นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยกรณีที่มีผู้บริโภคพบฝีหนองในเนื้อหมูนั้น ทางกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว พบว่าเป็นก้อนฝีหนองที่เกิดจากภาวะอักเสบ และติดเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดหนอง คาดว่าเกิดจากความไม่สะอาดในขั้นตอนการฉีดวัคซีนหรือการฉีดยารักษาสัตว์ ซึ่งในการเลี้ยงระบบมาตรฐานนั้น การรักษาสัตว์อยู่ภายใต้ พระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ.2545 และตามการควบคุมของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม ตามประกาศของกรมปศุสัตว์ ที่โดยปกติก่อนจะฉีดวัคซีนหรือยาให้หมู ผู้ฉีดจะใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดบริเวณผิวหนังก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันเรื่องความสะอาดบนผิวหนังก่อน และปัญหาฝีในหมูนั้นเกิดจากหลายสาเหตุ เหมือนกับคนที่เวลามีแผลแล้วไม่สะอาดเชื้อแบคทีเรียก็เข้าไปกลายเป็นหนอง ยืนยันว่ากรณีดังกล่าว “ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค” เพราะไม่ได้มีสารตกค้างใดๆอย่างที่บางคนเข้าใจ แนะนำว่าไม่ควรนำส่วนที่เกิดฝีหนองไปรับประทาน และหากพบสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อดำเนินการตรวจสอบได้ทันที
อธิบดีกรมปศุสัตว์ แนะนำผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยเฉพาะการสังเกตตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ที่กรมปศุสัตว์เป็นผู้ตรวจรับรองให้กับสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานทุกขั้นตอน โดยสินค้าที่นำมาจำหน่ายต้องมาจากฟาร์มมาตรฐาน (GAP) ผ่านการเชือดและชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับใบอนุญาตถูกกฎหมาย มีสุขอนามัยที่ดี ปลอดภัยจากยาและสารตกค้าง วางจำหน่ายในสถานที่จำหน่ายที่สะอาดถูกสุขลักษณะ และต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้าได้
“ขอเน้นย้ำกับเกษตรกรและภาคผู้ผลิตในเรื่องความสะอาดตลอดกระบวนการเลี้ยง ควรจัดให้มีการใช้แอลกอฮอล์เพื่อทำความสะอาดผิวหนังร่วมกับการใช้เข็มทุกครั้ง รวมถึงการนำเข็มไปใช้ควรมีการตรวจสอบการเบิกจ่ายและเก็บคืนเข็มโดยต้องมีจำนวนเท่ากัน เพื่อป้องกันปัญหาเข็มตกค้างที่พบเจอกันในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งปกติแล้วในฟาร์มมาตรฐานจะบริหารจัดการเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ตามมาตรฐานและข้อแนะนำของกรมปศุสัตว์ สำหรับผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีการรับรองปศุสัตว์ OK ที่กรมปศุสัตว์ได้ช่วยตรวจเช็คให้ว่าสินค้าที่นำมาขายนั้นมีที่มาที่ไปมีการตรวจสอบที่ถูกต้อง ผู้บริโภคสามารถซื้อหาได้อย่างมั่นใจ หากเกิดปัญหากับผลิตภัณฑ์ เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ก็จะสามารถเข้าไปตรวจสอบย้อนกลับและดำเนินการให้อย่างทันท่วงที” น.สพ.สรวิศ กล่าว./
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์