สถานการณ์ส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไทยปี 2557 และแนวโน้มปี 2558
โดย ดร. พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย
ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าสัตว์น้ำในลำดับต้นของโลกโดยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าในหมวดสินค้ากุ้ง หมึก ปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทูน่ามากกว่าสามแสนล้านบาท ถือว่าเป็นสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ทำรายได้เข้าสู่ประเทศในอันต้นของประเทศ ปัจจุบันการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำมีปัญหาในระดับวิกฤติที่ต้องเร่งหาแนวทางแก้ไขโดยเร่งด่วน เห็นได้จากสินค้ากุ้งซึ่งไทยเคยส่งออกและมีรายได้ 107,277 ล้านบาท แต่มูลค่าการส่งออกที่สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งคาดการณ์ไว้ตลอดทั้งปี 2557 จะเหลือเพียง 60,4800 ล้านบาทเท่านั้น
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ประธานสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย ประธานคณะกรรมการประมงและแรงงาน กรรมการและรองเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสาเหตุหลักจนเข้าขั้นวิกฤติในปีนี้คือ
1. ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบกุ้ง เนื่องจากผลกระทบที่เกิดจากโรคระบาด EMS
2. วัตถุดิบที่จับจากทะเลมีปริมาณจำกัด โดยมีสาเหตุจากทรัพยากรประมงเริ่มลดน้อยลง และสหภาพยุโรปเข้มงวดในเรื่องการบังคับมาตรการ IUU อย่างจริงจัง ทำให้วัตถุดิบที่จับจากทะเลทั้งในน่านน้ำและนอกน่านน้ำขาดแคลน
3. สหภาพยุโรปยกเลิกการช่วยเหลือประเทศไทย โดยเริ่มตัดสิทธิ GSP สำหรับสินค้าประมงในหมวด 0306 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นมา ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียนรวมถึงประเทศคู่แข่งในภูมิภาคอื่นยังคงได้สิทธิพิเศษทางภาษี ส่งผลให้ศักยภาพการแข่งขันของไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัดในตลาดสหภาพยุโรป
4. ค่าเงินในประเทศคู่ค้าหลักทั้งสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น อ่อนค่าลง ทำให้กระทบต่อราคาซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของไทยจะค่อยเริ่มดีขึ้นเนื่องจาก
1. การแก้ไขปัญหาโรคระบาด EMS โดยกรมประมงเห็นผลอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องของการปรับปรุงสภาพบ่อเลี้ยง การปรับปรุงลูกพันธุ์กุ้งให้แข็งแรง มีการผลิตน้ำชีวภาพเพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยง นับว่าเป็นความสำเร็จอย่างยิ่ง ประกอบกับการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อนุมัติงบพิเศษจำนวน 200 ล้านบาทให้กรมประมงทันทีเมื่อได้รับทรบปัญหา ทำให้
กรมประมงสามารถจัดหาพ่อแม่พันธุ์กุ้งนำเข้ามาในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ที่ผ่านมา เพื่อผลิตลูกพันธุ์กุ้งคุณภาพแจกจ่ายเกษตรกร จากนั้น พณฯ พลเอกประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี หม่อมราชวงษ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ร่วมด้วยพลเอกฉัตรชัย สาริกายะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญในภาคเศรษฐกิจได้สนับสนุนแนวทางและมาตรการต่างๆ เพื่อให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง) สามารถแก้ไขปัญหากุ้งได้อย่างเกิดประสิทธิภาพ และโดยความร่วมมือของบริษัทเอกชนผู้ผลิตและเพาะเลี้ยงกุ้งรายใหญ่คือ ซีพีเอฟ ได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในเรื่องของวิชาการเพื่อปรับปรุงพันธุ์กุ้งให้เหมาะกับสภาพการเลี้ยงของเกษตรกรในประเทศ เกิดลูกพันธุ์ที่แข็งแรง เห็นได้ชัดว่าอัตราการรอดจากการเลี้ยงสูงขึ้นโดยอ้างอิงจากสถิติเดือนสิงหาคมของกรมประมงที่มีวัตถุดิบกุ้งจากการจับออกสู่ตลาดมาก และเป็นจุดที่ทำให้เกษตรกรหันมาสนใจและมั่นใจที่จะลงกุ้ง คาดว่าปี 2558 เกษตรกรจะเพิ่มการเลี้ยงกุ้งขึ้น และอัตราการรอดเพิ่มขึ้น สมาคมฯ จึงคาดว่าผลผลิตปี 2558 จะมีปริมาณไม่น้อยกว่า 300,000 ตัน
2. ปัญหาแรงงาน สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย ซึ่งเกิดขึ้นจาก 8 สมาคมฯ ที่ได้ร่วมมือกันและมีความตั้งใจในการที่จะแก้ไขปัญหาแรงงาน โดยเริ่มตั้งแต่การที่ คสช. ได้เข้ามามีบทบาทเต็มที่ในการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดการแรงงานที่ผิดกฎหมายให้เข้าสู่ระบบ รวมทั้งการมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาด้านการจัดลำดับความน่าเชื่อถือแรงงานประเทศไทย (Trips Report) ของสหรัฐฯ และจากการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น ร่วมกับหน่วยงานของเอกชน ได้มีการทำรายงานและแผนการแก้ไขส่งไปยังสหรัฐฯ คาดว่าสหรัฐฯ จะถอดประเทศไทยออกจากบัญชีรายชื่อได้ในปี 2558
อีกทั้ง คู่ค้าสหรัฐฯ ยังคงให้ความเชื่อมั่นในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานสินค้าสัตว์น้ำของไทย โดยสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ได้มีการจัดทำ Road Map กับกลุ่มผู้นำเข้าสินค้าประมงในสหรัฐฯ (NFI : National Fisheries Institute) ซื้อสินค้ากับผู้ผลิตไทยที่มีการใช้แรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
3. การแก้ไขปัญหา IUU (Illegal Unreported and Unregulated fishing) และปัญหาแรงงานในเรือประมง ตามที่สหภาพยุโรปกดดันประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้ผลักดันเต็มที่ที่จะแก้ไขปัญหาให้ลุล่วง โดยขณะนี้ได้ผ่าน พรบ. การประมง เข้าไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่า สภาฯ จะผ่านกฎหมายออกมาในเดือนนี้ พรบ. การประมงฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ทันสมัยและมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ ที่จะสามารถแก้ไขปัญหา IUU ได้ คาดว่าสถานการณ์ด้าน IUU จะผ่อนคลายได้ในช่วงไตรมาสสองของปี 2558
อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกก็ได้มีการปรับตัวโดยการผลิตสินค้าแปรรูปมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งพัฒนาด้านการตลาด เนื่องจากโอกาสและความต้องการของผู้บริโภคสินค้าประมงในตลาดรอง เช่น รัสเซีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา รวมทั้งจีน ยังคงต้องการสินค้าสัตว์น้ำจากไทย
ทั้งนี้ สมาคมฯ ต้องขอขอบคุณ พณฯ พลเอกประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี หม่อมราชวงษ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีและข้าราชการประจำทั้งกระทรวงพาณิชย์ (ท่านพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง) กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กรมศุลกากร (คุณสมชัย สัจจพงษ์) ที่เป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากมาตรการทางการค้าและไม่ใช่การค้า ให้กับอุตสาหกรรมการส่งออกสินค้าสัตว์ของไทย ดร. พจน์ กล่าวในที่สุด
อ้างอิง สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย