ไม่ใช่แค่ผลิตอาหารให้คนทั้งโลก "อิ่มท้อง" แต่ตลอดห่วงโซ่การผลิตต้องมีคุณภาพ มีคุณค่า ปลอดภัย รวมไปถึง "ความมั่นคงทางอาหาร" ของคนในชุมชน เป็นความยั่งยืนที่แท้ทางธุรกิจของซีพีเอฟ
นานมาแล้วที่ซีพีเอฟมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความ รับผิดชอบต่อสังคม ในฐานะที่เป็น "ส่วนหนึ่ง" ของสังคมและชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการบทบาทของ "พ่อครัว"
คุณสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟบอกว่า ในฐานะพ่อครัวจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใส่ใจและรับผิดชอบต่อผู้บริโภค เริ่มตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบทางการเกษตรและเครื่องปรุงรสที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค
"ซีพีเอฟเป็นผู้ผลิตอาหารขนาดใหญ่ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงทั้งผู้บริโภค ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นรากฐานสำคัญของบริษัท สองปีที่ผ่านมาเราจึงเน้นที่จะดำเนินธุรกิจให้อยู่บน 3 เสาหลัก นั่นคือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่"
"อาหารมั่นคง...เติมชีวิตที่ดี" เป็น 1 ใน 3 เสาหลัก ที่ถูกให้น้ำหนักเป็นอันดับแรกในฐานะครัวที่ต้องป้อนอาหารให้คนกว่าครึ่งโลกจากการพูดคุยกับ สมพร ทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความมั่นคงทางอาหารของซีพีเอฟ ในทุกมิติ ทั้งแง่ของการพัฒนาต่อยอดผ่านศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ และพันธุ์สัตว์ จนถึงอาหารเพื่อการบริโภค ร่วม 80 แห่ง กว่า 1,600 ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย พร้อมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคทั่วโลกกว่า 3,000 ล้านคน
รวมถึงโรงงานอาหารส่งออกทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ยังได้รับรองมาตรฐานระบบคุณภาพสินค้าอาหารสำหรับธุรกิจค้าปลีกประเทศอังกฤษ (BRC) ด้วย
ขณะเดียวกันความมั่นคงด้านอาหารของชุมชนเป็น สิ่งสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ หนึ่งในโครงการที่เป็นความภูมิใจของซีพีเอฟ คือ โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนที่เดินหน้าพัฒนามากว่า 20 ปี "เราเปิดโอกาสให้น้องๆ เยาวชนในถิ่นทุรกันดารกว่า 96,000 คน ได้เข้าร่วมเพื่อพัฒนาให้มีภาวะโภชนาการที่ดี และอีกหลากหลายโครงการที่ต่อยอดสู่ชุมชนใกล้เคียงกับสถานประกอบการภายใต้แนวคิด ซีพีเอฟ...อิ่ม สุข ปลูกอนาคต" คุณสมพร เล่าอย่างภูมิใจ
เขา อธิบายถึงแนวนโยบายผลักดันให้เกิดวิถีความยั่งยืนด้านอาหารอย่างเป็นรูปธรรมว่า เริ่มจากกลุ่มธุรกิจสุกรซีพีเอฟ ที่ได้ผลักดันโครงการปลูกพืชผักสวนครัว บนพื้นที่ระหว่างโรงเรือนเลี้ยงสุกร จากนั้นนำมูลสุกรและน้ำหลังการบำบัดด้วยระบบไบโอแก๊สที่อุดมด้วยธาตุอาหารชั้นดีเหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืช มาใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพสำหรับปลูกผัก เมื่อโครงการเริ่มไปได้ระยะหนึ่ง พบว่าผักปลอดสารงอกงามและให้ผลผลิตมากเกินกว่าจะบริโภคกันภายในหมู่พนักงานเท่านั้น จึงเกิดแนวคิดการปลูกผักปลอดสารเพื่อจำหน่ายให้กับโรงครัวของฟาร์ม ช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับพนักงาน และยังได้รับประทานผักปลอดภัยด้วย
"แนวคิดนี้นอกจากจะปรับพื้นที่ภายในฟาร์มให้สามารถสร้างประโยชน์ได้แทบทุกตารางนิ้วแล้ว ยังสนับสนุนให้บุคลากรของบริษัทมีสุขภาพที่ดีจากการบริโภคอาหารที่มีความปลอดภัยจากฝีมือการผลิตของพวกเขาเอง"
จากบทเรียนพืชผักสวนครัวปลอดสารในฟาร์มสุกรได้ถูกต่อยอด ขยายผลไปสู่โครงการกิจกรรมปลูกผัก เพื่อเป็นอาหารกลางวันแก่น้องๆ เยาวชนในชุมชนรอบฟาร์มด้วยโครงการ "น้องอิ่มท้อง พี่ๆอิ่มใจ ผักปลอดสารพิษสู่ชุมชน"
ด้วยแนวความคิดที่ว่า "เพราะเรามีมูลสุกรที่เป็นปุ๋ยชีวภาพอย่างดี" ทำให้แปลงผักกลางแจ้งปลอดสารพิษของโรงเรียนบ้านบุสูง จ.ปราจีนบุรี เป็นแหล่งอาหารของเด็กๆ
จากหนึ่งโรงเรียน แตกแขนงสู่หลายชุมชน เช่น โรงเรียนบ้านหนองตะแบก อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี โรงเรียนบ้านห้วยน้ำดิบ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนบ้านหนองสองห้อง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 82 (โคกตองเจริญ) อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมาและอีกหลายชุมชนที่กำลังเริ่มนำโครงการไปดำเนินการ
คุณสมพร บอกว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้บทเรียนปลูกผักปลอดสารพิษถูกส่งต่อจากพี่สู่น้อง จากโรงเรียนสู่โรงเรียน คือ "องค์ความรู้" ที่ส่งต่อและพัฒนาเป็น "โมเดลพัฒนาชนบท" คู่มือดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในแบบฉบับซีพีเอฟ ที่ให้ทั้งความรู้ด้านเกษตร รวมไปถึงการบริหารจัดการผลผลิต และต้นทุนอย่าง "ครบวงจร"
เขา ยกตัวอย่าง นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นๆในซีพีเอฟที่มีการดำเนินโครงการเพื่อน้องเยาวชน เช่น กลุ่มธุรกิจแปรรูปครบวงจร สระบุรี กิจการไก่กระทงฟาร์มบ้านม่วง ที่ได้จัดทำโครงการสนับสนุนการปลูกผักปลอดสารพิษ ในโรงเรียนวัดท่าวัว จ.สระบุรี โดยสร้างโรงเพาะปลูกผักกางมุ้งมาตรฐานให้โรงเรียน พร้อมส่งบุคลากรเข้าแนะนำเทคนิคการปลูก และให้ความรู้ในการบริหารผลผลิตเพื่อนำไปประกอบอาหารกลางวันและบางส่วนนำไปจำหน่ายสร้างรายได้หมุนเวียนภายในโรงเรียน เช่นเดียวกับธุรกิจผลิตอาหารสัตว์บกและการก่อสร้าง ที่ผลักดันโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียน แก่โรงเรียนสมอแข จ.พิษณุโลก ด้วยการสร้างโรงเรือนปลูกผักไฮโดรโปรนิค พร้อมทั้งให้ความรู้ในการดูแลผักให้แก่เด็กนักเรียนโดยความร่วมมือของพนักงานจิตอาสาของบริษัท โรงเรียน และชุมชน
ส่วนกลุ่มธุรกิจขายอาหารสัตว์น้ำ ได้ริเริ่มสร้างแหล่งโปรตีนจากเนื้อปลาขึ้นในโรงเรียนและชุมชน ภายใต้โครงการ "CPF- ชุมชน-โรงเรียน สัมพันธ์" ถือเป็นอีกแนวคิดที่จะเสริมสร้างโภชนาการที่สมบูรณ์แข็งแรงแก่เด็กๆ มากว่า 5 ปี นับจากปี 2552 ที่กลุ่มซีพีเอฟได้สนับสนุนการเลี้ยงปลาน้ำจืด อาทิ ปลาดุก ปลาทับทิม ให้แก่นักเรียนเพื่อเป็นอาหารกลางวันให้กับน้องๆ และยังช่วยสร้างรายได้เสริมให้แก่ชุมชน รวม 20 โครงการ ครอบคลุม 4 ภูมิภาค ใน 13 จังหวัด
"ความสำเร็จจากโครงเลี้ยงปลาในโรงเรียน ก่อเกิดเป็นเงินทุนสะสมต่อยอดสู่โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โดยเฉพาะโครงการปลูกผักปลอดสารพิษที่สามารถเก็บผลผลิตนำมาเป็นอาหารกลางวัน สร้างโภชนาการที่ดีแก่เยาวชนนอกจากการรับประทานโปรตีนจากเนื้อปลา"
ไม่เพียงแค่ชนบท แม้แต่ในชุมชนเมืองก็ทำ CSR ได้เช่นกัน โดยโรงงานแปรรูปเนื้อไก่-เป็ด บางนา ได้ริเริ่ม โครงการแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติในชุมชนเมือง ภายใต้ความร่วมมือจากอาจารย์ประสิทธิ์ กุณาศล ที่มีพื้นที่ติดกับโรงงาน เพื่อเสริม "การเรียนรู้นอกห้องเรียน" ให้แก่ นักเรียนสังกัดกทม. ที่ได้แวะเวียนเข้ามาเรียนรู้ ด้วยการลงมือปฏิบัติจริงกับการปลูกพืช/ ผักสมุนไพร ผักไร้ดิน การปลูกพืช/ผักสวนครัวรั้วกินได้ และการเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน ฯลฯ
"บทเรียนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นความรู้ติดตัวที่ให้เยาวชนนำไปประกอบอาชีพในอนาคต และยังช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนและชุมชน โดยผลผลิตที่ได้จะนำไปประกอบอาหารให้แก่นักเรียน และบางส่วนนำไปจำหน่ายเพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียน"เพราะไม่ใช่แค่ "อิ่มท้อง" แต่ทั้งหมดเพื่อ "ความมั่นคงทางอาหาร" แก่ชุมชน และสังคม