“เนื้อไก่” เป็นอาหารที่อยู่คู่เมืองไทยมายาวนาน การบริโภคเนื้อไก่ในอดีตหลาย 10 ปีก่อน อาจจะไม่ได้รับความนิยมมากนักเนื่องจากมีราคาสูง แต่ปัจจุบันโลกมีความก้าวหน้ามากขึ้น มีเทคโนโลยีทันสมัย มนุษย์จึงสามารถนำศักยภาพผนวกกับทรัพยากรที่มีมาใช้ในการเลี้ยง การผลิต ในด้านปศุสัตว์ จนทำให้ทุกวันนี้คนไทยมีเนื้อไก่ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย สายพันธุ์ดี ราคาไม่แพงได้บริโภคอย่างทั่วถึง
ในปี พ.ศ. 2547 เกิดไข้หวัดนกระบาดในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อยอดส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ ดังนั้น กรมปศุสัตว์ จึงได้นำหลัก Compartmentalisation หรือระบบคอมพาร์ทเมนต์ ขององค์การเพื่อสุขภาพสัตว์โลก (World Organization for animal health) มาใช้เป็นมาตรการในการควบคุม เพื่อป้องกันและควบคุมการนำเชื้อไวรัสไข้หวักนกแพร่ระบาดในฟาร์ม ซึ่งระบบคอมพาร์ทเมนต์มีจุดเด่นในเรื่องของการป้องกันและเฝ้าระวังโรคเชิงรุกขั้นสูงสุด ที่เน้นการป้องกันโรคที่เชื่อมโยงทั้งห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่โรงงานอาหารสัตว์ สู่ฟาร์ม และโรงงานแปรรูป ตามหลักคิด “กันดีกว่าแก้”
ระบบความปลอดทางชีวภาพ หรือระบบไบโอซีเคียวริตี้ (Biosecurity) เป็นอีกหัวใจสำคัญในการป้องกันควบคุมโรค โดยมีหลักการที่ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือ การแยกสัตว์ (isolation) โดยเลี้ยงในสถานที่มีรั้วสำหรับป้องกันสัตว์เข้าออกจากฟาร์มและอยู่ในโรงเรือนระบบปิดปรับอากาศ นำสัตว์เข้าและออกแบบเข้าหมด-ออกหมดที่เรียกว่า ”ALL IN ALL OUT” เพื่อให้มีเวลาพักโรงเรือนเลี้ยงสัตว์และได้ทำความสะอาดฆ่าเชื้อ อีกส่วนสำคัญคือการควบคุมการสัญจร (traffic control) เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์ม ส่วนสุดท้ายคือ สุขอนามัย (sanitation) ต้องทำความสะอาด ฆ่าเชื้อสิ่งของ บุคลากร เครื่องมือ และที่พักอาศัยในฟาร์มเพื่อลดโอกาสการเกิดโรคได้
ปัจจุบัน ไก่เนื้อไทยเลี้ยงในโรงเรือนระบบปิด หรือที่เรียกว่าโรงเรือนอีแว๊ป (EVAP; Evaporative Cooling System) เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย เป็นระบบทำความเย็น ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน ทำให้สัตว์ไม่เกิดความเครียดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ส่งผลให้สัตว์มีความเป็นอยู่ที่ดี เมื่อสัตว์สบายใจ สบายกาย ก็จะมีสุขภาพพื้นฐานแข็งแรงตามธรรมชาติ
เนื้อไก่ที่ดี มีคุณภาพ ปลอดภัย ปลอดสารนั้น ต้องเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงดู ใส่ใจในทุกขั้นตอนที่คำนึงถึงหลักปฏิบัติสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี หรือหลักอิสระ 5 ประการ ซึ่งประกอบไปด้วย ปราศจากจากความหิวกระหาย ปราศจากความไม่สะดวกสบาย ปราศจากการบาดเจ็บและเจ็บป่วย ปราศจากความกลัว ตื่นตกใจ และมีอิสระแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ ดังนั้น เมื่อไก่ได้รับการพัฒนาด้านพันธุกรรมที่ดีแล้วนำไปเลี้ยงในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ให้อาหารที่มีโภชนาการที่ดีกับการเจริญเติบโตของไก่แต่ละช่วงวัย ภายใต้การเลี้ยงที่ถูกต้องตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ และมีมาตรฐานการป้องกันโรคที่ดี ไก่เนื้อก็จะเติบโตรวดเร็วตามธรรมชาติและมีสุขภาพดี แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย จึงไม่มีความจำเป็นต้องให้ฮอร์โมนหรือยาปฏิชีวนะเพื่อเร่งการเติบโต ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยอาหารสำหรับผู้บริโภค
ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่คุณภาพ ผู้บริโภคควรเลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่มีมาตรฐาน มีตราสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้น สด สะอาด ปลอดภัย ตรวจสอบได้ถึงแหล่งที่มา
นายสัตวแพทย์พยุงศักดิ์ สมยานนทนากุล
รองกรรมการผู้จัดการ ด้านมาตรฐานอาหารสากล
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
ประชาชาติธุรกิจ : prachachat.net