นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ระบุ ยังไม่เคยมีการนำเข้ากุ้งสดจากอินโดนีเซีย ส่วนสาเหตุราคากุ้งตก เกิดจากการขาดข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการและเกษตรกร
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่าผู้ประกอบการแปรรูปกุ้งบางราย ทำเรื่องขอให้กรมประมงอนุญาตให้มีการนำเข้ากุ้งสดจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการแย่งส่วนแบ่งตลาดของกุ้งเลี้ยงภายในประเทศ และทำให้ราคากุ้งตกต่ำว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ในความเป็นจริงเคยมีการขออนุญาตนำเข้ากุ้งจากอินโดนีเซียตั้งแต่กลางปีที่แล้ว เนื่องจากลูกค้าต่างประเทศเป็นฝ่ายร้องขอผู้ประกอบการรายหนึ่ง นำเข้ากุ้งสดจากอินโดนีเซีย มาผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มส่งออกเป็นกรณีพิเศษ อย่างไรก็ตาม ไม่เคยมีการนำเข้ากุ้งจากกรณีดังกล่าว และผู้ประกอบการรายดังกล่าว ได้มีหนังสือถึงกรมประมงขอยกเลิกการนำเข้าเรียบร้อยแล้ว และย้ายฐานการผลิตไปประเทศเวียดนามแทน
นายพจน์กล่าวว่า แม้ว่าไทยจะประสบปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ จากการเกิดโรคตายด่วน หรือ อีเอ็มเอส ในกุ้ง ส่งผลให้ผลผลิตที่เคยสูงถึงปีละ 5 แสนตัน ลดลงเหลือเพียง 2 แสนกว่าตัน ขณะที่ความต้องการกุ้งสดเพื่อเป็นวัตถุดิบแปรรูปขั้นต่ำ มีไม่ต่ำกว่า 3 แสนตัน ทำให้มีการนำเข้ากุ้งบางส่วนจากอินเดีย เวียดนาม สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเอกวาดอร์ แต่เป็นจำนวนน้อยเท่านั้น และยังไม่เคยมีผู้ประกอบการรายใดนำกุ้งสดจากอินโดนีเซียเข้ามาผลิตและแปรรูป เนื่องจากกรมประมงไม่อนุญาตให้นำเข้าเพราะกุ้งของอินโดนีเซียยังประสบปัญหาโรค 5 ชนิด ได้แก่ โรคจุดขาว โรคหัวเหลือง โรคทอร่า โรคแคะแกรนและโรคไอเอ็มเอ็น
นายพจน์กล่าวว่า ปัญหาที่ทำให้ราคากุ้งตกต่ำ เกิดจากการไม่มีการประสานงานกันระหว่างผู้เลี้ยงและผู้แปรรูป ทำให้ไม่ทราบว่าปริมาณกุ้งที่อยู่ในตลาดมีเท่าใด จึงไม่สามารถวางแผนการผลิต และแผนจัดการแรงงานได้ นอกจากนี้ การส่งออกกุ้งไทยยังมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นหลายประเทศ ตลาดส่งออกที่แข็งแกร่งตอนนี้มีเพียงตลาดสหรัฐฯ ยืนยันว่าราคากุ้งที่ตกต่ำเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาไม่เกี่ยวกับการนำเข้ากุ้งจากอินโดนีเซียแต่อย่างใด
ทั้งนี้ สมาคมฯ เสนอให้กรมประมง จัดตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชน ประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายผู้ผลิตและส่งออก เกษตรกรผู้เลี้ยง และผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกำหนดนโยบายและวางแผนอย่างเป็นระบบ สร้างความยั่งยืนให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยต่อไป
cr.ประชาชาติ