ทิ้งอาชีพวิศวกรหันเลี้ยงหมูขุนชีวิตไม่หยุดนิ่งในวัยเกษียณ
โดย...ดลมนัส กาเจ
แม้สมเกียรติ โหสกุล จะเริ่มประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวด้วยการเป็นวิศวกร ในบริษัทญี่ปุ่นที่ติดอันดับต้นๆ ที่มาลงทุนในประเทศไทย มาตั้งแต่ที่เขาหอบใบปริญญาบัตรด้านวิศวกรรมศาสตร์จากแดนอาทิตย์อุทัย เมื่อครั้งยังหนุ่มแน่น จนเวลาผ่านไปกว่าค่อนชีวิต ทั้งที่เขาจะพักผ่อนในวัยเกษียณ แต่เขามองว่า ชีวิตหลังเกษียณยังมีพละกำลังที่จะประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้ครอบครัวได้ โดยไม่ต้องนั่งกินบุญเก่าที่มีอยู่ ในที่สุดเขาหันหลังให้อาชีพวิศวกร เลือกเลี้ยงหมูขุน ปักหลักที่ ต.แพรกหา อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เมื่อครั้งที่เขามีอายุ 55 ปี เมื่อ 3 ปีก่อน
"ผมจำคำพูดของอาจารย์ เมื่อตอนที่เรียนวิศวะที่ญี่ปุ่นว่า ทำอะไรก็ได้ที่เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วได้มองเห็นกิจการของตัวเองเติบโตขึ้นทุกๆ วัน คำพูดนั้นตราตรึงในความคิดเสมอ จนเป็นตัวกระตุ้นให้ผมมีความคิดว่า ผมต้องมีอาชีพเป็นของตัวเอง และเป็นคำพูดที่ผมต้องเปลี่ยนอาชีพจากวิศวกรมาเป็นเกษตรกรเลี้ยงหมูขุน" สมเกียรติ กล่าว
ก่อนที่ สมเกียรติ จะหันมาเลี้ยงหมูขุน เขาได้ศึกษามาหลายด้าน มองว่า ต.แพรกหา อ.ควนขนุน เหมาะเลี้ยงหมูขุน เพราะมีเกษตรกรหลายรายยึดอาชีพนี้อยู่ และประสบความสำเร็จด้วยดี เขาจึงได้เริ่มต้นศึกษาความเป็นไปได้ในหลายด้าน พบว่าโครงการเลี้ยงสุกรขุนแบบประกันรายได้กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพราะเริ่มต้นง่าย ไม่มีความเสี่ยง เพียงแต่ปลูกสร้างโรงเรือนตามมาตรฐาน ทางซีพีเอฟจะนำลูกพันธุ์ อาหาร ยารักษาโรค วัคซีนต่างๆ มาให้ตามโปรแกรมที่กำหนด และมีพี่เลี้ยงช่วยดูแลอีกด้วยโดยเฉพาะด้านสัตวแพทย์ พอหมูโตได้ตามอายุ ทางซีพีเอฟรับซื้อทั้งหมดในราคาประกันไม่มีความเสี่ยงและไม่กดดันอีกด้วย
3 ปีที่ผ่านมา เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า การเลือกเลี้ยงหมูขุนแบบประกันรายได้เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะหมูขุนที่เขาเลี้ยงจำนวน 2,200 ตัว ใช้เวลารุ่นหนึ่งเลี้ยง 145-150 วัน เท่ากับว่าทุกๆ 5 เดือน สมเกียรติได้จับเงินก้อนเป็นหลักล้านบาท มีรายได้เฉลี่ยทุกเดือนตกเดือนละ 2 แสนบาท ที่สำคัญเขาได้อยู่กับครอบครัว และมีเวลาค้นหาสิ่งใหม่ๆ มาปรับใช้กับอาชีพที่เป็นของเราเอง ทุกวันนี้ เขาบอกคำเดียวว่า มีความสุขกับอาชีพเกษตรกร
จำนวนเงินรายได้เฉลี่ยเดือนละ 2 แสนบาท เป็นรายได้ที่มาจากการขายหมูขุน แต่นอกจากนั้นเขายังมีรายได้เสริมคือการนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ โดยเฉพาะการใช้ระบบไบโอแก๊สมาบำบัดของเสียและน้ำเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต สามารถช่วยลดรายจ่ายในฟาร์มกว่า 50% จากที่เคยเสียค่าไฟถึงเดือนละกว่า 5.4 หมื่นบาทเหลือเพียงเดือนละ 2.7 หมื่นบาท กากขี้หมูที่ผ่านระบบหมักแล้วนำมาตาก ทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ให้เพื่อนเกษตรกร สวนยาง สวนปาล์ม มีรายได้เสริมอีกเดือนละ 4.9 หมื่นบาท
วันนี้ สมเกียรติ โหสกุล มีอายุ 58 ปี แต่เขายังแข็งแรง และตั้งใจที่จะยึดอาชีพนี้ต่อไป
ขอบคุณ คมชัดลึก