนุนโครงการวิจัยเกี่ยวกับไข่ไก่ในประเทศไทย ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม การจัดงาน “ไข่พระอาทิตย์สัญจร 4 ภาค” โดยร่วมมือกับหอการค้าจังหวัดและมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม, ประสานสมาคมแพทย์โรคหัวใจ จัดสัมมนาให้ความรู้งานวิจัยไข่ ในกลุ่มแพทย์, รณรงค์ “รักใคร...ให้มอบกระเช้าไข่” ในช่วงเทศกาลวันสำคัญต่างๆ เช่น วันสงกรานต์ เทศกาลปีใหม่ของไทย เป็นต้น
การรณรงค์การบริโภคไข่ไก่ ช่วยให้คนไทยเห็นความสำคัญของการรับประทานไข่ไก่ให้มากขึ้น เพราะไข่ไก่สามารถกินได้ทุกวัน กินได้ทุกวัย เนื่องจากทุกวันนี้นักโภชนาการและผลวิจัยส่วนใหญ่ต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไข่ไก่” เป็นอาหารชนิดเดียวที่มีสารอาหารครบถ้วนเกือบทุกชนิดที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยเฉพาะโปรตีนที่มีคุณภาพดีที่สุด เพราะเป็นโปรตีนชนิดเดียวที่มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ นอกจากนั้นไข่ยังเป็นแหล่งแร่ธาตุและวิตามินที่ครบถ้วน ที่สำคัญจากที่ผู้บริโภคเคยมีความกังวลต่อคอเรสเตอรอลในไข่ไก่ เพราะเข้าใจว่าคอเรสเตอรอลเป็นตัวการสำคัญของการเกิดโรคหลอดเลือดและความดัน แต่งานวิจัยจากสถาบันที่เชื่อถือได้ที่ทำขึ้นในช่วงหลังๆ พบว่าในอดีตมีการวิเคราะห์ปริมาณคอเรสเตอรอลในไข่ไก่ไม่ตรงกับความจริง เพราะข้อมูลของ กองโภชนาการ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ไข่ไก่ 1 ฟองมีโปรตีนประมาณ 6.25 กรัม หรือประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ ที่ร่างกายต้องการต่อวัน มีคอเรสเตอรอลประมาณ 213 กรัม มีไขมันอิ่มตัวประมาณ 1.5 กรัมเท่านั้น ในขณะที่มีไขมันไม่อิ่มตัวมากกว่าคือ 1.91 กรัม ซึ่งร่างกายจะนำไขมันไม่อิ่มตัวไปใช้ง่าย ไม่ก่อปัญหาโรคหลอดเลือด
คอเลสเตอรอลที่เราจะได้รับจากไข่จะช่วยเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลตัวดีที่ช่วยลดปัญหาหลอดเลือดอุดตัน เนื่องจากไข่มีทั้งคอเลสเตอรอลตัวดี (HDL) เลซิทินมีกลไกที่สามารถจับคอเลสเตอรอลและขับออกจากร่างกายจึงมีผลให้การดูดซึมของคอเลสเตอรอลเข้าสู่กระแสเลือดไม่มากเท่าคลอเลสเตอรอลจากไขมันสัตว์ จึงสบายใจได้เลยว่าไข่ไม่ใช่ผู้ร้ายแถมยังช่วยแก้ปัญหาโรคหลอดเลือดอุดตันได้ด้วย แต่อย่างไรก็ดี การรณรงค์ส่งเสริมบริโภคไข่ไก่ ก็ต้องสร้างความสมดุลระหว่าง Demand และ Supply เพื่อให้อุตสาหกรรมไข่ไก่อยู่ได้อย่างยั่งยืน
นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ กล่าวว่า การผลิตไข่ไก่ของไทยสามารถผลิตได้ตามมาตรฐานกรมปศุสัตว์ ใช้เทคโนโลยีและกระบวนการจัดการที่ทันสมัย เพื่อให้ได้ไข่ไก่คุณภาพสูง สะอาด ปลอดภัยส่งถึงมือผู้บริโภค ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณการผลิตไข่ไก่ประมาณ 15,500 ล้านฟองต่อปี คิดเป็นมูลค่าปีละกว่า 50,000 ล้านบาท ที่สำคัญการบริโภคไข่ไก่ยังช่วยดูดซับปริมาณไข่ที่ล้นตลาด แก้ไขปัญหาราคาไข่ตกต่ำได้ด้วย โดยปี 2560 นี้มีกำลังการผลิตไข่ประมาณ 45 ล้านฟองต่อวัน แต่ปัจจุบันการบริโภคประมาณ 35 ล้านฟองต่อวันเท่านั้น ยังมีส่วนเกินความต้องการอยู่ประมาณ 10 ล้านฟอง ส่งผลราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มลดลงมาเหลือเพียงฟองละ 2.10 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ฟองละ 2.90 บาท
โครงการรณรงค์ฯ มีส่วนช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมเลี้ยงไก่ไข่ของไทย ผู้บริโภคหันมาบริโภคไข่ไก่เพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่มีความมั่นคง และส่งผลดีต่อเนื่องในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และนำไปสู่สังคมที่มีประชากรสุขภาพดีและแข็งแรง