โดย รศ.ดร.กานต์ สุขสุแพทย์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถานการณ์เชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่กำลังระบาดอย่างหนักในจีนและเวียดนามยังคงมีแนวโน้มระบาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งสองประเทศยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ด้วยเหตุผลสำคัญคือไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกัน และหากเชื้อยังคงแพร่กระจายอยู่เช่นนี้ท่ามกลางโลกไร้พรมแดน ที่ทั้งคน สัตว์ และพาหนะ สามารถเป็นพาหะนำเชื้อแพร่ไปได้ทั่วโลกนั้น....แค่คิดก็น่าสะพรึงยิ่งนัก
จริงอยู่ เชื้อนี้ไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์หรือสัตว์ชนิดอื่น คนยังคงบริโภคหมูได้อย่างปลอดภัย แต่เมื่อใดที่เกิดการแพร่ระบาด จะต้องทำลายหมูในฟาร์มลงทั้งหมดเพื่อจำกัดวงแพร่กระจายซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณหมูขาดแคลน ระดับราคาจะดีดตัวสูงขึ้น และอาจแพงเป็นประวัติการณ์หากไม่มีหมูเพื่อการบริโภคอีกต่อไป
หนทางที่ดีที่สุดของประเทศไทยคือ การป้องกันทุกวิถีทาง ไม่ให้เชื้อดังกล่าวกล้ำกรายเข้ามายังอาณาเขตของเรา พร้อมๆ ไปกับการเรียนรู้ความล้มเหลวในการบริหารจัดการแก้ปัญหา ASF ของสองประเทศ และวางแผนเพื่อเตรียมพร้อมหากเกิดวิกฤต ASF ในบ้านเราลองเปรียบเทียบการเลี้ยงหมูและวิธีจัดการ ASF ในเวียดนาม จีน และไทย เผื่อจะเป็นประโยชน์ในการช่วยป้องกันมหันตภัยนี้ได้บ้างไม่มากก็น้อย
ประการแรก : เวียดนามและจีน มีผู้เลี้ยงหมูรายย่อยเป็นจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มเกษตรกรเหล่านี้ไม่มีระบบป้องกันโรคที่ได้มาตรฐาน ไม่มีการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดจากสัตวแพทย์หรือสัตวบาลประจำฟาร์ม ทำให้การควบคุมดูแลเป็นไปอย่างยากลำบาก ขณะที่ในประเทศไทยอาจได้เปรียบกว่า ตรงที่บ้านเรามีผู้เลี้ยงหมูรายย่อยหรือเลี้ยงหมูหลังบ้านค่อนข้างน้อย ฟาร์มส่วนใหญ่ในประเทศเป็นฟาร์มมาตรฐานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ ซึ่งมีระบบการป้องกันโรคในระดับที่ดี นับเป็นจุดแข็งที่น่าจะทำให้การป้องกันและควบคุมสถานการณ์เป็นไปได้ดีกว่า
ประการต่อมา : ช่วงแรกที่พบการระบาดในประเทศจีน รัฐบาลจีนได้จัดเตรียมงบประมาณฉุกเฉินสำหรับเยียวยาเกษตรกรทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในช่วงต้น แต่สุดท้ายเมื่องบประมาณหมดลง ขณะที่ราคาหมูในท้องตลาดสูงขึ้น ทำให้ไม่สามารถจูงใจเกษตรกรได้อีกต่อไป และทยอยเทขายหมูออกสู่ตลาดส่งผลให้เหตุการณ์บานปลายขณะที่เวียดนามเองไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจนให้แก่เกษตรกร เกษตรกรจึงเร่งขายหมูออกเช่นเดียวกับจีน โดยไม่แจ้งทางการ สถานการณ์จึงเลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว
เหตุการณ์นี้ทำให้รู้ว่านอกเหนือจากการป้องกันทุกรูปแบบแล้ว รัฐบาลไทยต้องเตรียม งบประมาณฉุกเฉินในจำนวนที่มากพอ เพื่อเยียวยาเกษตรกรที่พบโรค สร้างแรงจูงใจให้เขางดขายหมูที่อาจติดเชื้อ พร้อมๆ กับให้ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรทุกคนอย่างทั่วถึง และต้องสร้างจิตสำนึกการคำนึงถึงส่วนรวมด้วย เชื่อว่าจะช่วยจำกัดบริเวณการพบเชื้อได้
ประการที่ 3 : การที่กรมปศุสัตว์ออกมาตรการเข้ม ห้ามนำเข้าชิ้นส่วนหมูและผลิตภัณฑ์จากทุกประเทศอย่างเด็ดขาดนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และควรตรวจสอบสัมภาระของนักท่องเที่ยวให้เข้มงวดรัดกุม รวมถึงควรประชาสัมพันธ์แจ้งไปยังทุกประเทศอย่างเป็นทางการ เพื่อให้นักท่องเที่ยวรับทราบ คล้ายๆ กับการห้ามนำของเหลวขึ้นเครื่องหรือห้ามโหลดเพาเวอร์แบงก์ไว้ใต้เครื่อง เป็นต้น
ประการที่ 4 : การสร้างจุดฆ่าเชื้อพาหนะทุกคันที่ผ่านด่านชายแดนทุกด่าน ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม แต่ก็ขึ้นอยู่กับความเคร่งครัดของเจ้าหน้าที่ประจำด่าน ซึ่งต้องมีความรู้และตระหนักถึงมหันตภัย ASF ให้มาก ที่สำคัญคือจำเป็นต้องปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็งผลัดเวรกันตลอด 24 ชั่วโมง
ประการที่ 5 : อีกทางที่ดีที่สุด ในเมื่อเชื้อดังกล่าวยังไม่พบในกัมพูชาและลาว ไทยจึงควรใช้กัมพูชาและลาวเป็นกำแพงป้องกัน ไม่ให้เชื้อ ASF เข้าใกล้ไทยมากไปกว่านี้ โดยกรมปศุสัตว์ของไทยควรยื่นมือเข้าปรึกษาหารือและร่วมช่วยเหลือสองประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
เชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรไม่ใช่เพียงน่ากลัวสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูหรืออุตสาหกรรมหมูทั้งระบบ แต่มันหมายถึงเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องได้รับผลกระทบครั้งใหญ่ ซ้ำเติมปัจจัยลบด้านอื่นๆ ที่มีมากมายอยู่แล้วในปัจจุบัน
มาช่วยกันครับ ลำพังในฐานะนักท่องเที่ยว ก็งดนำหมูและผลิตภัณฑ์เข้ามาเป็นของฝากของขวัญกัน และโปรดให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบทุกครั้ง ไม่ใช่เพื่อใคร...ก็เพื่อเศรษฐกิจประเทศไทยของเราทุกคน