ผู้บริโภคปัจจุบันให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารปลอดภัย และยังต้องมีกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกัน ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะด้านการเลี้ยงสัตว์ หันมาเอาจริงเอาจังกับการเลี้ยงสัตว์ด้วยกระบวนการที่ปลอดภัย ปลอดสาร ภายใต้กระบวนการที่ต้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังเช่น "ประชุมฟาร์ม" ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ของสองสามีภรรยาที่สู่ชีวิตไม่ย่อท้อกับอุปสรรคอย่าง "ประชุม-อรพิน โกสินทร์" ที่เคยล้มมาแล้วจากการเลี้ยงหมูแบบอิสระเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
โดยแรกเริ่มนั้นสองสามีภรรยา ทำฟาร์มพ่อแม่พันธุ์เพื่อเพาะลูกหมูขาย ครั้งแรกเลี้ยง 20 แม่ ต่อมาขยายเป็น 200 แม่ ส่วนการตลาดนั้นเขาทำเอง ซึ่งช่วงแรกเขาถือว่าการเลี้ยงหมูเป็นอาชีพที่ดีมากเพราะราคาหมูค่อนข้างดี จนกระทั่งช่วงที่เกิดโรคระบาดในพื้นที่ และด้วยการที่เลี้ยงหมูในโรงเรือนเปิด จึงโดนหางเลขไปด้วย ช่วงนี้เองที่การตลาดเริ่มยากขึ้นเพราะเกษตรกรเลี้ยงหมูขุนทยอยเลิกเลี้ยงไป เพราะขาดทุนจากภาวะโรคระบาด ลูกหมูที่ประชุมผลิตได้ก็ขายไม่ออก จึงจำเป็นต้องเลิกกิจการเลี้ยงหมูไปในที่สุด
"เมื่อต้องเจอกับปัญหาทั้งเรื่องโรคระบาด และที่สำคัญคือปัญหาเรื่องตลาด ยอมรับเลยว่า คนเลี้ยงรายย่อยก็อยู่ยาก เพราะต้องรับความเสี่ยงทั้งหมด ตอนที่เลี้ยงอิสระเราก็ซื้อหมูแม่พันธุ์ และอาหารหมูจากซีพี เพราะมั่นใจในคุณภาพ พอมีปัญหาเรื่องโรคกับตลาดก็เลยคุยกับทีมงานของซีพีเอฟ เขาจึงเสนอแนวทางว่ามาร่วมโครงการกับบริษัท พอได้ศึกษาข้อมูลโครงการอย่างละเอียดพบว่า ระบบนี้ไม่เสี่ยงเหมือนตอนที่เลี้ยงอิสระ จากนั้น จึงตัดสินใจเข้ามาเลี้ยงหมูขุนกับซีพีเอฟเมื่อ ปี 2551"
ประชุม บอกถึงที่มาของการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรขุนแก่เกษตรกรรายย่อย หรือโครงการฝากเลี้ยงกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ
ประชุม กล่าวอีกว่า ที่ฟาร์มเลี้ยงหมูขุน 1,700 ตัวใน 3 โรงเรือน โดยการเลี้ยงหมูที่นี่จะเน้นการเลี้ยงให้หมู อยู่สบาย และคอยดูแลหมูอย่างใกล้ชิด จึงสังเกตเห็นหมูที่เริ่มป่วยได้เร็ว ทำให้สามารถแยกหมูมาดูแลเป็นพิเศษได้ และยังเปิดเผยเคล็ดลับการเลี้ยงหมูให้โตเร็วว่า
"การเลี้ยงหมูต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลหมูในทุกๆช่วง เรียกง่ายๆ ว่าเลี้ยงดูเหมือนลูก หมูเล็กๆ ก็เหมือนเด็กเล็กๆ ที่ต้องประคบประหงมให้ดี แล้วเราไม่ต้องห่วงเรื่องพันธุ์หมูเพราะบริษัทพัฒนาพันธุ์มาดีแล้ว ทำให้หมูเราเติบโตได้ดี เมื่อประกอบกับการได้รับอาหารที่มีโภชนาการตามความต้องการของหมูแต่ละอายุ และเลี้ยงหมูในโรงเรือนปิดที่ปรับอากาศได้ รวมถึงการเลี้ยงที่มีการดูแลทุกขั้นตอนอย่างดี มีการควบคุมโรคเข้มงวด ทั้งหมดนี้ ทำให้หมูขุนที่เลี้ยงเติบโตได้ดีโดยที่ไม่ต้องอาศัยสารเร่งเนื้อแดงหรือยาปฏิชีวนะ เพราะทุกอย่างช่วยเสริมกันเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ตลอดการเลี้ยงก็สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ด้วยว่า มีขั้นตอนอย่างไร ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ในมาตรฐานของหมูที่เราผลิตได้" ประชุม บอก
ด้าน อรพิน เสริมว่า เนื่องจากเริ่มต้นจากเลี้ยงหมูกันเองก่อนมาตั้งแต่แรก ทำให้รู้ว่าหมูช่วงไหน ต้องการอุณหภูมิเท่าไหร่ กินอาหารเท่าไหร่ถึงจะโตดี เราดูแลเอาใจใส่เหมือนกับเลี้ยงลูก อย่างช่วงที่บริษัทส่งลูกหมูเข้าเล้าใหม่ๆตอน 1-2 สัปดาห์แรก ถือว่า เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดเนื่องจากลูกหมูเพิ่งหย่านมก็จะไม่ค่อยกินอาหาร เราก็ทำอาหารหมูผสมน้ำ หรืออาหารโจ๊ก เพื่อกระตุ้นให้ลูกหมูได้กินอาหารเป็นเร็วที่สุด ถึงแม้ตอนนี้จะมีลูกจ้างเพิ่มขึ้นเพราะเลี้ยงหมูมากขึ้น แต่ตนเองก็ยังเข้ามาดูแลเล้าวันละ 4-5 รอบ ตอนเช้าอรพินก็ชอบเข้าเล้าไปเปิดไฟเพื่อกระตุ้นให้หมูลุกขึ้นมากินอาหาร และก็สอนให้ลูกน้องทำแบบนี้เหมือนกัน
นอกจากนี้ อรพิน บอกว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูมีการพัฒนาขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ของรูปแบบการเลี้ยงที่เปลี่ยนจากโรงเรือนแบบเปิดมาเป็นโรงเรือนระบบปิด หรืออีแวป รวมถึงการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน ด้วยการจัดทำระบบบำบัดของเสียภายในฟาร์มด้วยไบโอแก๊ส รูปแบบที่เปลี่ยนไปนี้ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานฟาร์มหมู ที่ทั้งช่วยลดปัญหา กลิ่นและแมลงวันรบกวน ตลอดจนช่วยให้ฟาร์มหมูอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
การให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวทำให้ประชุมฟาร์ม ไม่เพียงประสบความสำเร็จในอาชีพการเลี้ยงหมูขุนมาร่วม 10 ปีเท่านั้น ที่นี่ยังถือเป็นฟาร์มตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจที่มีต่อ สิ่งแวดล้อมและชุมชน จนได้รับคัดเลือกให้เป็นฟาร์มรักษ์สิ่งแวดล้อมระดับ 4 ดาว ประจำปี 2556 ในโครงการฟาร์มรักษ์สิ่งแวดล้อม ของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
"แม้ฟาร์มหมูจของเราจะเลี้ยงหมูขุนมากถึง 17,000 ตัวก็ตาม แต่ที่ฟาร์มก็ให้ความสำคัญกับการจัดการฟาร์มให้ได้ตามมาตรฐานที่กรมปศุสัตว์กำหนด ที่สำคัญคือการปรับปรุงฟาร์มให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การเลี้ยงหมูในระบบปิด การทำระบบไบโอแก๊ส มีระบบบำบัดน้ำเสียที่ดี และยังนำน้ำจากบ่อบำบัดบ่อสุดท้ายที่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดมาใช้ประโยชน์ด้วยการใช้รดน้ำต้นไม้ ที่ปลูกไว้จนเต็มพื้นที่ว่างภายในฟาร์ม ร่วมกับ การวางผังฟาร์มที่ดีด้วยการแยกส่วนการเลี้ยง และบ้านพักพนักงานออกจากกัน มีการป้องกัน และควบคุมโรคอย่างเข้มงวดตามที่สัตวแพทย์และสัตวบาลแนะนำ" อรพิน บอก
สำหรับข้อดีของการเลี้ยงหมูกับโครงการของบริษัทนั้น อรพิน บอกว่า ตนเองรับผิดชอบลงทุนในส่วนของโรงเรือน ที่ได้มาตรฐาน ค่าไฟ ค่าน้ำ และค่าแรงงาน ส่วนลูกหมู วัตถุดิบ อาหาร และวัคซีนป้องกันโรค บริษัทเป็นผู้จัดหามาให้ โดยจะมีสัตวแพทย์และสัตวบาลมาคอยดูแล รวมถึงเป็นตลาดรองรับผลผลิตทั้งหมดให้ สำหรับสิ่งที่เกษตรกรต้องทำคือ การเลี้ยงหมูให้ดีที่สุด เพื่อให้หมูแข็งแรง ปลอดจากโรค ที่สำคัญสิ่งที่ป้าอรพินยึดถือมาตลอดคือ ต้องมีความซื่อสัตย์ซึ่งกันและกัน ดูแลหมูในฟาร์มทุกอย่างเหมือนเป็นของตัวเองแม้ว่าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตจะเป็นของบริษัท ก็ต้องดูแลเอาใจใส่อย่างเต็มที่ เพราะเธอเชื่อว่าคนที่ ไม่ประสบความสำเร็จ คือคนที่จัดการไม่ดี ไม่เสมอต้นเสมอปลาย
อรพิน เชื่อว่า การเลือกทางเดินอาชีพใหม่ของเธอและสามีในวันนั้นเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะก่อนหน้าที่จะมาเลี้ยงหมู พวกเขาได้ทำอาชีพอื่นๆมานับไม่ถ้วน ทั้งค้าขาย ทำไร่ทำนา เลี้ยงไก่ แต่ก็ไม่สำเร็จอย่างที่คิดไว้ จนเมื่อมาเลี้ยงหมูกับบริษัทและได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงหมู รวมถึงเทคนิควิชาการใหม่ๆอยู่เสมอ จึงประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้ ด้วยรายได้หลังหัก ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อปี
"การเข้าร่วมโครงการคอนแทรคฟาร์มกับซีพีเอฟ ทำให้ป้าสามารถส่งลูกๆให้เรียนสูงๆอย่างที่พวกเขาหวัง ความเป็นอยู่และฐานะทางบ้านก็ดีขึ้น ทุกครั้งที่ได้เงินจากการเลี้ยงหมู ป้าจะเอาใบเสร็จรับเงินมาให้ลูกทั้งสองดู ทำให้ลูกๆ เห็นและรับรู้มาตลอดว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง และได้เงินมากกว่าเป็นลูกจ้าง ปัจจุบันลูกสาวคนแรกมาช่วยดูแลกิจการของป้า และกำลังขยายโรงเรือนอีก 3 หลัง เลี้ยงหมูขุนเพิ่มอีก 2,100 ตัว เพื่อให้ลูกชายคนที่สองที่จบปริญญาตรี มาได้ 2 ปีแล้ว และกำลังทำงานหาประสบการณ์อยู่กับบริษัทเอกชนในกรุงเทพ จะได้กลับมาช่วยสืบต่ออาชีพที่เราวางรากฐานไว้ต่อไป" อรพิน กล่าวทิ้งท้าย
cr.กรุงเทพธุรกิจ
http://www.bangkokbiznews.com/pr/detail/9007