การกลับมาของไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N2 ในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปลายปี 2557 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน สร้างความเสียหายแก่อุตสาหกรรมสัตว์ปีกของสหรัฐฯเป็นอย่างมาก จนถึงขณะนี้พบรายงานการระบาดใน 21 รัฐ มีการทำลายสัตว์ปีกไปแล้วกว่า 50 ล้านตัว และมีการคาดการณ์ว่าจะยังเกิดการอุบัติซ้ำและมีการแพร่กระจายของโรคเพิ่มขึ้น โดยทางหน่วยงานภาครัฐฯ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคระบาด (CDC) และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (USDA) ยืนยันว่า ยังไม่พบรายงานการติดต่อของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N2 จากสัตว์ปีกสู่คน และมั่นใจว่าไม่กระทบต่อความปลอดภัยด้านอาหารจากสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกในสหรัฐฯ นอกจากนี้ องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ยังมีรายงานพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรงในหลายประเทศเขตเอเชียในปีนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้ง จีน ไต้หวัน ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเวียดนาม
สำหรับประเทศไทย มีมาตรการเฝ้าระวังโรคระบาดไข้หวัดนกมาอย่างต่อเนื่อง โดยกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบกับผู้เลี้ยงและผู้ส่งออกเนื้อไก่ มีการพัฒนาระบบการเลี้ยงแบบปิดเพื่อป้องกันการติดต่อของโรค ทำให้ประเทศไทยปราศจากการระบาดของโรคนี้ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเราก็ควรที่จะตระหนักและมีความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อและความรุนแรงของเชื้อดังกล่าว ว่าหากเกิดการระบาดขึ้น จะสามารถสร้างความเสียหายให้แก่สัตว์ปีกทั้งในภาพเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างมาก
น.สพ.นรินทร์ ร่มลำดวน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักเทคนิคและวิชาการสัตว์บก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องไข้หวัดนกว่า เป็นโรคติดต่อสำคัญในสัตว์ปีก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็น RNA virus จัดอยู่ใน Family Orthomyxoviridae สำหรับเชื้อ Influenza สามารถแบ่งย่อยได้หลายสายพันธุ์จากลักษณะทางพันธุกรรมของ Haemagglutinin และ Neuraminidase gene แบ่งออกเป็นH 1-15 และ N 1-9ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีความแตกต่างกัน ทั้งความสามารถในการติดโรคในสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดต่างกัน และความรุนแรงในการเกิดโรคที่ต่างกัน ทั้งในคน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์ปีกหลายชนิด โดยพบว่า นกอพยพ สัตว์ปีกน้ำ สัตว์ตระกูลเป็ด มักสามารถติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้หลายชนิดโดยไม่แสดงอาการป่วย ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดการปนเปื้อนมายังแหล่งน้ำ สิ่งแวดล้อม และเข้าสู่ฝูงสัตว์ปีกที่เลี้ยงในระบบได้ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อได้
ทั้งนี้จากรายงานการศึกษาเส้นทางบินของนกอพยพ พบว่าประเทศไทยและประเทศในเขตเอเชียก็ยังมีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังการระบาดของโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง นกอพยพเป็นสัตว์พาหะที่สามารถนำเชื้อไข้หวัดนกข้ามทวีป จากการอพยพตามฤดูกาลของนกที่บินตามเส้นทางในแนว East Asia/Australia Flyway ที่มีเส้นทางการบินครอบคลุมหลายประเทศ ได้แก่ อลาสก้า รัสเซีย จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนถึงออสเตรเลียและยังมีบางส่วนยังซ้อนทับกับการอพยพของนกในเขตอเมริกา ตามเส้นทาง Pacific Americas Flyway และ Mississippi Americas Flyway ซึ่งจะส่งผลให้มีโอกาสการปนเปื้อนเชื้อระหว่างนกอพยพจากอเมริกามาสู่เอเชีย รวมถึงประเทศไทยได้
“เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกควรตระหนักและให้ความสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของหน่วยงานภาคเอกชนและการให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อการเฝ้าระวังและป้องกันโรค” น.สพ.นรินทร์ กล่าว
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่สามารถนำเชื้อไข้หวัดนกเข้าสู่ฟาร์มสัตว์ปีกที่ต้องให้ความสำคัญ และทำการควบคุมเพื่อป้องกันโรค ได้แก่ ตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต พบว่าเป็นแหล่งที่มีโอกาสปนเปื้อนเชื้อสูง ทั้งเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรงและไม่รุนแรง รวมถึง นกป่าและนกอพยพ ที่สามารถติดเชื้อไข้หวัดนกได้โดยไม่แสดงอาการป่วย เป็นสัตว์พาหะที่นำเชื้อไข้หวัดนกมาปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำ แหล่งอาหารของนกประจำถิ่น เป็นต้นเหตุให้เกิดการติดเชื้อของสัตว์ปีกในพื้นที่ได้ ตลอดจน สัตว์ปีกเลี้ยงไล่ทุ่ง เนื่องจากไม่มีการควบคุมสภาพแวดล้อมในการเลี้ยง จึงสามารถสัมผัสกับเชื้อที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และสามารถแพร่กระจายเชื้อตามเส้นทางการเคลื่อนย้ายของฝูงได้
“การให้ความรู้แก่พนักงานและผู้เลี้ยงสัตว์ปีกถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกอื่นภายนอกฟาร์ม ไม่ว่าจะเป็นตลาดค้าสัตว์ปีก นกป่า หรือสัตว์ปีกอื่นๆ เพื่อลดโอกาสการปนเปื้อนและป้องกันการนำเชื้อเข้าสู่ฟาร์มส่วนเกษตรกรรายย่อย ควรจำกัดบริเวณสัตว์ปีกที่เลี้ยง ป้องกันไม่ให้สัมผัสกับนกป่าหรือนกอพยพ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อในฝูง” น.สพ.นรินทร์ก กล่าวย้ำ
นอกจากปัจจัยตามธรรมชาติแล้ว ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องควบคุมอย่างเข้มงวดควบคู่กันไป คือ ยานพาหนะ ที่มาจากประเทศที่มีประวัติสัตว์ปีกป่วย จะต้องผ่านการล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อก่อนจะเข้าฟาร์มสัตว์ปีก รวมถึงพนักงานและผู้เยี่ยมฟาร์ม ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด จะต้องมีระยะพักโรคที่เหมาะสม ก่อนเข้าสัมผัสกับสัตว์ปีก
สำหรับแนวทางการป้องกันการระบาดของโรคไข้หวัดนกสำหรับฟาร์มสัตว์ปีกนั้น น.สพ.นรินทร์ ระบุว่า มีอยู่ 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1. การเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง (surveillance) โดยฟาร์มสัตว์ปีกต้องมีโปรแกรมการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจประเมินสถานะสุขภาพของฝูงสัตว์ปีกอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ฟาร์มสัตว์ปีกพันธุ์และสัตว์ปีกไข่ จะมีโปรแกรมการเก็บตัวอย่าง เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสก่อโรค(ไข้หวัดนกและนิวคาสเซิล)ในฝูงเป็นประจำทุกเดือน รวมถึงมีโปรแกรมการเจาะเลือดเพื่อตรวจประเมินระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสำคัญเพื่อประเมินสถานะและประวัติการสัมผัสเชื้อของฝูงสัตว์ปีก ส่วนฟาร์มสัตว์ปีกเนื้อนอกจากจะมีการเก็บตัวอย่างสวอปและเจาะเลือดเพื่อประเมินระดับภูมิคุ้มกันก่อนเข้าโรงเชือดแล้ว ยังมีการตรวจหาเชื้อไวรัสจากเนื้อสด หลังผ่านกระบวนการเชือดและตัดแต่งอีกด้วย
2. การแจ้งเตือนโรคระบาดอย่างรวดเร็ว (early warning) ด้วยการพัฒนาโปรแกรมการแจ้งเตือนโรคอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยข้อมูลอ้างอิงจาก OIE กรมปศุสัตว์ หรือข่าวการระบาดในพื้นที่การแจ้งเตือนโรคระบาดที่สามารถเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้วิเคราะห์สถานการณ์การระบาดได้สามารถสื่อสารเข้าใจง่าย จะส่งผลให้สามารถการวางแผนการจัดการการป้องกันโรคสำหรับฟาร์มสัตว์ปีกในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หากพบการระบาดของโรคสัตว์ปีกสำคัญในพื้นที่สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มจะทำการออกบันทึกแจ้งเตือนโรคระบาดแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบเพื่อการเข้มงวดด้านระบบป้องกันโรค และเข้มงวดเกี่ยวกับการเข้าเยี่ยมฟาร์มของบุคคลรวมถึงยานพาหนะ โดยเฉพาะบุคคลที่มีประวัติการเดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด
3. การวางโปรแกรมการตรวจการพัฒนาวิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อการตรวจวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ (early detection) โดยการเพาะแยกเชื้อไวรัส โดยการฉีดเข้าไข่ฟัก และการเพิ่มจำนวนในเซลล์เพาะเลี้ยง รวมถึงการพิสูจน์ยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ สามารถทำได้โดยเทคนิคHA-HI test และการตรวจสารพันธุกรรมของเชื้อ โดยวิธี conventional RT-PCR และ real time PCR ซึ่งถ้าหากพบเชื้อไวรัสก่อโรคสำคัญว่ามีลักษณะทางพันธุกรรมแตกต่างไปจากข้อมูลเดิม จะทำการศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมโดยการถอดรหัสทางพันธุกรรมเพื่อนำข้อมูลของเชื้อมาเปรียบเทียบกับเชื้ออื่นที่มีรายงานการระบาด โดยอ้างอิงข้อมูลจาก GenBank และเอกสารทางวิชาการอื่นเพื่อวางแนวทางให้การป้องกันการระบาดต่อไป
4. มาตรการตอบสนองอย่างทันถ่วงที (early response) ด้วยการกำหนดแผนฉุกเฉิน-มาตรการกรณีเกิดโรคระบาด ในกรณีที่เกิดการระบาดในประเทศ ในพื้นที่ใกล้เคียง หรือเกิดปัญหาในฟาร์มสัตว์ปีกเองจะต้องมีมาตรการที่จะต้องปฏิบัติต่อเนื่อง ได้แก่ การให้ความรู้แก่พนักงานเรื่องสุขศาสตร์และการป้องกันโรค การสังเกตอาการของสัตว์ปีกปกติและสัตว์ปีกป่วย และแนวทางการปฏิบัติเพื่อการป้องกันโรค ขณะเดียวกัน จะต้องปฏิบัติอย่างเข้มงวดสำหรับการควบคุมระบบการป้องกันโรคภายในฟาร์มอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการสื่อสารประชาสัมพันธ์แก่ผู้บริโภคเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีก โดยจะต้องทำการเผยแพร่ความรู้อย่างต่อเนื่องแก่พนักงาน ครอบครัว รวมถึงสื่อสารข้อมูลสู่ผู้บริโภคด้วย ทั้งนี้ซีพีเอฟถือว่าเป็นผู้นำในด้านการป้องกันไข้หวัดนกอย่างจริงจังมาตลอด โดยฟาร์มของบริษัทตลอดจนเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่กับบริษัท ได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ จัดทำโครงการปลอดโรคไข้หวัดนก ตามหลักการของ OIE ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้รูปแบบการบริหารจัดการในระบบคอมพาร์ทเม้นท์สำหรับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปครบวงจรอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยแนวคิดที่ว่า “วิธีที่ดีที่สุดก็คือต้องป้องกันตั้งแต่ต้นทาง” จนประสบความสำเร็จอย่างสูงเพราะสามารถป้องกันไม่ให้สัตว์ปีกเกิดโรคดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อการคงประสิทธิภาพการผลิตสัตว์ปีก ให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคและเพื่อการยกระดับการผลิตอาหารจากปศุสัตว์ที่มีความปลอดภัยออกสู่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง น.สพ.นรินทร์ ย้ำว่า ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และเอกชนจะต้องให้ความร่วมมือกันในการวางแผน เฝ้าระวัง ตรวจติดตาม และมีมาตรการป้องกันโรคระบาดสำคัญอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจะต้องมีการสื่อสารข้อมูลสู่ประชาชนผู้บริโภคอย่างตรงไปตรงมา เพื่อความมั่นใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีก รวมถึงทราบหลักสุขศาสตร์ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปรุงอาหารจากจากปศุสัตว์เพื่อการบริโภคได้อย่างปลอดภัย./