9 กันยายน 2562 – บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ซ้อมแผนฉุกเฉินป้องกันโรค ASF ในฟาร์มอย่างต่อเนื่อง ป้องกันโรค ASF ในสุกรเข้มแข็ง เพื่อยกระดับการป้องกันโรคเพิ่มความชำนาญและปฏิบัติการอย่างแม่นยำให้กับเจ้าหน้าที่ ย้ำการเลี้ยงด้วยระบบไบโอซีเคียวริตี้ (Bio Security) ช่วยป้องกันโรคได้ เร่งถ่ายทอดให้เกษตรกรรายย่อยเพื่อป้องกันอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทย
น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ฟาร์มสุกรทั้งหมดของบริษัทฯเป็นการเลี้ยงด้วยระบบไบโอซีเคียวริตี้ ซึ่งเป็นระบบการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์มที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่นเลี้ยงในระบบโรงเรือปิด ตรวจสอบแหล่งวัตถุดิบรับจากแหล่งที่ปลอดภัยเท่านั้น ควบคุมรถขนส่งเข้า-ออก ฟาร์ม (มีระบบฆ่าเชื้อ) กำหนดจุดส่งมอบสินค้าแยกจากฟาร์ม เป็นต้น ตลอดจนถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวให้กับเกษตรกรในคอนแทรคฟาร์มของบริษัทฯทั่วประเทศครบทุกรายแล้ว และดำเนินการอย่างเคร่งครัดเพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยของเนื้อสุกรสู่ผู้บริโภค
นอกจากการเลี้ยงในระบบไบโอซีเคียวริตี้ ซีพีเอฟ ยังกำหนดมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรค ASF ในสุกรสำหรับโรงงานอาหารสัตว์ไว้ 9 มาตรการ ประกอบด้วย 1. วัตถุดิบต้องรับจากแห่งที่ปลอดภัยมีแผนตรวจสอบเชื้อ ASF ในวัตถุดิบ 2.รถขนส่งวัตถุดิบมีระบบพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อผ่านโรงสเปย์ ตลอดจนฆ่าเชื้อในห้องโดยสาร 3.พื้นที่จัดเก็บวัตถุดิบแยกจากส่วนการผลิตและคลังอาหารสำเร็จรูป 4.มีระบบควบคุมความสะอาดพื้นที่การผลิตและโกดังอาหารสำเร็จรูป
5.แยกพื้นที่ส่งมอบสินค้าของลูกค้าออกจากโกดังและพ่นยาฆ่าเชื้อทุกสัปดาห์ 6.มีระบบแยกรถขนส่งอาหารสัตว์ตามพื้นที่เสี่ยงและระบบฆ่าเชื้อก่อนรับอาหารสัตว์ 7.มีระบบตรวจสอบเคร่งครัดทั้งพนักงานและบุคคลภายนอก ตลอดจนห้ามนำอาหารเข้าพื้นที่ปฏิบัติการ 8.การจัดการสัตว์พาหะ นก หนู แมลง และป้องกันการปนเปื้อนจากสัตว์พาหะ และ
9.การตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันอย่างเข้มงวด
น.สพ.ดำเนิน กล่าวว่า ซีพีเอฟ ยังได้ซ้อมแผนฉุกเฉินในฟาร์มที่มีความเสี่ยงสูง โดยจำลองสถานการณ์การเกิดโรคภายในฟาร์ม ขั้นตอนการจัดการโรคอย่างละเอียดทุกขั้นตอน เช่น การสวมชุดของเจ้าหน้าที่ที่รัดกุม การเคลื่อนย้ายสุกรที่เป็นโรคโดยป้องกันสารคัดแหล่งจากตัวสุกรไม่ให้ตกตามรายทางภายในฟาร์ม การจัดการเส้นทางขนย้ายสัตว์ไปยังบ่อฝัง การเผาทำลายเสื้อผ้าของเจ้าหน้าที่หลังเสร็จสิ้นภารกิจ รวมถึงการจัดเตรียมที่พักสำรองสำหรับเจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มความชำนาญในการรับมือกับโรคได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
ซีพีเอฟ ยังร่วมมือกับกรมปศุสัตว์และปศุสัตว์จังหวัด สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการฟาร์มและบริษัทผู้แทนจำหน่ายาและเวชภัณฑ์ ในการจัดอบรมและสัมมนาเกษตรกรเพิ่มความรู้ความเข้าใจการป้องกันโรค ASF ในสุกรกับเกษตรกรทั่วประเทศ จนถึงขณะนี้จัดอบรมและสัมมนาไปแล้วกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่เลี้ยงสุกรหนาแน่น โดยเฉพาะจังหวังที่มีความเสี่ยงสูงมีการซ้อมแผนฉุกเฉินร่วมกับปศุสัตว์จังหวัด
“บริษัทฯดำเนินการตามแนวทางและแผนป้องกันโรค ASF เข้มข้น ทั้งในประเทศไทยและกิจการในต่างประเทศอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงของเกษตรกรและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้รับบริโภคเนื้อสุกรปลอดภัย” น.สพ.ดำเนินกล่าว
ซีพีเอฟ ยังเป็น 1 ใน 4 ผู้ส่งออกไทย ที่ผ่านการตรวจสอบมาตรของรัฐบาลฮ่องกงให้ส่งออกสุกรซีกแช่เย็นไปยังฮ่องกงได้ เพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนในประเทศจากปัญหาโรค ASF ตอกย้ำให้เห็นมาตรฐานระดับสากลในระบบการเลี้ยงและอาหารปลอดภัยของบริษัทอย่างยั่งยืน