ปลาดอร์รี่ คนไทยรู้จักกันดี แม้หลายคนจะคิดว่าเป็นปลาทะเล แต่ถ้าสังเกตและแปลชื่อวิทยาศาสตร์ pangasius hypophthalmus ที่อยู่บนถุงบรรจุได้ จะรู้ทันทีมันคือ...สวายดีๆนี่เอง
แต่ไม่ใช่สวายที่เราเห็นกันตามท่าน้ำหน้าวัด นั่นสายพันธุ์ลุ่มเจ้าพระยา ส่วนสวาย ดอร์รี่ เป็นสายพันธุ์แม่น้ำโขง ที่ผู้เชี่ยวชาญได้ผ่าพิสูจน์ตรวจวิเคราะห์ กระดูกฟันต่างจากสวายบ้านเรา นอกจากนั้นรูปทรงองค์เอวยังต่างกันหุ่นเพียวสเลนเดอร์ ปากแหลมกว่า ท้องไม่โย้พุงพลุ้ยเหมือนสวายบ้านเรา
นอกจากนั้นเมื่อกลายเป็นอาหาร เนื้อปลาจะมีสีขาวอมชมพู ไม่เหลืองอุดมไปด้วยไขมันอย่างสวายไทย...ที่สำคัญไม่มีกลิ่นเหม็นสาบโคลนเหมือนสวายบ้านเรา
สรรพคุณนี่แหละทำให้ สวาย ดอร์รี่ หรือแพนกาเซียส ดอร์รี่ ก้าวขึ้นเป็นสินค้าประมงส่งออกอันดับ 1 ของเวียดนามในเวลาอันรวดเร็ว โดยมีตลาดหลักอยู่ที่ยุโรปและสหรัฐอเมริกา ส่วนไทยนั้นแค่จิ๊บๆ
เนื่องจากเนื้อไม่ต่างจากเนื้อปลาคอดที่ฝรั่งชอบกิน แต่ด้วยราคาถูกต่างกัน เลยมีการสั่งไปจำหน่ายกันเป็นว่าเล่น จากปี 2549 มีสถิติส่งออกไปแค่ 661 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปีที่แล้วเพิ่มขึ้นไปถึง 1,760 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 56,000 ล้านบาท...จนซีพีเอฟ พี่ใหญ่ธุรกิจเกษตรไทยที่เข้าไปบุกตลาดอาหารสัตว์ในเวียดนาม อดใจไม่ไหวต้องกระโจนเข้าทำธุรกิจเพาะเลี้ยงปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่ กับเขาด้วย
“เราเคยคิดที่จะนำมาเลี้ยงในบ้านเรา แต่สภาพน้ำบ้านเราค่อนข้างนิ่งปลาจะมีกลิ่นสาบ เพราะเป็นธรรมชาติของน้ำนิ่ง จะเกิดแพลงก์ตอนที่ทำให้ปลามีกลิ่นสาบ เลยนำมาทดลองเลี้ยงในพื้นที่น้ำไหลแรง คล้ายแม่น้ำโขงตอนล่างของเวียดนาม เลี้ยงในแม่น้ำแคว จ.กาญจนบุรี ที่มีการปล่อยน้ำจากเขื่อน ปรากฏว่า มีปรสิตมาเกาะดูดเลือดปลา ทำให้เนื้อปลาสีขาวมีรอยจ้ำสีดำ ขายไม่ออกแน่ เลยต้องพับแผนหันไปทำในเวียดนาม”
ดร.สมบัติ สิริพันธ์วราภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพี เวียดนาม คอร์โปเรชั่น บอกว่า เดิมทีการเลี้ยงปลาพันธุ์นี้ ชาวเวียดนามจะเลี้ยงในกระชัง แต่เนื่องจากฤดูน้ำหลาก น้ำไหลเชี่ยวมาก มักทำให้กระชังพังบ่อย จึงได้ศึกษาวิธีการเลี้ยงใหม่ เปลี่ยนมาเลี้ยงในบ่อดินริมแม่น้ำแทน...แต่ไม่ต้องกังวลว่าปลาจะมีกลิ่นสาบ
เพราะแม่น้ำโขงในเขตเวียดนามตอนใต้ ช่วงเวลาน้ำขึ้นลงแต่ละครั้ง ระดับน้ำจะแตกต่างกันถึง 2-2.5 เมตร การออกแบบบ่อมีการต่อท่อลอดใต้แม่น้ำมายังบ่อปลาเพื่ออาศัยแรงน้ำขึ้น-ลง วันละ 2 ครั้ง มาเป็นตัวสับหมุนเวียนเปลี่ยนถ่ายน้ำออกจากบ่อ น้ำไม่นิ่ง แพลงก์ตอนทำให้ปลามีกลิ่นสาบเลยไม่มี
นอกจากนั้นทางบริษัทซีพี ยังได้ลงทุนสร้างโรงงานทำอาหารสูตรเลี้ยงปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่ เป็นการเฉพาะ ลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปเนื้อปลา เรียกว่าทำกันครบวงจรตามแบบฉบับเจ้าสัวซีพี...ผลผลิตที่ได้วันนี้ยังแค่สิวๆ ซีพียังมีส่วนแบ่ง 32,000 ตัน หรือแค่ 2.3% ของผลผลิตทั้งประเทศเวียดนามที่มีปีละ 1.4 ล้านตัน
แต่นี่เป็นแค่จุดเริ่มที่ซีพีเพิ่งลงทุนเต็มตัวเท่านั้น ต่อไปคงต้องจับตาปลาตัวนี้ จะไปไกลได้ถึงไหน...ปลาไทยคงได้แต่ชะแง้แลมองตาม.
cr. ไทยรัฐ