มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ และซีพีเอฟ ร่วมกับ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ เดินหน้าโครงการเลี้ยงไข่ไก่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 ตั้งเป้าขยายจำนวนโรงเรียนในโครงการปีละ 5-8 โรงเรียน ปัจจุบันมีนักเรียนกว่า 28,000 คนจากโรงเรียนในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ 101 แห่ง ใน 33 จังหวัด ได้บริโภคไข่ไก่ที่มีคุณภาพปลอดภัย เพื่อช่วยลดปัญหาทุพโภชนาการของเด็กในพื้นที่ห่างไกล
นายโนริยุคิ ยาสุโอะ รองประธานและประธานส่วนการศึกษา คณะกรรมการฝ่ายความช่วยเหลือสังคม หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ เปิดเผยว่า การร่วมสนับสนุนโครงการเลี้ยงไก่ไข่นี้ เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ หรือ JCC ที่ต้องการจัดทำโครงการเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระชนมายุครบ 6 รอบ (72 พรรษา) ในปี 2543 จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน คือ JCC มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซีพีเอฟ และกระทรวงศึกษาธิการ เป็นการสนับสนุนภายใต้ "กองทุนเพื่อการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21" โดยโครงการประสบผลสำเร็จและปรากฎผลที่ชัดเจน JCC จึงขยายความร่วมมือจากกรอบระยะเวลา 10 ปีแรก ต่อเนื่องมาสู่การสนับสนุนระยะที่ 2 ของปีที่ 15 ในปัจจุบัน
จากผลสำเร็จของโครงการฯในวงกว้าง ที่มูลนิธิฯ และซีพีเอฟร่วมกันดำเนินการ JCC จึงขอร่วมสนับสนุนโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 ปีแรก มุ่งสนับสนุนโรงเรียนในสังกัดสพฐ.เป็นหลัก ต่อมาในปี 2548 ได้ขยายผลการดำเนินการร่วมกับสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อดำเนินการเพิ่มเติมในโรงเรียนตชด. ที่ผ่านมา JCC ให้การสนับสนุนงบประมาณแล้วรวม 19.35 ล้านบาท นายยาสุโอะ กล่าว
“เราเล็งเห็นถึงความสำคัญของอาหารที่จะช่วยลดปัญหาทุพโภชนาการ เราจึงสนับสนุนให้เด็กนักเรียนได้รับอาหารคุณภาพดี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สมาชิกของ JCC ในประเทศไทยทำร่วมกันและเราหวังว่าโครงการนี้จะขยายไปยังโรงเรียนทั่วประเทศไทย โดยในปีนี้ JCC ได้สนับสนุนงบประมาณรวม 1.7 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินการโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนในโรงเรียน 9 แห่ง โดยจะจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการโรงเรียนละ 160,000-250,000 บาท” นายยาสุโอะ กล่าว
ทั้งนี้ มีรูปแบบการดำเนินการ คือ JCC ให้การสนับสนุนงบประมาณสำหรับก่อสร้างโรงเรียนพร้อมอุปกรณ์การเลี้ยง พันธุ์ไก่ไข่ อาหาร และยาสัตว์ในการเลี้ยงรุ่นแรก ด้านกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้เสนอรายชื่อโรงเรียนเพื่อเข้าร่วมโครงการ ส่วนมูลนิธิพัฒนาชนบทฯ บริหารจัดการโครงการและงบประมาณ คัดเลือกโรงเรียนที่จะดำเนินโครงการ จัดทำแผนการดำเนินงาน ติดตามและรายงานผล โดยมีซีพีเอฟ ทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคนิควิชาการและการจัดการ และเข้าดูแลให้คำปรึกษาแก่อาจารย์และนักเรียนผู้ดูแลโครงการ เพื่อให้มีประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด
นายอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ความร่วมมือกับ JCC ในการดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ซีพีเอฟ และมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ร่วมกันดำเนินโครงการฯ มาอย่างต่อเนื่อง สำหรับปี 2557 ได้คัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการจำนวน 9 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านเจี่ย จ.ศรีสะเกษ โรงเรียนบ้านกันเตรียง จ.สุรินทร์ โรงเรียนบ้านถ่อนนาเพลิน จ.อุดรธานี โรงเรียนหนองทุ่มวิทยา จ.บึงกาฬ โรงเรียนบ้านกุดฮู จ.สกลนคร โรงเรียนบ้านท่าช้างคล้องหนองอีเปี้ย จ.เลย โรงเรียนบ้านคำโคนสว่าง จ.หนองคาย โรงเรียนบ้านกุดฮู จ.หนองบัวลำภู โรงเรียนบ้านดงเย็น จ.มุกดาหาร พร้อมจัดพิธีมอบทุนสนับสนุนโครงการฯ ที่โรงเรียนบ้านถ่อนนาเพลิน ตำบลนาทราย อำเภอพิบูลรักษ์ จังหวัดอุดรธานี
นายอภัยชนม์ กล่าวอีกว่า มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เพื่อแก้ปัญหาภาวะโภชนาการต่ำกว่ามาตรฐานของเด็กไทย มาดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี 2532 หรือกว่า 26 ปีแล้ว ปัจจุบันได้ขยายโครงการสู่ 464 โรงเรียนทั่วประเทศ ประกอบด้วย โรงตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 120 แห่ง โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และอื่นๆ 344 แห่ง ช่วยให้เด็กไทยกว่า 90,000 คน พ้นจากภาวะทุพโภชนาการได้อย่างเป็นรูปธรรม จากการได้รับโปรตีนและสารอาหารจำเป็นจากไข่ไก่ ช่วยให้บุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 5,000 คน ได้รับความรู้และเข้าใจในกระบวนการจัดการเลี้ยงไก่ไข่ และกำลังเดินหน้าขยายโครงการเพื่อให้ครบ 500 โรงเรียนภายในปี พฤษภาคม 2558./