นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ พร้อมด้วย นายพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร วิศวกรรมกลาง และ นางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุดสายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ ร่วมเปิดโรดแม็ปการขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-Zero) พร้อมกับประกาศความสำเร็จในการยกเลิกใช้ถ่านหิน 100% สำหรับกิจการในประเทศไทย ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเป็นจำนวนมากร่วมรับฟัง
ซีอีโอ ประสิทธิ์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนองค์กรสู่ Net-Zero เป็นเป้าหมายสำคัญของบริษัทฯ ภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืนของซีพีเอฟ ตามแนวทางด้านความยั่งยืนของเครือซีพีและเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) โดย ซีพีเอฟ ชูวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ผลิตอาหารอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ตอบโจทย์ 2 เรื่อง คือ Food Safety การผลิตอาหารที่ดีต่อร่างกาย มีคุณค่าโภชนาการ เสริมสร้างสุขภาพที่ดี ให้คำหนึ่งคำที่ทานมีคุณค่ามากขึ้น ได้ความอร่อยและมีความหลากหลายมากขึ้น รวมทั้ง Food Security เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร
ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ 3 เสาหลัก ได้แก่ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ สอดรับกระแสโลกที่ให้ความสำคัญกับ BCG Model ในปีที่ผ่านมา เราบรรลุเป้าหมายยกเลิกการใช้ถ่านหิน 100% สำหรับกิจการในประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงส่งผลดีต่อความมั่นคงทางอาหาร ยังช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม รองรับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่ดีขึ้นในปีนี้จากนักท่องเที่ยวที่จะกลับเข้ามา นอกจากนี้ บริษัทฯ มุ่งมั่นสนับสนุนให้คู่ค้าธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะ SME ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพื่อเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
ด้าน นายพีรพงศ์ กล่าวว่า ซีพีเอฟประกาศเป้าหมายสู่ Net-Zero ในปี 2050 (พ.ศ.2593) ซึ่งความสำเร็จในการยกเลิกใช้ถ่านหิน 100% สำหรับกิจการในประเทศไทย จะเป็นต้นแบบกับกิจการในต่างประเทศด้วย พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 30% ของการใช้พลังงานทั้งหมด นับเป็นบริษัทอันดับต้นๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนสูงที่สุด สำหรับพลังงานหมุนเวียนที่บริษัทฯ ใช้ในปัจจุบัน ประกอบด้วย พลังงานจากก๊าซชีวภาพ 30% พลังงานชีวมวล 68% และพลังงานจากแสงอาทิตย์ 2% สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 600,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งในอนาคต ซีพีเอฟ มุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานหมุนเวียน 50% ในปี 2030 และ 100% ในปี 2050
ขณะที่ นางกอบบุญ กล่าวถึง การดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของซีพีเอฟ ภายใต้แนวคิด "ความมั่นคงทางอาหาร จากภูผาสู่ป่าชายเลน" ที่่ช่วยกักเก็บคาร์บอน เช่น โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ "ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี” ซึ่งนอกจากจะช่วยปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังเป็นโครงการที่ดูแลคุณภาพของน้ำและชุมชน นอกจากนี้ ยังมีโครงการ "ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน" โดยต่อยอดสู่การเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิถีชุมชน ช่วยสร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 โครงการฯ ร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไปแล้ว รวม 14,000 ไร่ และมีแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 20,000 ไร่ ในปี 2030 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังผนึกกำลัง รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เดินหน้า "โครงการกล้าจากป่า พนาในเมือง (กทม.) สนับสนุนต้นไม้ 100,000 ต้น หนุนเพิ่มพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่น ในโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น กับกรุงเทพมหานคร./
Tag:
#ForestProtect