เอกชนไทยสนับสนุนรัฐ ร่วมแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาอย่างยั่งยืนตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พร้อมปรับนโยบายใช้ยาต้านจุลชีพ ซึ่งรวมถึงยาปฏิชีวนะอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาในประเทศไทยลงร้อยละ 50 ภายในปี 2564
ในการประชุมระดับโลกด้านการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพและการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในสัตว์ ครั้งที่ 2 ขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ที่ประเทศ โมร็อกโก เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นาย กฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเล็งเห็นที่ความสำคัญของปัญหาเชื้อดื้อยา และได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 – 2564 โดยมีเป้าหมายลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาร้อยละ 50 ลดการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์ร้อยละ 20 และในสัตว์ลดลงร้อยละ 30 ภายในปี 2564 และได้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรับผิดชอบ เพื่อให้แผนยุทธศาสตร์สำเร็จลุล่วง
“ปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาที่ซับซ้อน การแก้ไขปัญหาจึงต้องทำอย่างครอบคลุม และอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน” นายกฤษฎา กล่าว
ในปีที่ผ่าน ภาคเอกชนไทยหลายรายมีการปรับตัวเพื่อสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์นี้ เช่น เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด หรือ ซีพีเอฟ ซึ่งได้ประกาศนโยบาย “วิสัยทัศน์ระดับโลกด้านการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์” ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 และจะดำเนินการกับทุกสาขาของบริษัททั่วโลกภายในปี 2563 เพื่อเป็นหลักประกันอาหารปลอดภัยและมีคุณภาพอย่างยั่งยืน โดยจะใช้ยาต้านจุลชีพอย่างมีความรับผิดชอบ เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ
ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ได้จัดลำดับความสำคัญของนโยบายด้านการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ อาทิ 1.) ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของสัตวแพทย์และใช้เพื่อการรักษาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น 2.) หลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านจุลชีพประเภทที่ใช้ทั้งในคนและสัตว์ (share-class antimicrobials) และใช้เมื่อจำเป็นอย่างระมัดระวัง โดยจะเลือกใช้ยาสำหรับสัตว์เป็นลำดับแรก 3.) ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเพื่อหาแนวทางใหม่ที่ดีกว่าในการดูแลสัตว์ตามหลักการสวัสดิภาพสัตว์ (animal welfare) อันจะเป็นการลดความจำเป็นในการใช้ยาต้านจุลชีพ เป็นต้น โดยบริษัทจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการปกป้องสุขภาพของคน สัตว์ และสังคมโลก อย่างเหมาะสม ตามหลักการ “สุขภาพหนึ่งเดียว” (One health)
นสพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทใช้หลักความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) และหลักสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อลดการใช้ยาต้านจุลชีพในเชิงรุก ซึ่งนโยบายสวัสดิภาพสัตว์ที่บริษัทประกาศใช้ในปีนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้สัตว์มีความสุขสบายตลอดการเลี้ยง แต่ยังช่วยลดโอกาสเจ็บป่วยของสัตว์ และสามารถลดการใช้ยาต้านจุลชีพได้โดยตรง
“ซีพีเอฟมีแนวทางการนำหลักการ Five Freedom of Animal Welfare ซึ่งเป็นหลักสวัสดิภาพสัตว์ที่ทั่วโลกให้การยอมรับมาประยุติใช้ในกระบวนการเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้สัตว์มีความสุขสบาย และสุขภาพแข็งแรงตลอดการเลี้ยง จึงไม่มีความจำเป็นในการใช้ยาต้านจุลชีพ” นสพ.ดำเนิน กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทยังได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ “Benja Chicken” ซึ่งทำจากไก่ Cage-free สุขภาพดี เลี้ยงด้วยข้าวกล้อง และไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ หรือฮอร์โมนตลอดการเลี้ยงดู โดยได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลกจาก NSF International (National Sanitation Foundation) ที่ตรวจสอบและรับรองว่าปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะ 100% เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ และห่วงใยความปลอดภัย
ในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยามากกว่าสามหมื่นรายต่อปี หากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยองค์กรอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่าจะมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกถึง 10 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2593