ภาคอุตสาหกรรมกำลังตื่นตัวในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเป็นองค์กร “คาร์บอนต่ำ” เพื่อร่วมมือกับประชาคมโลกในการปรับสมดุลธรรมชาติ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน จากการบริโภคพลังงานและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติไม่คุ้มค่า ตลอดจนการขาดการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ตราบเท่าที่โลกยังมีการผลิตสินค้าและอาหาร ตลอดจนการบริการและการขนส่ง เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก แนวทางปฏิบัติเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนที่เดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ การควบคุมการขยายตัวการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้เพิ่มขึ้น ด้วยการพัฒนาเครื่องจักรที่ทันสมัยเหมาะสมกับการผลิต ติดตั้งเทคโนโลยีเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซจากการผลิต ตามแนวทางการผลิตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการบริหารจัดการที่ไม่ก่อให้เกิดการสูญเปล่าและลดการสูญเสีย
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้ทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคม 3 เสาหลัก คือ “อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่” ซึ่งการบริหารจัดการการผลิตเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายด้านดินน้ำป่าคงอยู่และสอดคล้องกันตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ในการปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยมีการบริหารจัดการทรัพยากรตลอดห่วงโซ่การผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุดตามแนวทาง eco-efficiency ซึ่งเป็นการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตของธุรกิจควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ได้กำหนดเป้าหมายปี 2568 ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 25% จากปีฐาน 2558 โดยให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งในกระบวนการผลิตและจากการใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ผ่านโครงการต่างๆ โดยเฉพาะด้านพลังงาน เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ โครงการใช้พลังงานจากชีวมวล โครงการโซลาร์รูฟทอปบนหลังคาโรงงาน 25 แห่ง โครงการนวัตกรรมอาหารสุกรรักษ์สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติแทนพลาสติก คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ของทั้งองค์กรได้เฉลี่ยปีละ 522,000 ตัน
ซีพีเอฟยังมีโครงการผลิตภัณฑ์สีเขียว (green products) ซึ่งประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์และผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากลดโลกร้อน ได้แก่ ไก่สด ไก่มีชีวิต และลูกไก่ ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และกำลังดำเนินการในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์บก นอกจากนี้ ไก่สดและอกไก่นุ่มยังได้รับฉลากวอเตอร์ฟุตพรินต์ ตามมาตรฐาน ISO 14046 ส่งผลให้บริษัทฯ มีรายได้จากกลุ่มผลิตภัณฑ์สีเขียว (green revenue) ในปี 2561 มูลค่า 17,764 ล้านบาท คิดเป็น 10% ของรายได้จากกิจการในประเทศไทย
นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังได้นำแนวทาง “neutral carbon” ไปใช้ในการจัดกิจกรรมความรับผิดชอบต่อความยั่งยืนในรูปแบบใหม่ภายใต้โครงการ เดิน-วิ่งการกุศล “Carbon Neutral Event” ด้วยการนำคาร์บอนเครดิตที่บริษัทฯ สะสมในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) จำนวน 560 ตันคาร์บอนไดอ๊อกไซด์เทียบเท่า มาชดเชยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากการใช้พลังงานไฟฟ้าในการจัดงาน การเดินทางของผู้เข้าร่วมงาน การพักแรม อาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งสิ่งเหลือทิ้งจากการจัดงาน ให้เท่ากับศูนย์ โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2563
ภายใต้การเป็น “องค์กรคาร์บอนต่ำ” บริษัทฯ ยังกำหนดเป้าหมายลดปริมาณการดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิต 25% ภายในปี 2563 และ 30% ภายในปี 2568 ตามลำดับ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาสนับสนุนตลอดกระบวนการผลิต เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำจากธรรมชาติและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำให้คุ้มค่าที่สุด
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่สดและผลิตภัณฑ์อกไก่นุ่มของบริษัทฯ ได้รับการรับรองฉลาก “ฟุตพรินต์การขาดแคลนน้ำ” (water scarcity footprint) เป็นรายแรกของประเทศไทยจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายวุฒิชัยกล่าวว่า บริษัทฯ มีเป้าหมายในการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน 3 แนวทางหลัก คือ 1. การประเมินความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี ตามหลักการของ Aqueduct ซึ่งเป็นหน่วยงานประเมินความเสี่ยงสากลด้านน้ำ 2. การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ และ 3. การกระจายน้ำที่บำบัดแล้วจากฟาร์มปศุสัตว์และโรงงานแปรรูปอาหาร ให้กับชุมชนและเกษตรกรรอบโรงงานเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ
นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังเดินหน้าโครงการอนุรักษ์ป่าบกและป่าชายเลน ผ่านโครงการ ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายแลน ครอบคลุมพื้นที่ 2.388 ไร่ ใน 5 จังหวัด คือ สมุทรสาคร ระยอง ชุมพร พังงา และสงขลา และโครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จังหวัดลพบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 5,971 ไร่ เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาสมบูรณ์ ซึ่งเป็นอาหารของมนุษย์และสัตว์ และยังช่วยดูดซับและกักเก็บมลพิษที่เกิดจากการทำการเกษตร อุตสาหกรรม และครัวเรือน
ซีพีเอฟยังคงมุ่งมั่นในการลดภาวะโลกร้อนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับปรุงและติดตั้งเทคโนโลยีที่สนับสนุนให้การใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิตเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดมลภาวะและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
Tag:
#ForestProtect