ช่วงที่ผ่านมาในโลกออนไลน์มีการแชร์ภาพ "ฝีหนอง" ที่เกิดในหมู จนอาจเกิดข้อสงสัยว่าฝีหนองที่ว่านี้เกิดจากอะไร
เรื่องนี้อธิบดีกรมปศุสัตว์ น.สพ.สรวิศ ธานีโต ไขข้อข้องใจว่า เป็นก้อนฝีหนองที่เกิดจากภาวะอักเสบ และติดเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดหนอง คาดว่าเกิดจากความไม่สะอาดในขั้นตอนการฉีดวัคซีนหรือการฉีดยารักษาสัตว์ ซึ่งในการเลี้ยงระบบมาตรฐานนั้น การรักษาสัตว์อยู่ภายใต้ พระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ.2545 และตามการควบคุมของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม ตามประกาศของกรมปศุสัตว์ ที่โดยปกติก่อนจะฉีดวัคซีนหรือยาให้หมู ผู้ฉีดจะใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดบริเวณผิวหนังก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันเรื่องความสะอาดบนผิวหนังก่อน อย่างไรก็ตาม ปัญหาฝีในหมูนั้นเกิดจากหลายสาเหตุ เหมือนกับคนที่เวลามีแผลแล้วไม่สะอาดเชื้อแบคทีเรียก็เข้าไปกลายเป็นหนอง
อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยืนยันว่ากรณีดังกล่าว “ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค” เพราะไม่ได้มีสารตกค้างใดๆอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่ก็ไม่ควรนำส่วนที่เกิดฝีหนองไปรับประทาน และหากพบสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อดำเนินการตรวจสอบได้ทันที แนะนำผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะการสังเกตตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ที่กรมปศุสัตว์เป็นผู้ตรวจรับรองให้กับสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานทุกขั้นตอน โดยต้องมาจากฟาร์มมาตรฐาน (GAP) ผ่านการเชือดและชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับใบอนุญาตถูกกฎหมาย มีสุขอนามัยที่ดี ปลอดภัยจากยาและสารตกค้าง วางจำหน่ายในสถานที่จำหน่ายที่สะอาดถูกสุขลักษณะ และต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้าได้ ผู้บริโภคสามารถซื้อหาได้อย่างมั่นใจ หากเกิดปัญหากับผลิตภัณฑ์ เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ก็จะสามารถเข้าไปตรวจสอบย้อนกลับและดำเนินการให้อย่างทันท่วงที
น.สพ.สรวิศ ยังให้คำแนะนำกับเกษตรกรและภาคผู้ผลิต ว่าให้เน้นในเรื่องความสะอาดตลอดกระบวนการเลี้ยง ควรจัดให้มีการใช้แอลกอฮอล์เพื่อทำความสะอาดผิวหนังร่วมกับการใช้เข็มทุกครั้ง รวมถึงการนำเข็มไปใช้ควรมีการตรวจสอบการเบิกจ่ายและเก็บคืนเข็มโดยต้องมีจำนวนเท่ากัน เพื่อป้องกันปัญหาเข็มตกค้างที่พบเจอกันในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งปกติแล้วในฟาร์มมาตรฐานจะบริหารจัดการเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ตามมาตรฐานและข้อแนะนำของกรมปศุสัตว์
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.อาสูตร สงวนเกียรติ ภาควิชาสัตวแพทยสาธารณสุขศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม ระบุถึงเรื่องนี้ว่า มีความเป็นไปได้มากที่จะเกี่ยวข้องกับลักษณะของ Abscess หรือ ฝี ที่มีการเกิดเฉพาะจุด ในบริเวณของกล้ามเนื้อ โดยสังเกตได้จากสีที่หนอง ซึ่งจะแตกต่างจากสีของกล้ามเนื้อและไขมันปกติ และสังเกตลักษณะของเนื้อเยื่อเส้นใย fibrous tissue รอบบริเวณฝี ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นกลไกลปกป้องตัวเองตามธรรมชาติของสัตว์ รวมทั้งมนุษย์ด้วย สาเหตุการอักเสบที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ เชื้อจุลินทรีย์และสิ่งที่เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรค หรือการใช้ยาฉีดในกรณีที่สัตว์มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษา ตามหลักวิชาการตรวจเนื้อแล้ว การตัดสินเนื้อที่มีฝีแบบนี้คือ ถ้าพบในบริเวณเฉพาะจุดไม่ใหญ่มาก ให้ตัดเลาะบริเวณที่ได้รับผลกระทบออกไป และพิจารณาให้เหมาะสมต่อการนำมาบริโภค หรือถ้าไม่แน่ใจ การทำเนื้อให้สุกอย่างทั่วถึงก็เป็นการลดอันตรายที่อาจปนเปื้อนมากับเนื้อ และทำให้การทานเนื้อนั้นอร่อยและปลอดภัยกับผู้บริโภค
ทางด้าน นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย ผศ.น.สพ.ดร.สุเจตน์ ชื่นชม ระบุว่าจากภาพที่ปรากฎ สันนิษฐานได้ว่าอาจจะเกิดจากการอักเสบของเนื้อหมู ในขณะที่มีการฉีดวัคซีนเข้าไปที่ส่วนสันคอซึ่งเป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ รอยโรคที่เป็น ลักษณะคล้ายฝีหนองในเนื้อหมู ที่อาจเกิดได้จากการฉีดวัคซีนหรือยารักษาโรค ซึ่งขั้นตอนที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อป้องกันอาหารที่ไม่ได้คุณภาพที่จะส่งถึงมือลูกค้า คือการให้ความรู้-ความเข้าใจแก่ทีมงานอย่างเพียงพอ ในส่วนของเชื้อแบคทีเรียที่มักพบในก้อนฝีหนองก็ไม่ใช่เชื้อที่ติดสู่คน และการที่ร่างกายสร้างเยื่อพังผืดหุ้มก้อนหนองก็เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย แต่ก็ไม่ควรรับประทานเนื้อส่วนนั้น สำหรับเนื้อส่วนอื่นก็ยังคงปลอดภัยหากทำให้สุกก่อนบริโภค อย่างไรก็ตามหากพบก็ควรตัดส่วนนั้นทิ้งไปหรือพิจารณาทิ้งเนื้อทั้งชิ้นนั้นไปเลย
นอกจากนี้ รองคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ กำแพงแสน ผศ.น.สพ.ดร.ปริวรรต พูลเพิ่ม ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวให้ความรู้ในเรื่องนี้ว่า เป็นการเกิดก้อนฝีจากเข็มฉีดยาที่อาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย กรณีการเกิดฝีหนองจากเข็มฉีดยา มักจะเกิดขึ้นก่อนที่จะขายหมูขั้นต่ำ 1-3 เดือน การตกค้างของยาคงไม่เกิดขึ้นในเนื้อดังกล่าว ซึ่งเชื้อแบคทีเรียที่มักพบในก้อนฝีหนองไม่ใช่เชื้อที่ติดสู่คน แต่ปกติก็ควรตัดส่วนฝีหนองทิ้ง หรือทำลายทิ้งทั้งก้อน และเนื้อส่วนอื่นยังคงปลอดภัยหากทำให้สุกก่อนบริโภค ทั้งนี้ในส่วนของโรงชำแหละที่มีมาตรฐานจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจเนื้อที่ผ่านการอบรมจากกรมปศุสัตว์ เพื่อให้มั่นที่ใจว่าเนื้อหมูที่จะส่งออกขายมีสุขอนามัยที่ดีสำหรับการบริโภค
สรุปคือ ก้อนฝีหนองในเนื้อหมูเกิดจากการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งไม่เป็นเชื้อที่ไม่เป็นอันตรายกับคน หากพบก็แนะนำให้ตัดออกไม่ควรบริโภค แต่เนื้อส่วนอื่นยังสามารถทานได้หากปรุงสุกแล้ว ส่วนจะเลือกซื้อเนื้อหมูปลอดภัยมาบริโภคก็แนะนำให้เลือกจากผู้ผลิตมาตรฐาน สังเกตตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” เพียงเท่านี้ก็บริโภคได้อย่างปลอดภัย./