บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนระดับโลก จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "การยกระดับห่วงโซ่อุปทานด้านการเกษตรของไทยสู่ระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน" โดยมีผู้แทนเกษตรกร ผู้แทนภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐสถาบันการศึกษา ผู้ตรวจสอบอิสระ รวมถึงองค์กรอิสระทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมแบ่งปันมุมมองและข้อเสนอแนะ เพื่อทวนสอบยืนยันความถูกต้องของระเบียบการใช้มาตรฐานการจัดซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรอย่างยั่งยืน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ของ ISEAL Alliance หน่วยงานที่กำหนดบรรทัดฐานระหว่างประเทศในการพัฒนามาตรฐานความยั่งยืนรับระเบียบการค้าโลก
ไพศาล เครือวงศ์วานิช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในฐานะผู้จัดหาวัตถุดิบหลักทางการเกษตรสำหรับการผลิตอาหารสัตว์ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทดำเนินการทวนสอบยืนยันความถูกต้องของมาตรฐานการจัดชื้อวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์ คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง ที่จำเป็นต้องมีองค์กรกลาง (Third party) มาตรวจรับรองความโปร่งใส พร้อมกับรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม มั่นใจว่าหลักเกณฑ์ของมาตรฐานครอบคลุมทั้งด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ปราศจากการบุกรุกพื้นที่ป่าและการเผาแปลงเพาะปลูก บริหารจัดการแรงงานที่ดี เคารพหลักสิทธิมนุษยชน โปร่งใสและตรวจสอบได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs)
“การขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนจำเป็นต้องสานพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้การดำเนินจัดทำและการใช้มาตรฐานการจัดซื้อสินค้าเกษตร ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อเกษตรกร ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง สิ่งแวดล้อม สังคมไทยและสังคมโลก” ไพศาลกล่าว
อรรณพ ยังวนิชเศรษฐ ผู้แทนเกษตรกรสมาชิก RSPO องค์กรเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยปาล์มน้ำมันยั่งยืน จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า วันนี้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเกษตรกรกลุ่มต่างๆทั้ง มันสำปะหลัง ข้าวโพด ในประเด็นกาารปรับตัวกับมาตรฐานการจัดซื้อสินค้าเกษตร และความจำเป็นของระบบตรวจสอบย้อนกลับ และสนับสนุนว่ามาตรฐานควรได้รับการทวนสอบโดย Third party ปีละครั้ง
ด้าน ดร.สมคิด ดำน้อย ผอ.กองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ภาคเอกชนริเริ่มกำหนดมาตรฐานดังกล่าว ที่ผ่านมามาตรฐานในลักษณะนี้ใช้กับ ปาล์มน้ำมัน และ เกษตรอินทรีย์สร้างผลเชิงบวกกับทั้งเกษตรกร สังคมและสิ่งแวดล้อม ส่วนมาตรฐานตัวนี้กำหนดชัดเจนว่าไม่รุกป่า ไม่เผาทำลาย รวมถึงประเด็นด้านแรงงาน จึงมั่นใจว่าจะเป็นมาตรฐานที่ดีตัวหนึ่ง
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของไทยกำลังปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยเฉพาะกฎระเบียบทางการค้าสากล ทั้ง EU-CBAM (มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน) EU-DR (กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของอียู) รวมถึง EU-CSRDDD (ข้อกำหนดให้ทุกบริษัทมีการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานอย่างรอบด้านความรับผิดชอบต่อผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม) ทำให้ผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบทางการค้าและหลักเกณฑ์ด้านความยั่งยืนในระดับสากล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าเกษตรของไทยบนเวทีการค้าโลก
Tag:
#ForestProtect