อาหารกลางวันในโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของแม่ครัวที่จะต้องซื้อหาวัตถุดิบจากตลาดมาประกอบอาหาร แต่สำหรับโรงเรียน 450 แห่ง ที่ร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนแล้ว ต้องบอกว่าแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป เพราะอาหารกลางวันของน้องๆนักเรียน จะถูกปรุงจากวัตถุดิบที่แทบจะไม่ต้องไปซื้อหาจากตลาด ไม่ว่าจะเป็นไข่ไก่ ปลา ผักสวนครัว ล้วนมาจากฝีมือของเกษตรกรตัวน้อยที่นอกจากการมาเรียนหนังสือในห้องเรียนปกติแล้ว พวกเขายังได้เรียน "วิชาชีวิต" ด้วยการลงมือเลี้ยงไก่ไข่ บางโรงเรียนยังมีการเลี้ยงปลา และปลูกผักไว้เป็นอาหารกลางวัน ที่นับเป็นการปูพื้นฐานการเป็นเกษตรกรผู้ผลิตอาหารตั้งแต่วัยเยาว์ โดยมีโรงเรือนไก่ไข่ บ่อปลา และแปลงผักหลังโรงเรียนเป็น "ห้องเรียนชีวิต"
กิจกรรมดีๆเช่นนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์และเหล่าพนักงาน กับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และภาคีเครือข่าย โดยมุ่งหวังให้เยาวชนไทยมีสุขภาพดี จากการรับประทานไข่ไก่ที่พวกเขาลงมือเลี้ยงด้วยตนเองเป็นอาหารกลางวัน นับจากปี 2532 เป็นต้นมา วันนี้การดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องมากว่า 25 ปี ปัจจุบันช่วยให้นักเรียนกว่า 90,000 คน ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในอีก 132 โรงเรียน และโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ อีก 318 แห่ง ได้ผ่านพ้นจากภาวะทุพโภชนา เพราะได้รับโปรตีนและสารอาหารจำเป็นจากไข่ไก่ ขณะเดียวกัน บุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 5,000 คน ยังได้รับความรู้และเข้าใจกระบวนการบริหารจัดการเลี้ยงไก่ไข่ด้วย
สุปรี เบ้าสิงห์สวย กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการ มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทฯ กล่าวว่า กว่าจะมาถึงความสำเร็จที่น่ายินดีในวันนี้ตลอดเส้นทาง ทั้งมูลนิธิฯและซีพีเอฟ ได้ร่วมกันบูรณาโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง โดยในยุคเริ่มต้นมุ่งไปที่การก่อตั้งโครงการฯ ตั้งแต่การสร้างโรงเรือนติดตั้งอุปกรณ์ให้ พร้อมมอบพันธุ์ไก่และอาหาร ควบคู่กับความรู้ด้านการเลี้ยงไก่ไข่ ต่อมาได้พัฒนาสู่การสอนให้เด็กๆมีความรู้ด้านการบริหารจัดการ โดยเฉพาะด้านการเงิน เพื่อให้สามารถจัดการไข่ไก่ให้เกิดมูลค่า เริ่มจากสอนการบริหารจัดการแบบง่ายๆ ที่ชี้ให้โรงเรียนเห็นว่า ไข่ไก่สามารถสร้างกำไรของตัวเองและเป็นเงินทุนหมุนเวียนที่จะดำเนินโครงการในรุ่นต่อไปได้ ด้วยการขายไข่ไก่เป็นอาหารกลางวันของนักเรียนผ่านสหกรณ์ เนื่องจากโรงเรียนมีงบประมาณจากกองทุนอาหารกลางวันอยู่แล้ว ส่วนไข่ไก่ที่เหลือจากการนำไปประกอบอาหารกลางวันที่หลากหลายเมนู สหกรณ์ก็จำหน่ายให้ชุมชนเกิดเงินทุนหมุนเวียนเข้าบัญชีโครงการเลี้ยงไก่ไข่ ที่มีคณะกรรมการโครงการและคณะกรรมการการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมดูแล ขณะที่เด็กๆเองยังได้รับการพัฒนาและปลูกฝังให้มีความรับผิดชอบควบคู่ไปด้วย โดยเริ่มจากการวางแผนให้นักเรียนเข้ามาเลี้ยงไก่ และต้องจัดการให้เด็กนักเรียนที่อยู่ใกล้โรงเรียนหมุนเวียนกันมารับผิดชอบ
“จากแค่เลี้ยงไก่ไข่โรงเรียนก็ต้องมาเรียนรู้ระบบบัญชี การวางแผนการตลาดระดับชุมชน บริหารเงินทุนหมุนเวียน เพื่อนำไปซื้อพันธุ์ไก่และอาหารในรุ่นต่อๆไป โดยสอนให้เด็กคิดต้นทุนการผลิตเอง สำหรับนำไปจัดการผลผลิตส่วนที่เหลือจากอาหารกลางวันนักเรียน ที่สามารถนำไปขายให้กับชุมชนในราคาที่ตลาดหรือถูกกว่าท้องตลาดแต่ต้องไม่ขาดทุน การขายให้ชุมชนนี้จึงกลายเป็นสวัสดิการที่ช่วยลดค่าครองชีพชุมชน เพราะสามารถซื้อไข่ไก่ที่สด ใหม่ สะอาด และเป็นผลผลิตของเยาวชนลูกหลานในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด” สุปรี บอก
ส่วนตัวชีวัดความสำเร็จของโครงการ สุปรี บอกว่ามีอยู่ด้วยกัน 4 มิติ ได้แก่ ด้านภาวะโภชนาการ จากการสุ่มตัวอย่างเด็กนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการพบว่ามีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้นจากการรับประทานไข่ไก่สัปดาห์ละ 3 ฟอง โดยสามารถลดปัญหาภาวะทุพโภชนาการ จากเดิมเฉลี่ยที่ 20-25 % มาอยู่ในช่วงเฉลี่ย 4-9 % จากมาตรฐานที่ไม่ควรเกิน 10 % ด้านการบริหารจัดการ มีโรงเรียนที่ร่วมโครงการฯ กว่า 90% สามารถจัดสรรรายได้เป็นค่าอาหารกลางวันนักเรียนได้ดี และยังมีรายได้สะสมจากการเลี้ยงในแต่ละรุ่นเป็นกองทุนสำหรับดำเนินการโครงการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ด้านผลการเลี้ยง พบว่าโรงเรียนมีผลการเลี้ยงใกล้เคียงกับมาตรฐานของบริษัท เมื่อเปรียบเทียบจากประสิทธิภาพการเลี้ยง และเปอร์เซ็นต์การให้ผลผลิตของแม่ไก่ และสุดท้าย ด้านทัศนคติ โดยเยาวชนและผู้ปกครองมองอาชีพเกษตรกรว่าไม่ใช่อาชีพที่ต่ำต้อย หากแต่มีคุณค่าและสามารถใช้เลี้ยงชีพได้อย่างมั่นคงถ้าดำเนินการได้ตามหลักวิชาการและมีการบริหารจัดการที่ดี
ที่สำคัญโครงการเลี้ยงไก่ไข่ยังถูกต่อยอดสู่ "หลักสูตรท้องถิ่น" ทั้งการเลี้ยงไก่ไข่และการจัดการอาชีพเกษตร เกิดเป็นองค์ความรู้ที่จับต้องได้ และยังวางเป้าหมายขยายโครงการเพิ่มในโรงเรียน 50 แห่งในแต่ละปี ซึ่งคาดว่าจะมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯครบ 500 โรงเรียน ภายในเดือนพฤษภาคม 2558 ความต่อเนื่องนี้เองที่ทำให้โครงการนี้เป็นที่ยอมรับว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาภาวะโภชนาการต่ำของเด็กไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม การันตีด้วยรางวัลโล่เกียรติคุณที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ มอบให้กับมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทฯ และซีพีเอฟ ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาสนับสนุนโครงการฯ เป็นการต่อเนื่องกว่า 25 ปี และเป็นการรับโล่รางวัลเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งถือเป็นอีกบทพิสูจน์ความสำเร็จของเจตนารมณ์ที่มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตแก่เยาวชนไทยให้มีภาวะโภชนาการที่สูงขึ้นอย่างแท้จริง./