ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ในระลอกสาม จากการแพร่เชื้อในสถานบันเทิง ย่านทองหล่อ กรุงเทพมหานคร และระบาดอย่างรวดเร็วทั่วประเทศ เนื่องจากสถานบันเทิงนั้นเป็นที่อับ ปกปิด อากาศไม่ถ่ายเท เอื้อให้เกิดการแพร่กระจายได้ง่าย ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลว่าการแพร่เชื้อครั้งนี้เป็นสายพันธุ์อังกฤษ มีลักษณะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ติดต่อง่าย และเร็วมากกว่าสายพันธุ์ธรรมดา 1.7 เท่า และคาดคะเนว่าปีนี้จะระบาดมากกว่าปีที่แล้ว 10 เท่า
“ไม่ประมาท การ์ดอย่าตก” ยังเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องคำนึงอย่างยิ่งยวดในขณะนี้ หากขาดความระมัดระวังอาจจะทำให้ตนเองติดอยู่ในวังวนของการแพร่เชื้อโควิด-19 ที่เหมือนจะคลี่คลาย ซึ่งสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ผู้บริโภคควรตระหนักคือ การป้องกันตนเอง ใส่แมส ล้างมือ ออกกำลังกายสร้างภูมิต้านทาน และรับประทานอาหารที่สะอาด ปลอดภัย โดย ผศ.ดร. จิตศิริ ราชตนะพันธุ์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แนะนำการปฏิบัติตามหลักสุขลักษณะที่ดีด้านอาหารปลอดภัย จะสามารถป้องกันได้ทั้งโรคอาหารเป็นพิษและโควิด-19 ตามที่องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้สรุปไว้ 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1. รักษาความสะอาด (Keep clean) 2. แยกระหว่างอาหารดิบและอาหารปรุงสุก (Separate raw and cooked) 3. ให้ความร้อนอาหารอย่างทั่วถึง (Cook thoroughly) 4. เก็บรักษาอาหาร ณ อุณหภูมิที่เหมาะสม (Keep food at safe temperature) 5. ใช้น้ำและวัตถุดิบที่สะอาดและปลอดภัย (Use safe water and raw materials)
สำหรับจัดการอาหารประเภทเนื้อสัตว์เนื่องจากเน่าเสียได้ง่าย ในการรักษาความสะอาด (Keep clean) ควรล้างมือก่อนและหลังการเตรียมอาหาร และระหว่างการเตรียมอาหารประเภทเนื้อสัตว์ดิบ อาหารทะเลและไข่ ไม่แนะนำให้ล้างเนื้อสัตว์ดิบในอ่างล้างจานเนื่องจากเนื้อสัตว์ดิบอาจมีการปนเปื้อนของแบคทีเรียก่อโรค นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ควรใช้สารฆ่าเชื้อ เพื่อทำลายเชื้อไวรัสที่อาจเกาะบนพื้นผิวของภาชนะบรรจุ ส่วนถุงหรือกระเป๋าที่ใส่ของให้ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำสบู่และตากแดดให้แห้งก่อนนำมาใช้งานใหม่ นอกจากนี้ ควรแยกระหว่างอาหารดิบและอาหารปรุงสุก (Separate raw and cooked) ระหว่างการเลือกซื้อสินค้าใส่รถเข็น เพื่อป้องกันการปนเปื้อนข้ามของจุลินทรีย์จากอาหารดิบไปยังอาหารสุก ในระหว่างการปรุงอาหาร ต้องแยกอุปกรณ์ เช่น จาน เขียงและมีด ระหว่างเนื้อสัตว์ดิบและอาหารปรุงสุก
ในขั้นตอนของการปรุงอาหาร ให้ความร้อนอาหารอย่างทั่วถึง (Cook thoroughly) การปรุงอาหารประเภทเนื้อสัตว์ต้องให้ความร้อนจนอุณหภูมิใจกลางอาหารสูงกว่าที่กำหนด อาทิ เนื้อไก่อยู่ที่ 74 °C เนื้อบดอยู่ที่ 72 °C ไข่ อยู่ที่ 63 °C หรือให้ความร้อนจนกระทั่งไข่ขาวและไข่แดงสุกทั่ว นอกจากนี้ การเก็บรักษาอาหาร ณ อุณหภูมิที่เหมาะสม (Keep food at safe temperature) ควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่วยในตู้หรือชั้นวางที่ควบคุมความเย็น (อุณหภูมิ 5 °C หรือต่ำกว่า) เก็บเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ในกระเป๋าเก็บความเย็นหรือลังโฟม เพื่อรักษาอุณหภูมิในระหว่างการเดินทางกลับบ้าน สำหรับอาหารที่ปรุงสุกแล้วควรรับประทานทันที หากต้องการเก็บรักษานานกว่านั้นควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 5 °C สำหรับผู้ให้บริการอาหารที่ต้องการเสิร์ฟร้อนให้อุ่นร้อนตลอดเวลาโดยควบคุมให้อุณหภูมิสูงกว่า 60 °C
การใช้น้ำและวัตถุดิบที่สะอาดและปลอดภัย (Use safe water and raw materials) ควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์สดและผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ผลิตจากฟาร์มเลี้ยง โรงชำแหละและโรงงานแปรรูปอาหารที่ได้รับมาตรฐาน GMP มีลักษณะกลิ่นสีเป็นปกติ ควรดูวันผลิตและวันหมดอายุ สำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์พร้อมบริโภคที่บรรจุในภาชนะปิดสนิท เช่น แฮม เบคอน ไส้กรอก เป็นต้น ควรเลือกซื้ออาหารที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดผนึกเรียบร้อย ไม่รั่ว บุบ พองหรือฉีกขาด หากมองเห็นลักษณะอาหาร ไม่ควรเลือกซื้ออาหารที่มีลักษณะผิดไปจากปกติ เปื่อยยุ่ย เละหรือมีสีผิดปกติแม้ว่าจะยังไม่ถึงวันหมดอายุก็ตาม
วิธีที่กล่าวมานี้ไม่เพียงแค่ป้องกันโรคโควิด-19 ได้เท่านั้น ยังสามารถป้องกันโรคท้องเสีย อาหารเป็นพิษ และโรคอื่นๆ ดังนั้น การป้องกันตนเองจึงเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญที่ทุกคนสามารถทำได้ เพื่อช่วยลดอัตราการเกิดโรค ควบคู่กับการกินร้อน ช้อนเรา และลดการรวมกลุ่ม ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ระลอกสามไปได้โดยเร็ว