บริษัทมุ่งมั่นดำเนินงานสนับสนุนและมีส่วนร่วมขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง และ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (UN SDGs) ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งระดับประเทศและระดับสากล
United Nations Global Compact (UN Global Compact) and Global Compact Network Thailand (GCNT)
บริษัทร่วมเป็นภาคีข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact: UN Global Compact) ดำเนินธุรกิจสอลคล้องกับแนวทางข้อตกลงแห่งสหประชาชาติ ภายใต้หลักสากล 10 ประการ และได้ร่วมเป็น 1 ใน 15 องค์กรสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT) เพื่อขับเคลื่อนภาคธุรกิจของไทยให้ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจตามหลักการดังกล่าว
คณะพัฒนาระบบการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงไทย (Thai Sustainable Fisheries Roundtable: TSFR)
บริษัททำงานร่วมกับคณะพัฒนาระบบการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงไทย (TSFR) ในนามสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ผลักดันโครงการปรับปรุงและพัฒนาการประมง (Fishery Improvement Project: FIP) สำหรับประมงอวนลากในทะเลไทยทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อยกระดับมาตรฐานการประมงในภูมิภาคอย่างเหมาะสมและยั่งยืน โดยอ้างอิงตามข้อกำหนดของมาตรฐานความยั่งยืนระดับสากล MarinTrust (ชื่อเดิม IFFO RS) สำหรับการประมงสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ (Multispecies) โดยได้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2556 เป็นต้นมา ซึ่งได้ดำเนินการประเมินช่องว่าง (Gap Analysis and Pre-Assessment) เพื่อให้ทราบสถานะปัจจุบันของการประมงไทย รวมถึงได้จัดทำแผนการปรับปรุงและพัฒนาการประมง (Fishery Action Plan: FAP) โดยได้จัดส่งแผนงานเข้าสู่กระบวนการพิจารณาและผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณาแผนการดำเนินการ Governing Body Committee (GBC) ของ MarinTrust เข้าสู่ขั้นตอนการรับรองมาตรฐาน Improver Program (IP) เป็นที่เรียบร้อยเมื่อพฤศจิกายน 2563
ปัจจุบัน อยู่ในขั้นตอนการดำเนินกิจกรรมตามแผนงาน FAP โดยได้รับงบประมาณอุดหนุนการวิจัย จากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) จำนวนกว่า 6 ล้านบาทให้กับ TSFR ในการดำเนินงานปีแรก ระหว่าง 2564-2565 (จากแผนงาน 3 ปี) เพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรม 3 ส่วน ได้แก่
การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงและการประเมินสภาวะทรัพยากรของผลจับจากการประมงอวนลากในอ่าวไทย
ผลกระทบจากการประมงอวนลากต่อความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมทางทะเลในอ่าวไทย
การวิเคราะห์พื้นที่ทำประมงอวนลากในพื้นที่อ่าวไทย
TFSR ประกอบด้วยผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำรวม 8 สมาคม ได้แก่ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมการประมงนอกน่านนํ้าไทย สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมกุ้งไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่
http://www.tsfr.in.th/)
คณะทำงาน Vung Tau Round Table of Fishmeal Producers and Feed Manufacturers (VRFF)
บริษัทได้ต่อยอดความสําเร็จและถ่ายทอดองค์ความรู้จากการดําเนินงานโครงการปรับปรุงและพัฒนาการประมงอวนลากในประเทศไทย โดยผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มของโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ โรงงานผู้ผลิตปลาป่น ภาครัฐและภาคประชาสังคมขึ้น เพื่อดําเนินโครงการปรับปรุงและพัฒนาการประมง (Fishery Action Plan: FAP) ในพื้นที่จังหวัดบ่าเสียะ-หวุงเต่า (Baria-Vung Tau) ให้ยั่งยืน และแก้ไขปัญหาการทําประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) ของภาครัฐให้สามารถปลดใบเหลืองอุตสาหกรรมการประมงในเวียดนามที่ได้รับจากสหภาพยุโรปได้
ในปี 2564 คณะทำงานฯ ได้จัดทำแผนการปรับปรุงและพัฒนาการประมง (FAP) ในพื้นที่ดังกล่าว และจัดส่งแผนงานเข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดย Governing Body Committee (GBC) ของ MarinTrust ซึ่งผ่านการอนุมัติเข้าสู่ขั้นตอนการรับรองมาตรฐาน Improver Program (IP) เป็นที่เรียบร้อยเมื่อเดือนธันวาคม 2564 (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่:
https://www.marin-trust.com/vung-tau-trawl-fip-vietnam-part-multispecies-pilot )
ความร่วมมือกับคู่ค้าโรงงานปลาป่นในพื้นที่รัฐกัว (GOA) และรัฐมหาราษฎระ (Maharashta) ประเทศอินเดีย
บริษัทได้ร่วมมือกับร่วมกับคู่ค้าโรงงานปลาป่น Omega Fishmeal and Oil Private Limited ในการดำเนินโครงการปรับปรุงและพัฒนาการประมงซาร์ดีนในพื้นที่น่านน้ำรัฐกัว (GOA) และรัฐมหาราษฎระ (Maharashta) (Indian Oil Sardine - purse seine fishing in the waters of Goa and Maharashta FIP) เพื่อแก้ไขปัญหาการลดลงของสัตว์น้ำในน่านน้ำประเทศอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์ปลาซาร์ดีน (Indian Oil Sardine) และเป็นโรงงานต้นแบบด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมประมงและปลาป่นของอินเดีย ทั้งการพัฒนาการทำประมงอย่างรับผิดชอบ และการผลิตปลาป่นอย่างมีคุณภาพ โปร่งใสและสอบย้อนกลับได้ โดยอ้างอิงตามมาตรฐาน MarinTrust
คณะทำงานได้เสนอแผนการปรับปรุงและพัฒนาการประมง (Fishery Action Plan: FAP) เข้าสู่กระบวนการพิจารณาและผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณาแผนการดำเนินการ Governing Body Committee (GBC) ของ MarinTrust เข้าสู่ขั้นตอนการรับรองมาตรฐาน Improver Program (IP) เป็นที่เรียบร้อยเมื่อเดือนตุลาคม 2562 ปัจจุบัน คณะทำงานฯ ได้ดำเนินกิจกรรมตามแผนงาน FAP เป็นปีที่ 2 รวมทั้ง มีแผนขยายการดำเนินโครงการปรับปรุงและพัฒนาการประมงอวนล้อมปลาซาร์ดีนในพื้นที่อื่นๆ ในประเทศอินเดียเพิ่มเติมอีกด้วย
คณะทำงานส่งเสริมความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล (Seafood Task Force: STF)
บริษัทร่วมกับคณะทำงานส่งเสริมความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย การสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน และโปร่งใส รวมถึงแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน และการค้ามนุษย์ให้หมดไปจากอุตสาหกรรมประมงไทย โดยการสนับสนุนการทำประมงโดยใช้เครื่องมือประมงที่ถูกกฎหมาย ซึ่งสามารถลดผลกระทบต่อระบบนิเวศจากการกวาดจับสัตว์น้ำ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบติดตามเรือประมง VMS (Vessel Monitoring System) เพื่อป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported, and Unregulated Fishing: IUU Fishing)
บริษัทได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของ STF ในการพัฒนาและจัดทำร่างหลักเกณฑ์ด้านการใช้แรงงานที่ถูกต้องเหมาะสม (Labor Practices) หลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Protocol) และหลักเกณฑ์การสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่สอดคล้องตามมาตรฐานสากล (Traceability) เพื่อใช้เป็นมาตรฐานกลางในการปฏิบัติและตรวจประเมินสมาชิก และได้ลงนามในข้อกำหนดการร่วมเป็นสมาชิก (Membership Agreement) ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา รวมถึงผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกรอบกฎหมายและระเบียบข้อบังคับสำหรับอุตสาหกรรมอาหารทะเล อันครอบคลุมถึงด้านแรงงานและด้านสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศกับรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง
บริษัทได้ร่วมก่อตั้งคณะทำงานส่งเสริมความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 และร่วมดำเนินงานกับพันธมิตรทางธุรกิจอาหารทะเลกว่า 50 องค์กร ได้แก่ ผู้ซื้อรายใหญ่และธุรกิจค้าปลีกจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรป และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โรงงานผู้ผลิตอาหารแปรรูปรายใหญ่ในประเทศไทย ห้องเย็นและผู้ผลิตอาหารกุ้ง องค์กรอิสระจากนานาประเทศทั่วโลก (NGOs) องค์กรที่ให้บริการด้านการตรวจสอบและการให้การรับรองมาตรฐานต่างๆ ตลอดจน ภาครัฐ ชาวประมง เจ้าของเรือประมงพาณิชย์ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่
https://www.seafoodtaskforce.global/)
ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาล แรงงานประมง จังหวัดสงขลา (The Fishermen Life Enhancement Center: FLEC)
ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาล แรงงานประมง จังหวัดสงขลา (FLEC) ถูกก่อตั้งเพื่อขจัดปัญหาแรงงานผิดกฎหมายในเรือประมง ควบคู่ไปกับพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานประมงและครอบครัว ด้วยการให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ตลอดจนสร้างผู้นำความคิดและอบรมให้ความรู้แก่แรงงานประมง เพื่อไม่ให้ถูกล่อลวงไปเป็นแรงงานทาส นอกจากนี้ ยังจัดพื้นที่อบรมอาชีพให้แก่สตรีและห้องเรียนรู้ให้แก่เด็กก่อนวัยเรียนด้วย
ซีพีเอฟร่วมกับอีก 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย องค์กรสะพานปลา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปภัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา (บ้านสุขสันต์) ก่อตั้ง FLEC ตั้งแต่ปี 2558
ในปี 2564 บริษัทได้พิจารณาให้การสนับสนุนงบประมาณและการดำเนินงานของศูนย์ฯ ในระยะที่ 2 ต่อเนื่อง 5 ปี (2564-2568) ร่วมกับ 4 หน่วยงานเดิมและอีก 2 หน่วยงานใหม่ ได้แก่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด เพื่อดำเนินกิจกรรมความร่วมมือเพื่อขจัดปัญหาขยะทางทะเลและเป็นต้นแบบของการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ดังเช่น การเก็บข้อมูลและบริหารการจัดการขยะทะเลครบวงจร (Closing the loop) การจัดการขยะและการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ขยะตามหลักการ Circular Economy เป็นต้น รวมถึง พัฒนาโครงการ/กิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างอาชีพแก่แรงงานประมงและครอบครัว
Seafood Business for Ocean Stewardship (SeaBOS)
บริษัทร่วมลงนามเป็นสมาชิกในกลุ่มความร่วมมือ Seafood Business for Ocean Stewardship หรือ SeaBOS เพื่อความร่วมมือระดับสากลในการพิทักษ์มหาสมุทรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล สู่เป้าหมายการอนุรักษ์ระบบนิเวศและการผลิตอาหารทะเลคุณภาพสำหรับมนุษย์ด้วยความรับผิดชอบอย่างยั่งยืน โดยมีข้อตกลงร่วมกันที่จะประยุกต์ใช้กฎระเบียบสากลตลอดห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมการทำประมงที่ถูกกฎหมาย ขจัดแรงงานที่ผิดกฎหมาย พัฒนาระบบทวนสอบย้อนกลับ ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการใช้พลาสติก เป็นต้น ผ่านการลงทุนร่วมในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี
SeaBOS ริเริ่มโดยมหาวิทยาลัยสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารทะเล 10 บริษัท ซึ่งมีมูลค่าตลาดอาหารทะเล 80% ของโลก ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของความมั่นคงและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล
ในปี 2564 ซีพีเอฟมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนคณะทำงานด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งเป็น 1 ใน 6 คณะทำงานของ SeaBOS โดยได้แบ่งปันประสบการณ์การดำเนินงานของซีพีเอฟและให้คำแนะนำสำหรับการจัดทำแผนงานและแนวปฏิบัติในการใช้ยาต้านจุลชีพในภาคการผลิตสัตว์น้ำอย่างสมเหตุสมผล มีความรับผิดชอบและยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในอาหารอย่างยั่งยืน อีกทั้ง ยังดำเนินธุรกิจโดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าจากการทำประมงผิดกฎหมายและการใช้แรงงานทาสในการดำเนินงานโดยตรงของบริษัทตามข้อตกลงร่วมของกลุ่มบริษัทสมาชิก (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่
https://seabos.org/)
Global Dialogue on Seafood Traceability (GDST)
บริษัทมีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของ Global Dialogue on Seafood Traceability (GDST) ซึ่งมีวัตถุประสงค์การจัดตั้งเพื่อร่วมกันอภิปราย แลกเปลี่ยน ขับเคลื่อนและจัดทำระบบการตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล โดยขณะนี้ GDST มีสมาชิกมากกว่า 60 รายจากทั่วโลกในอุตสาหกรรมอาหารทะเลและห่วงโซ่อุปทาน เช่น บริษัทแปรรูปอาหารทะเล, บริษัทผู้ค้าปลีก, บริษัทเทคโนโลยีการจัดการข้อมูลและบริษัทเกี่ยวกับการติดตามการทำประมงและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ในปีที่ผ่านมา GDST ได้ประกาศความสำเร็จในการพัฒนามาตรฐานและระบบทวนสอบย้อนกลับ (GDST 1.0 Standard) และเผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อเดือนมีนาคม 2563 และได้ดำเนินงานต่อเนื่องในการกำหนดกรอบการดำเนินงานผ่านการจัดตั้งคณะทำงาน (Working Group) และร่วมหารือกับภาคส่วนต่างๆตลอดห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารทะเล โดยบริษัทมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำคณะทำงานและยังเป็นผู้นำร่องการทดลอง (Pilot Test) การใช้ระบบทวนสอบย้อนกลับของ GDST ตลอดห่วงโซ่อุปทานกุ้ง ตั้งแต่เรือประมง โรงงานปลาป่น โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเพาะเลี้ยง ฟาร์มเลี้ยง และโรงงานแปรรูปกุ้ง
องค์กรสากลด้านมาตรฐานความยั่งยืนอาหารทะเล (Global Sustainable Seafood Initiative: GSSI)
Global Sustainable Seafood Initiative: GSSI เป็นหน่วยงานกลางสากลที่ดำเนินการส่งเสริมการรับรองมาตรฐานห่วงโซ่อาหารทะเลให้มีความเท่าเทียมกันผ่านขั้นตอนเทียบเคียง (Bench Marking) ข้อกำหนดมาตรฐานความยั่งยืนที่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) นอกจากนี้ GSSI ยังมุ่งหน้าผลักดันเพิ่มรายการมาตรฐานอื่นเพื่อนำมาเทียบเคียงทั้งในด้านกระบวนการผลิต สิ่งแวดล้อม และประเด็นทางด้านแรงงานอันเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจในการตรวจสอบของลูกค้าชั้นนำก่อนการซื้อขาย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.ourgssi.org/)
ปัจจุบัน GSSI ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก อันจะเห็นได้จากรายชื่อผู้ซื้อและผู้ผลิตชั้นนำที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกที่เพิ่มขึ้นกว่า 70 บริษัททั่วโลก ทั้งนี้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จํากัด (มหาชน) ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อการพัฒนามาตรฐานให้สอดคล้องกับบริบทของภาคธุรกิจและในภาพของประเทศตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา
โครงการปฏิรูประบบการผลิตอาหารและการบริโภคที่ยั่งยืน และสุขภาพที่ดี (Food Reform For Sustainability and Health: FReSH)
เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยซีพีเอฟ ได้ร่วมเป็นหนึ่งใน 35 บริษัทชั้นนำระดับโลก ดำเนิน “โครงการปฏิรูประบบการผลิตอาหารและการบริโภคที่ยั่งยืน และสุขภาพที่ดี (Food Reform for Sustainability and Health: FReSH)” ซึ่งแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่ สุขภาพและโภชนาการ (Health and Sustainable Diet) การผลิตที่ยั่งยืน (Food Production) การบริโภคที่ยั่งยืน (Food Consumption) การสูญเสียอาหารและอาหารที่ถูกทิ้ง (Food Loss and Waste) ตลอดจนการติดตามผลและรายงานผลการดำเนินโครงการ (Performance and Reporting)
โดยในปี 2564 ได้ร่วมจัดตั้งคณะทำงานย่อย Responsible Meat Initiative (ReMI) ภายใต้โครงการปฏิรูประบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนเพื่อสุขภาพที่ดี (Food Reform for Sustainability and Health: FReSH) มีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 14 องค์ชั้นนำทั่วโลก โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคโปรตีนอย่างมีความรับผิดชอบตลอดห่วงโซ่คุณค่าอาหารรวม 11 ด้าน และ 4 ใน 11 ด้านเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเลี้ยงสัตว์อย่างมีความรับผิดชอบ ได้แก่ สวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) การแทรกแซงการใช้ยาต้านจุลชีพและสุขภาพสัตว์ (Antimicrobial Interventions and Animal Health) โภชนาการสัตว์ (Animal Nutrition) และความต้องการเนื้อหมูที่มีการผลิตอย่างรับผิดชอบ (Demand for Responsibly Produced Pork) (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่
https://responsiblemeat.org/)
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมจัดตั้งคณะทำงานย่อย “การบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ (Positive Consumption)” ภายใต้โครงการปฏิรูประบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน (Food Reform for Sustainability and Health: FReSH) ขึ้น โดยมีเป้าหมายในการร่วมส่งเสริมโภชนาการที่ดีและร่วมลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสื่อสารการตลาดอย่างมีความรับผิดชอบตลอดห่วงโซ่คุณค่าในอุตสาหกรรมอาหาร (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่
https://www.wbcsd.org/Programs/Food-and-Nature/Food-Land-Use/FReSH/Positive-Consumption)
มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาการประมงเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Fisheries Research And Development Institute, SFRD)
มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาการประมงเพื่อความยั่งยืน ก่อตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาภาคการประมงทั้งการจับสัตว์น้ำจากธรรมชาติ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการแปรรูปสัตว์น้ำไปสู่ความยั่งยืน โดยอาศัยการวิจัย พัฒนา เชื่อมโยงและเติมเต็มภารกิจหรือกิจกรรมในด้านการจัดการประมง การจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ การพัฒนารูปแบบการประมง การจัดทำโครงการและขยายขอบเขตโครงการไปยังชุมชน ซึ่งร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรที่เกี่ยวข้องด้านการประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิ
ซีพีเอฟได้ส่งผู้แทนบริษัทเข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาการประมงเพื่อความยั่งยืน และให้การสนับสนุนในการดำเนินโครงการนำร่องการบริหารจัดการขยะทะเล ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดจาก “โครงการทะเลสะอาด” (Catch the Trash Project) ที่บริษัทร่วมกับสมาคม/องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สถาบันการศึกษาและภาคประชาสังคม ส่งเสริมและรณรงค์ให้ชาวประมงลดการทิ้งขยะลงสู่ทะเลและเก็บขยะจากกิจกรรมประมง ทั้งขยะจากการอุปโภคบริโภคบนเรือและขยะที่ติดมากับเครื่องมือประมงกลับขึ้นฝั่ง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 เป็นต้นมา
เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network: TRBN)
บริษัทเข้าร่วมเป็นหนึ่งในเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมมือกันสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับประเทศไทย ครอบคลุมการส่งเสริมสนับสนุนเรื่องสำคัญ 3 เรื่องใหญ่ คือ ธุรกิจที่ปล่อยมลพิษต่ำ ธุรกิจที่เปิดโอกาสอย่างทั่วถึง และธุรกิจที่มีธรรมาภิบาล ในโครงการฯ จะแบ่งออกเป็นกิจกรรมในเรื่องการตระหนักถึงความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance: ESG) ซึ่งบริษัทได้มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมในด้าน Circular Economy และ Climate Change ของโครงการ
TRBN ประกอบด้วย 9 องค์กรได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม SB ประเทศไทย และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และเป็นเครือข่ายภายใต้โครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก