ปลาป่น…กับการทำประมงที่ยั่งยืน
โดย… อุษณีย์ รักษ์กสิกิจ : usanee.rak@gmail.com
ที่ผ่านมาเราได้เห็นความพยายามของรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหาด้านการประมงทั้งระบบ ต่อข้อกล่าวหาของสหภาพยุโรปในการให้ใบเหลืองประเทศไทย เรื่องการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดรายงาน และไร้การควบคุม หรือ Illegal Unreported and Unregulated Fishing (IUU Fishing) และอีกด้านหนึ่งเพื่อให้ประเทศหลุดจากบัญชีเทียร์ 3 ที่สำนักงานเพื่อการติดตามและการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ กระทรวงต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ขึ้นบัญชีว่าประมงไทยมีปัญหาของการค้ามนุษย์ และการใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย
นับตั้งแต่ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ โดยศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ภายใต้การกำกับดูแลของผู้บัญชาการทหารเรือ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2558 โดยให้เรือประมงที่ไม่มีอาชญาบัตร และไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของกรมประมง หยุดการจับปลา และให้มีอาชญาบัตร ตรงตามประเภทของเครื่องมือทำการประมง ตามติดมาด้วยการใช้ยาแรง จากคำสั่งที่ 10/2558 ลงวันที่ 29 เมษายน 2558 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้ใช้กฎหมายมาตรา 44 (ม.44) ออกมาบังคับใช้กับเรือประมงไทย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม สหรัฐก็ยังคงประเทศไทยไว้ในบัญชี 3 หรือ เทียร์ 3 และจะจับตาดูการดำเนินการของไทยในช่วงต่อไปอย่างใกล้ชิด
อีกวาระหนึ่งที่ใกล้เข้ามาคือการประกาศ “ใบแดง” ประเทศไทย ในเดือนตุลาคม ของสหภาพยุโรป หลังจากจับตาดูการแก้ไขของประเทศไทย ภายใต้กฎเกณฑ์ IUU แม้ความหวังจะริบหรี่ที่ไทยจะไต่อันดับหรือคงอันดับไว้ก็ตาม สิ่งที่เกิดที่เป็นกังวลสำหรับผู้ส่งออกไทยกรณี อียูให้ “ใบแดง” คือ การห้ามนำเข้าสินค้าประมงจากไทยทุกประเภท หากเป็นไปตามที่คาดการณ์นี้เท่ากับไทยโดน 2 เด้ง คือ รวมถึง เทียร์ 3 ของสหรัฐก่อนหน้านี้ด้วย
ในประเด็นนี้ รศ.ดร.กังวาลย์ จันทรโชติ ภาควิชาจัดการประมง มหาวิทยาลัยเกษตรกรศาสตร์ กล่าวว่า ศปมผ. ต้องมีความระมัดระวังในการประเมินผลและรายงานตอบกลับสหภาพยุโรป เพราะไทยจะต้องรักษาสมดุลระหว่าง เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ว่าไทยจะให้น้ำหนักในเรื่องใดเราก็ต้องยอมเสียตัวหนึ่งไป ซึ่งในประเด็น IUU เป็นมุมมองของเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (food security) ไทยก็ควรหันมาให้ความสำคัญและปรับวิธีการให้เหมาะสม
ความพยายามในการแก้ปัญหาด้วยการใช้ยาแรงกับกองเรือประมงไทยนั้นยังคงเดินหน้าต่อไป แม้ว่าจะถูกต่อต้านจากสมาคมประมงไทยและเจ้าของเรือที่มีการทำประมงเชิงพาณิชย์อย่างมาก เพราะมาตรการที่เข้มงวดของรัฐบาลทำให้พวกเขาไม่สามารถออกจับปลาได้ตามปกติทำให้สูญเสียรายได้มหาศาล บางรายโอดครวญอาจต้องเลิกกิจการ ส่วนเรือประมงชายฝั่งคงได้รับอานิสงส์จากมาตรการของรัฐบาลบ้างไม่มากก็น้อย เพราะไม่มีคนมาแย่งพื้นที่ทำกิน ล่าสุดสมาคมประมงทางภาคใต้รวมตัวกันประท้วงรัฐบาลด้วยการหยุดออกเรือและเรียกร้องให้มีการผ่อนปรนระยะเวลาและมาตรการออกไปอีก แต่รัฐบาลยังคงยืนไม้แข็งไม่ถอยสถานเดียว
จากมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีเรือประมงที่ไม่เข้าเกณฑ์ที่พรบ.ประมงฉบับใหม่กำหนด จำเป็นต้องจอดลอยลำอยู่เป็นจำนวนมาก แน่นอนว่าย่อมมีผลกระทบเป็นห่วงโซ่ทั้งวงจรของการทำประมง ตั้งแต่เรือประมง ธุรกิจแพปลา ห้องเย็น โรงน้ำแข็ง โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ
ปลาป่น (Fish meal) ซึ่งเป็นวัตถุดิบโปรตีนสูงใช้ในการผลิตอาหารสัตว์น้ำสำเร็จรูป เป็นอีกธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว เพราะทำให้ปลาที่มาจากผลพลอยได้จากการประมง (by catch) ลดลง โรงงานปลาป่นต้องหันหาปลาที่มาจากผลพลอยได้จากโรงงานแปรรูป (by product) มากขึ้น
แม้ว่าช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจะเริ่มมีเรือประมงพาณิชย์อวนล้อมจับ (อวนดำ) ออกทำประมงได้บ้าง แต่ก็ติดปัญหาสภาพอากาศเพราะเข้าสู่ช่วงมรสุมทำให้มีคลื่นลมมาก ทำให้ปัจจุบันปริมาณปลาป่นหายไปมากกว่า 50% นอกจากนี้ จากการที่ ศปมผ. มีคำสั่งให้ผู้ประกอบการเรือประมงขยายตาอวนลากเป็น 5 เซ็นติเมตร ซึ่งคาดว่าจะยิ่งทำให้วัตถุดิบปลาเป็ดในช่วงครึ่งปีหลังมีจำนวนลดลงไปอีก
ที่ผ่านๆมา การผลิตปลาป่นไทยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5 แสนตันต่อปี แต่ปีนี้ได้ปรับลดตัวเลขประมาณการลงไปเกือบ 20% อยู่ที่ 4.2 แสนตัน โดยใน 6 เดือนแรกของปีนี้ ผลผลิตปลาป่นมีเกือบ 2 แสนตัน แต่จากมาตาการปราบปรามเข้มงวด อาจจะทําให้ผลผลิตลดลงไปจากเดิมอีกถึง 50% ซึ่งคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังผลผลิตอาจจะต่ำกว่า 1 แสนตัน โดยทั้งปีจะสามารถผลิตได้ประมาณ 3 แสนตันเท่านั้น
สำหรับปลาป่นทีมาจากผลพลอยได้จากโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มเศษซากจากโรงงานแปรรูปซูริมิ ได้รับผลกระทบ 2 ทาง คือจากการออกประกาศห้ามเรือประมงต่างชาติเข้าจับปลาในอินโดนีเซียและมาตรการเข้มงวดของรัฐบาลไทย ทำให้วัตถุดิบเข้าสู่โรงงานแปรรูปปลาลดลงมากกว่า 50% ส่วนกลุ่มปลาทูน่า ถือว่าได้รับผลกระทบน้อย หรือแทบไม่ได้รับผลกระทบเลย เพราะวัตถุดิบมาจากการนําเข้ากว่า 90%
สำหรับการใช้ปลาป่นในไทยแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะไม่ค่อยมากนัก เพราะสถานการณ์โรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome) ในกุ้งทำให้ผลผลิตของประเทศลดลงกว่า 50% และเกษตรกรเริ่มกล้าที่จะลงลูกกุ้ง ประกอบกับการเลี้ยงปลาเจอภัยแล้งมากระทบ ทำให้ความต้องการอาหารสัตว์น้ำลดลง
อย่างไรก็ตาม ปลาป่นถือเป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญ โดยในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-กรกฎาคม) ไทยสามารถส่งออกปลาป่นได้กว่า 1 แสนตัน โดยตลอดทั้งปีคาดการณ์ว่าจะสามารถส่งออกได้ถึง 1.4 แสนตัน ซึ่งขณะนี้มีโบรกเกอร์ต่างประเทศเข้ามาหาซื้อปลาป่นจากแถบเอเชียรวมถึงประเทศไทยด้วย แต่ไทยเรากลับไม่มีสินค้าให้
ส่วนสถานการณ์ปลาป่นต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกสำคัญอย่างประเทศเปรู ปัจจุบันสต็อกปลาป่นอยู่ที่ 180,000 ตัน ซึ่งผู้ผลิตรายใหญ่ได้หยุดการขายเพื่อรอดูสภาพอากาศ โดยคาดการณ์ว่าจะมีปรากฏการณ์เอลนิโน (El Niño) คือการที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลอุ่นขึ้น ในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ จึงต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดปัญหาสินค้าขาดตลาดได้
สถานการณ์เรือประมงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับโรงงานปลาป่น ทำให้ภาคธุรกิจต้องหาทางออกของปัญหา โดยแบ่งเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ 1. แก้ปัญหาโดยต่างคนต่างแก้ไขกันเอง ซึ่งคนที่สามารถแก้วิกฤตินี้ ได้ ก็จะรอดพ้นจากสถานการณ์ไปได้ และ 2.สมาชิกโรงงานปลาป่นในแต่ละจังหวัด ต้องพูดคุยและรวมตัวกันให้เหลือจังหวัดละ 1 โรงงาน เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาด้วยการร่วมมือกันนั้นถือว่าเป็นแนวคิดที่ดีกว่าต่างคนต่างแก้ปัญหา เพราะจากประสบการณ์ของประเทศที่เคยประสบปัญหาเช่นเดียวกันนี้ อาทิ จีน และเปรู ที่ใช้วิกฤติเป็นโอกาสด้วยการรวมตัวกันเพื่อแก้ไขสถานการณ์ ทำให้นอกจากจะสามารถผ่านพ้นวิกฤติมาได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังได้ปลาป่นที่มีคุณภาพดี ขณะที่สิ่งแวดล้อมทางทะเลก็ดีขึ้น ถือเป็นการผลิตปลาป่นจากการทำประมงที่ยังยืนอย่างแท้จริง
เรื่องการแก้ปัญหาการทำประมงนี้ไม่เพียงภาครัฐเท่านั้นที่เดินหน้าอย่างเข้มแข็ง เช่น การที่หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมกุ้งไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนรัฐบาลในการใช้ พ.ร.บ. การประมง – พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ฯ ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติมแก้ไข โดยไม่ซื้อวัตถุดิบอาหารทะเลจากเรือประมงที่ทำการประมงผิดกฎหมาย (IUU) และใช้แรงงานเด็ก แรงงานการค้ามนุษย์ผิดกฎหมาย พร้อมเรียกร้องรัฐให้บังคับใช้กฎหมายฯอย่างเคร่งครัด
ส่วนภาคเอกชนเองก็มีความพยายามในการร่วมสนับสนุนเรื่องการประมงเพื่อความยั่งยืน อย่างเช่น ซีพีเอฟ ที่ถือเป็นผู้ซื้อปลาป่นซึ่งมีวัตถุดิบส่วนหนึ่งที่มาจากการทำประมง ก็ได้ออกนโยบายการซื้อปลาป่นภายใต้ข้อกำหนด คือ ปลาป่นซึ่งผลิตจากผลผลอยได้จากโรงงานแปรรูป ต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน IFFO Responsible Supply (IFFO RS) หรือ IFFO RS Improvers Programme (IFFO RS IP) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สอดคล้อมกับ Code of Conduct for Responsible Fisheries ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) หรือต้องไม่เป็นผลผลอยได้จากสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ตามนิยามของบัญชีแดงขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (World Conservation Congress : IUCN Red List of Threatened Species) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้โดยหน่วยงานภายนอก หรือ Third Party
ส่วน ปลาป่นซึ่งผลิตจากผลพลอยได้จากการประมงไทย ต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล หรือสามารถตรวจสอบได้โดยกลไกตรวจสอบที่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งประกอบจากภาคส่วนต่างๆ เช่น เจ้าหน้าที่หรือผู้แทนจากการประมง ผู้ประกอบการ ชุมชนที่เกี่ยวข้อง ผู้บริโภค และนักวิชาการ เป็นต้น
นอกจากนี้ เรือประมง โรงงานปลาป่น และโรงงานแปรรูปต่างๆ ที่อยู่ในช่วงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) จะต้องมีการรับรองการตรวจประเมินตามมาตรฐานแรงงานไทยหรือมีการตรวจประเมินเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมโดยหน่วยงานภายนอกตามมาตรฐานสากล
การแก้ปัญหาประมงซึ่งกลายเป็นปัญหาระดับชาตินี้ ต้องอาศัยความมุ่งมั่นที่และความร่วมมือกันอย่างจริงจังของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนผู้ประกอบการเรืองประมง และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายได้./