ตามคำจำกัดความขององค์กรอนามัยโลกคำว่า “สุขภาพ” หมายถึง สุขภาวะ (Well being) ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ใจ จิตวิญญาณ สามารถที่จะอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข ซึ่งโภชนาการถือว่าเป็นรากฐานของสุขภาพ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราควรรู้และเข้าใจหลักโภชนาการอาหารที่ถูกต้อง โภชนาการอาหารที่ดีส่งผลทั้งในด้านร่างกาย อารมณ์และสติปัญญา ทำให้ร่างกายแข็งแรงเจริญเติบโตเต็มที่ มีภูมิคุ้มกันที่ดี ไม่แก่ก่อนวัย นอกจากนี้ยังมีผลทางวิทยาศาสตร์ให้ข้อมูลว่า อาหารที่รับประทานส่งผลต่อการพัฒนาทางสมองของมนุษย์ และยังมีรายงานเพิ่มเติมว่า หากขาดกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายหรือโปรตีนสมบูรณ์จะส่งผลเสียร้ายแรงต่อการเติบโตของสมอง
การบริโภคอาหารเปรียบเสมือนพลังงานที่ทำให้เราสามารถดำรงชีวิต ขับเคลื่อนระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย เช่น การหายใจ การย่อยอาหาร รวมถึงกิจกรรมในแต่ละวัน เช่น การเดิน วิ่ง ซึ่งแต่ละคนมีความต้องการและเผาผลาญพลังงานในร่างกายไม่เท่ากัน โดยเฉลี่ยผู้ใหญ่เพศชายมีความต้องการพลังงานประมาณ 2,000 กิโลแคลอรีต่อวัน ส่วนผู้ใหญ่เพศหญิงมีความต้องการพลังงานเฉลี่ยประมาณ 1,700 กิโลแคลอรีต่อวัน ดังนั้น หากทานอาหารในปริมาณที่มากเกินกว่าความต้องการของร่างกายก็จะส่งผลให้เกิดการสะสมของไขมัน และมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หรือหากทานอาหารในปริมาณน้อยและได้สารอาหารไม่ครบถ้วนก็จะทำให้ไม่มีกำลังเพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารที่จำเป็น
สารอาหารที่ร่างกายต้องการเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานในแต่ละวัน ได้แก่ กลุ่มคาร์โบไฮเดรตร้อยละ 55-60 และควรเป็นแบบเชิงซ้อน เช่น ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีท กลุ่มไขมันร้อยละ 25-30 เช่น ไขมันพืช ไขมันสัตว์ที่ควรเลือกทานตามความเหมาะสม กลุ่มโปรตีนที่ได้จากเนื้อสัตว์หรือถั่วต่าง ๆ เช่น ไก่ ไข่ ปลา หมู นม ประมาณร้อยละ 10-15 ส่วนกลุ่มวิตามินและแร่ธาตุต้องได้รับจากการบริโภคพืชผักและผลไม้ ในขณะเดียวกันควรออกกำลังกายอย่างพอดีและสม่ำเสมอควบคู่ไปด้วย
จากการศึกษาข้อมูล HDC ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (noncommuni-cable diseases หรือ NCDs) เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ซึ่งมีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคอาหารที่มีรสชาติหวาน มัน เค็ม เกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ โรค NCDs เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการศึกษาและเข้าใจในเรื่องสุขภาพ เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะเกิดโรคภัยต่าง ๆ
สำหรับฉลากโภชนาการเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคทราบข้อมูลสารอาหารที่ควรได้รับตามต้องการ เป็นประโยชน์ในการดูแลสุขภาพ หรือผู้ที่เป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งวิธีการอ่านฉลากควรเริ่มจาก 1.ดูปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภค เป็นปริมาณการทานต่อครั้งที่แนะนำ 2.ดูจำนวนหน่วยบริโภคต่อภาชนะบรรจุ เป็นจำนวนที่บอกว่าถ้าทานครั้งละหนึ่งหน่วยบริโภคจะแบ่งได้กี่ครั้ง 3.ดูคุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ว่าจะได้พลังงานเท่าใด สารอาหารอะไรบ้าง ในปริมาณเท่าใด 4.ดูร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน ซึ่งได้จากการทานหนึ่งหน่วยบริโภค
ในปี พ.ศ. 2559 มีการปรับปรุงฉลากโภชนาการให้เห็นชัดเจนและอ่านเข้าใจง่ายขึ้น เรียกว่าฉลาก GDA (Guideline Daily Amount) หรือฉลากหวาน มัน เค็ม ที่จะแสดงข้อมูลโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบรรจุภัณฑ์ โดยแสดงค่าพลังงาน (กิโลแคลอรี) น้ำตาล (กรัม) ไขมัน (กรัม) และโซเดียม (มิลลิกรัม) ที่ฉลากด้านหน้าหรือด้านหลังของบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัดเจน และอ่านง่าย ช่วยให้ผู้บริโภคเลือกผลิตภัณฑ์อาหารให้เหมาะสมกับความต้องการ หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม อันเป็นสาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้
ดังนั้น ผู้บริโภคควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานการผลิตที่ดี น่าเชื่อถือ มีฉลากโภชนาการให้ข้อมูลเพื่อเป็นทางเลือกสุขภาพ รวมทั้งสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เพื่อให้มั่นใจว่าอาหารที่บริโภคนั้นปลอดเชื้อ ปลอดโรค ปลอดภัย ห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บ
ดร.พิณทิพย์ รัมภกาภรณ์
ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร
คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์