เป็นความก้าวหน้าอีกขั้นของกรมประมง เมื่อสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง สงขลา ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยี SCADA SYSTEM มาใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีความหนาแน่นสูง ให้ผลผลิตมากและลดต้นทุน เพื่อให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยอยู่ในลำดับต้นๆของโลก
“ความจริงแล้วระบบ SCADA ที่ย่อมาจาก Supervisory Control and Data Acquisition หรือการควบคุมกำกับดูแลและเก็บข้อมูลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้อยู่แล้วในอุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่ มีตัวเซ็นเซอร์มาคอยตรวจวัดความผิดปกติในระบบการผลิต และแจ้งผลไปยังเครื่องควบคุมที่รวมศูนย์อยู่ในจุดเดียว ช่วยลดต้นทุนเรื่องแรงงาน และลดความผิดพลาดในกระบวนการผลิตได้มาก เพราะมีโปรแกรมชุดคำสั่งต่างๆ มาช่วยตัดสินใจแก้ปัญหาได้รวดเร็ว”
นายยงยุทธ ปรีดาลัมพะบุตร ผอ.สถาบัน วิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง สงขลา บอกว่า จากเดิมทีโรงเรือนเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของสถาบันฯ จะมีตัวเซ็นเซอร์ตรวจจับ วัดค่าอุณหภูมิ ค่าความเป็นกรด-ด่าง และค่าปริมาณออกซิเจนของน้ำในบ่อเพาะเลี้ยงของแต่ละบ่อ แต่ละโรงเรือนอยู่แล้ว แต่การจะรู้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นตรงบ่อไหน โรงเรือนไหน ต้องให้คนเดินไปตรวจดูเป็นระยะๆ บ่อไหนน้ำเย็นเกินไปก็ต้องเปิดฮีตเตอร์ให้ทำงาน บ่อไหนน้ำเริ่มไม่ดี ออกซิเจนมีน้อยก็ต้องให้คนคอยไปเปิดเครื่องเติมอากาศ
หลังจากเริ่มนำระบบ SCADA มาพัฒนาใช้ในสถาบันฯ ตั้งแต่ปี 2555...ไม่จำเป็นต้องให้คนไปเดินตรวจอีกต่อไป เพราะทุกสิ่งทุกอย่างจะไปแสดงผลโชว์ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ในห้องควบคุม และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เขียนคำสั่งไว้ จะช่วยแก้ปัญหาของแต่ละบ่อได้ทันทีแบบอัตโนมัติ
“ตอนนี้เราพัฒนาโปรแกรมไปได้หลายส่วนแล้ว การปรับอุณหภูมิน้ำ การเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้เหมาะสมกับสัตว์น้ำโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีคนช่วยสำเร็จแล้ว ส่วนปัญหาเรื่องค่าพีเอช ความเป็นกรดด่างของน้ำ ยังต้องใช้คนช่วย เพราะขณะนี้ยังไม่มีเครื่องมือช่วยเติมปูนขาวอัตโนมัติ ยังเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาต่อไป”
ไม่เพียงเท่านั้น ทางสถาบันฯยังคิดจะพัฒนาเรื่องการให้อาหารสัตว์น้ำ ไม่ให้แบบตามเวลากำหนด แต่จะพัฒนาไปถึง ขั้นให้อาหารได้ตาม ปริมาณความต้องการของปลาด้วย เพื่อปลาจะได้เติบโตอย่างรวดเร็วมากขึ้น
แม้การพัฒนาระบบจะยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ แต่จากการนำมาทดลองเลี้ยงปลากะพงขาวแบบหนาแน่นสูงในถังขนาด 35 ลบ.ม. จำนวน 8 ถัง ถังละ 2,000 ตัว...ปลากะพงขาวมีอัตรารอดสูง 90%
ในขณะที่การเลี้ยงทั่วๆไปในกระชังขนาด 50 ลบ.ม. เลี้ยง 50 ตัว มีอัตรารอดแค่ 60-70%...สนใจศึกษาเรียนรู้เพื่อนำไปใช้งาน ติดต่อได้ที่ สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง สงขลา 0-7431-1895
ขอบคุณที่มา : นสพ.ไทยรัฐ