กระแสข่าวที่แชร์ต่อๆกันในโลกออนไลน์เรื่องฝีหนอง หรือเข็มที่พบในเนื้อหมู รวมถึงประเด็นต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดข้อสงสัย และวิตกกังวลว่าเรื่องเหล่านี้จริงๆแล้วเกิดจากอะไร และจะมีอันตรายต่อผู้บริโภคหรือไม่ จึงขอไขความกระจ่างพร้อมแนะนำวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง
ต้องเกริ่นก่อนว่า ขั้นตอน supply chain ของอุตสาหกรรมเนื้อหมู จะประกอบด้วยส่วนหลักๆ คือ ฟาร์มหมู โรงเชือด ตัวแทนจำหน่าย และร้านค้า แต่กรณีที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์คือการที่ผู้บริโภคพบชิ้นส่วนหมูมีอาการเหมือนเป็นหนองที่เกิดในเนื้อหมู ซึ่งอาจเกิดได้จากการฉีดวัคซีนหรือยา โดยที่เข็มฉีดยาอาจจะมีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย แล้วถูกฉีดเข้าไปในชั้นกล้ามเนื้อของตัวหมู เมื่อร่างกายเกิดการ detect ว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม ก็จะเกิดปฏิกิริยาการป้องกันตัว ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานในทันที หรือแม้ว่าจะใช้เข็มที่สะอาด ก็อาจมีการปนเปื้อนจากผิวหนังของหมู ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อเข้าไปยังชั้นกล้ามเนื้อระดับลึกได้ หรือแม้แต่ร่างกายมีการทำปฏิกริยาต่อต้านกับวัคชีนที่ฉีดเข้าไป ก็เกิดก้อนฝีได้เช่นกัน
ส่วนกรณีที่มักพบฝีในกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่นกล้ามเนื้อคอ เนื่องจากบริเวณคอชิดโคนหู เป็นตำแหน่งกล้ามเนื้อลึก ที่เหมาะสมที่สุดในการฉีด และอาจเพราะเวลาจำหน่ายจะอยู่ในรูปแบบเป็นก้อนชิ้นใหญ่ๆแล้วมาขึ้นรูป จากนั้นจึงนำมาสไลด์ที่ร้าน หรือร้านค้าปลีก ก่อนนำมาบรรจุหรือขายต่อ ทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจเนื้อที่โรงฆ่าสัตว์ตรวจไม่พบในเบื้องต้นได้ เพราะหนองที่เกิดขึ้นภายใต้ชั้นเนื้อลึก และการที่จะพบเจอส่วนของฝีหรือหนองส่วนใหญ่ คือตอนที่ผ่านการสไลด์มาแล้ว ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะส่งถึงมือผู้บริโภค ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดเพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพผู้ประกอบการควรให้ความรู้ ความเข้าใจทีมงานอย่างเพียงพอ
ขณะที่ กรณีการพบเข็มในเนื้อหมูนั้น ก็เกิดในขั้นตอนการใช้เข็มเพื่อฉีดวัคซีนหรือยารักษา ซึ่งการเลี้ยงหมูในประเทศไทยมีหลายรูปแบบ โดยในการเลี้ยงที่ไม่ใช่ฟาร์มมาตรฐาน (GAP) จะมีโอกาสจะพบสิ่งแปลกปลอม อย่างเช่น เข็มฉีดยาได้สูง เนื่องจากเกษตรกรมักจะเป็นผู้ฉีดยาสัตว์เอง ที่อาจขาดความรู้และทักษะในการฉีด จึงมีความเป็นไปได้ที่เข็มจะหักและคงค้างอยู่ในร่างกายสัตว์ได้ ซึ่งเมื่อถูกนำเข้าเชือดชำแหละก็มีโอกาสที่จะตรวจไม่พบเข็มเพราะมีขนาดเล็ก
อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตที่มีมาตรฐานต่างคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค จึงมีการออกมาตรการต่างๆเพื่อป้องกัน เช่น ผู้ปฏิบัติงานต้องผ่านการอบรมโดยสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ควบคุมขั้นตอนการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด เน้นการจัดการสุขภาพหมูโดยการเพิ่มการใช้ยาสมุนไพร โปรไบโอติค ลดการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีดและยาปฏิชีวนะสื่อน้ำมัน ลดเข็มตกค้างในเนื้อหมูด้วยการใช้อุปกรณ์แบบไร้เข็ม เป็นต้น
ดังนั้น ผู้บริโภคควรซื้อผลิตภัณฑ์เนื้อหมูจากผู้ผลิตที่มีมาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาการผลิตได้ โดยเลือกซื้อจากสถานที่จำหน่ายที่มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ที่กรมปศุสัตว์ตรวจรับรองคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและสถานที่จัดจำหน่ายแล้วเพื่อความมั่นใจยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ในสถานการณ์โควิด-19 ที่บางคนอาจกังวลเกี่ยวกับการทานอาหารและเนื้อสัตว์ เรื่องนี้หลายองค์กรทั้ง องค์การอนามัยโลก (WHO), องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และ United Sate Food and Drug Administration (USFDA) ต่างให้คำยืนยันว่าอาหารไม่ใช่แหล่งแพร่เชื้อโควิด-19 ด้านกรมปศุสัตว์ได้เก็บตัวอย่างสินค้าปศุสัตว์มากกว่า 1,500 ตัวอย่าง ในสถานที่จำหน่ายทั่วประเทศมาทำการตรวจสอบ ปรากฏว่ายังไม่มีสินค้าปศุสัตว์ใดที่ให้ผลโควิดเป็นบวก สรุปคือ “สินค้าปศุสัตว์ไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19”
ข้อสำคัญที่สุดคือ การรับประทานอาหาร “สุก ร้อน” ไม่ทานอาหารสุกๆดิบๆ หรือเนื้อหมูดิบ เพื่อป้องกันเรื่องพยาธิรวมถึงโรคสำคัญอย่างไข้หูดับ เพียงเท่านี้ผู้บริโภคก็สามารถรับประทานเนื้อหมูได้อย่างปลอดภัย./
ผศ.น.สพ.ดร.สุเจตน์ ชื่นชม
นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย
Link >> https://www.prachachat.net/hilight-prachachat/news-616816