ตามที่มีข่าวในสื่อออนไลน์ กรณีองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่า เนื้อแปรรูป เนื้อแดง อาจนำไปสู่มะเร็ง โดยจัดกลุ่ม “เนื้อสัตว์แปรรูป” เช่น ไส้กรอก เบคอน แฮม ฯลฯ มีสารก่อมะเร็งในกลุ่มเดียวกับบุหรี่ แอลกอฮอล์ แร่ใยหิน และสารหนู ซึ่งเป็นการสร้างความวิตกกังวลและข้อสงสัยมากมายให้กับผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศได้ออกมายืนยันว่าการรายงานของกรณีองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นการกล่าวเกินจริง เช่น คาน่า วู สมาชิกขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็งและนักวิจัยวิทยาศาสตร์อาวุโสของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า แม้จะมีการจัดบุหรี่และเนื้อแปรรูปอยู่ในสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1 เช่นเดียวกัน แต่ระดับความเสี่ยงจากบุหรี่นั้นสูงถึง 2000% ซึ่งสูงมากกว่าเมื่อเทียบเท่ากับการบริโภคเนื้อแปรรูป ขณะเดียวกัน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า ประกาศของ WHO เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง และการแชร์ข่าวต่างๆทางสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียนั้นขยายไปอย่างรวดเร็ว ขอให้ผู้บริโภคอย่าตระหนกเกินไป
นอกจากนี้ ผศ.ดร.อินทาวุธ สรรพวรสถิตย์ รองคณบดีสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำ ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้เนื้อแปรรูปอยู่ในกลุ่มเดียวกับบุหรี่หรือสารหนู เนื่องจากเคยมีการศึกษาว่าหากใส่วัตถุเจือปนอาหารอย่างไม่ระวัง จะมีโอกาสเกิดสารกลุ่มหนึ่งที่มีอันตรายเทียบเท่าบุหรี่หรือสารหนู และหากมีการประกอบอาหารที่ใช้ความร้อนมากเกินไปก็อาจจะเสี่ยงอันตรายได้ แต่โดยปกติแล้ว การรับประทานเนื้อแปรรูปนั้น ไม่ได้มีความถี่หรือมีในปริมาณมากที่จะเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ และการประกอบอาหารเป็นการปรุงสุกในความร้อนที่เหมาะสมเพื่อรับประทาน จึงไม่มีโอกาสที่จะเกิดสารก่อมะเร็ง
การแปรรูปเนื้อสัตว์ประเภทไส้กรอก มีการเติมวัตถุเจือปนอาหาร เช่น ไนไตรทเพื่อเป็นการถนอมอาหารโดยการยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์กลุ่มสำคัญ ช่วยทำให้เกิดสี กลิ่น จำเพราะของผลิตภัณฑ์กลุ่มไส้กรอก ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีการเฝ้าระวังและตรวจสอบผลิตภัณฑ์กลุ่มไส้กรอกอย่างเข้มงวด มีกฎหมายรับรอง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วย เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร หากตรวจพบการใช้วัตถุเจือปนอาหารเกินกฎหมายกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท กรณีตรวจพบว่า มีการใช้ในปริมาณที่มากจนอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ผู้บริโภคควรเลือกซื้อและรับประทานเนื้อแปรรูปจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ
ได้มาตรฐานตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) มาตรฐานควบคุมดูแลความปลอดภัยในทุกกระบวนการผลิตอาหาร (HACCP) และการแสดงฉลากเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง
ฉลาก ต้องมีรายละเอียด ชื่อผลิตภัณฑ์ เลขสารบบอาหาร 13 หลัก ในกรอบเครื่องหมาย อย.
วัน เดือน ปีที่ผลิต วันหมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน สูตรส่วนประกอบสำคัญโดยประมาณ ปริมาณสุทธิ ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร
ข้อมูลรายชื่อและกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหาร