บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จับมือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) และชุมชน เล็งเห็นความสำคัญพื้นที่ป่าชายเลน ศูนย์รวมความหลากหลายของระบบนิเวศ ลงพื้นที่ อำเภอ ปะทิว จังหวัด ชุมพร ร่วมปลูกป่าชายเลนใหม่ 40 ไร่ ภายใต้โครงการซีพีเอฟ “ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” พร้อมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ 1,000,000 ตัว เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา 88 พรรษา 5 ธันวาคม 2558 เพื่อร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งรักษาสมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ ผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร ตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่ป่าชายเลน อันถือเป็นแหล่งเชื่อมต่อระบบนิเวศทางบกและทางทะเล ดังนั้นเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่สืบไป บริษัทฯ จึงได้จับมือกับภาครัฐ สถานศึกษา และชุมชนเดินหน้าโครงการปลูกป่าชายเลนต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2536 ครั้งนี้ก็เช่นกัน เพื่อรักษาผืนป่าชายเลนที่ยั่งยืนของ จังหวัดชุมพร ซีพีเอฟจึงเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมโครงการ “ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ลงพื้นที่ปลูกป่าชายเลนจำนวน 40 ไร่ ต่อยอดจากการลงพื้นที่ปลูกเมื่อปีที่แล้วจำนวน 60 ไร่ มีอัตราการรอดตายของป่าชายเลนสูงถึง 85% การลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้ซีพีเอฟสามารถปลูกป่าชายเลนครบ 100 ไร่ ตามเป้าหมายที่วางไว้ใน 5 ปี
“ความพยายามและความร่วมมือในการดำเนินโครงการฯ ไม่ใช่แค่เพียงการอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน แต่ยังมีส่วนช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้สัตว์น้ำและสายพันธุ์สัตว์ในพื้นที่อยู่อาศัยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น แม้ซีพีเอฟจะดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องสัตว์น้ำ แต่บริษัทฯตระหนักและให้ความสำคัญต่อระบบนิเวศและห่วงโซ่สีเขียว จึงมีการกำหนดพื้นที่อย่างชัดเจนในการเลี้ยงสัตว์น้ำที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กิจกรรมในวันนี้ซีพีเอฟจะร่วมกับชุมชนกว่า 500 คน ดำเนินการปลูกป่าชายเลนใหม่เพิ่มอีก 40 ไร่ ซึ่งจะครบตามเป้าหมาย 100 ไร่ เพื่อให้พื้นที่ หมู่ 2 ตำบลชุมโค อำเภอ ปะทิว จังหวัด ชุมพร ได้เป็นแหล่งเรียนรู้ป่าชายเลนอย่างยั่งยืน พร้อมวางแผนสร้างศูนย์เรียนรู้ในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านป่าชายเลนของเด็กนักเรียน เยาวชน คนในชุมชน และผู้สนใจอื่นๆ ได้เรียนรู้เรื่องป่าชายเลนอย่างถูกต้อง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้เข้าชมได้ในปี 2559” นายเปรมศักดิ์ กล่าว
การดำเนินโครงการ “ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ในพื้นที่จังหวัดชุมพร มีรูปแบบการดำเนินโครงการโดยร่วมมือกับผู้แทนจากประชาคมในพื้นที่สามตำบล หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหาร และพนักงานซีพีเอฟ ตลอดจนครูอาจารย์ นักเรียน และประชาชน เพื่อร่วมกันดูแลอนุรักษ์ป่าชายเลน ตลอดจนการวัดผลและติดตามประเมินผล ซึ่งจากผลจากการดำเนินโครงการส่งผลให้ได้พื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น ป่าชายเลนได้รับการฟื้นตัวส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำมีความหลากหลายและเพิ่มจำนวนมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมสภาพนิเวศป่าชายเลนให้คงความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน
นายอภิชัย เอกวนากุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า พื้นที่ป่าชายเลน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ อำเภอ ปะทิว จังหวัด ชุมพร ในอดีตได้ถูกบุกรุกผืนป่าเพื่อทำการเกษตรหลังจากได้รับกลับคืนมา ภาครัฐ ซีพีเอฟ และประชาคมในพื้นที่ได้ร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูเพื่อให้เป็นแหล่งขยายพันธุ์ และแหล่งหลบภัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน รวมถึงได้แหล่งอาหารและ หารายได้ของชุมชนกลับคืนมา
“ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินโครงการ “ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” มี 3 ประการ คือ “ภาครัฐ” โดยหน่วยงานราชการในพื้นที่ทั้งทางจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญ และให้การสนับสนุนมาโดยตลอด, “ภาคประชาสังคม” มีความเข้มแข็ง มีกฎกติกาชุมชน ห้ามตัดไม้ทำลายป่าชายเลน มีจิตอาสาชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) เดินสำรวจป่าชายเลนทุกวัน เพื่อไม่ให้มีการบุกรุกทำลาย และ “ภาคเอกชน” โดยซีพีเอฟได้ให้การสนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2554 จนปัจจุบันได้พัฒนาเป็นยุทธศาสตร์ป่าชายเลนของซีพีเอฟ ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาสถานการณ์ป่าชายเลนในปัจจุบัน และสามารถแทนที่ด้วยป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน” นายอภิชัย กล่าวทิ้งท้าย
โครงการ “ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน “ดินน้ำป่าคงอยู่” เป็นโครงการนำร่องระยะเวลา 5 ปี (ปี2557-2561) ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ จังหวัดระยอง สมุทรสาคร ชุมพร พังงา และสงขลา ตั้งเป้าอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนกว่า 2,000 ไร่ ผ่านความร่วมมือเชิงบูรณาการในการร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน เพื่อการคืนสมดุลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน./