หนึ่งในวิถีชีวิตใหม่ในยุคนิว นอร์มอล (new normal) สำหรับหลายคนที่ไม่เคยทำครัว หรือคนที่ไม่มีเวลา ก็ได้ใช้โอกาสที่ยังต้องดำเนินชีวิตประจำวันในรูปแบบเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) มาเข้าครัวปรุงอาหารรับประทานกันในครอบครัวกันบ่อยมากขึ้น “ไมโครเวฟ” จึงได้กลายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกชิ้นหนึ่งที่ถูกใช้บ่อยมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการอุ่นหรือปรุงอาหารได้อย่างรวดเร็ว
แต่ก็ยังมีหลายคนที่อาจมีความกังวล หรืออาจเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีกับการใช้เตาประเภทนี้ อาจจะจากประสบการณ์ตรง หรือพบเห็นตามสื่อโซเชียล เช่น ปรากฏการณ์ superheating ที่น้ำร้อนที่ต้มด้วยเครื่องไมโครเวฟเกิดปะทุอย่างรวดเร็วหลังจากโรยกาแฟลงไป หรือแม้แต่การแชร์ข่าวในสังคมออนไลน์ว่า ประเทศญี่ปุ่นจะยกเลิกใช้เตาไมโครเวฟ อ้างว่ามีอันตรายร้ายแรงเทียบเท่าระเบิดปรมาณู แม้ว่า เมื่อสืบเสาะหาต้นตอของแหล่งข่าวพบว่าเป็นเพียงข่าวลวงที่มาจากเว็บไซต์หนึ่งของรัสเซียที่ชอบเขียนข่าวปลอม ล้อเลียนเชิงเสียดสี หรือแต่งขึ้นเพื่อความสนุกสนาน แต่ในประเด็นนี้กลับกลายเป็นแหล่งสร้างความสับสนให้กับสาธารณชน เกิดเป็นความเชื่อที่ว่าไมโครเวฟไม่ปลอดภัย
การอุ่นอาหารด้วยเตาไมโครเวฟ เป็นกระบวนการให้ความร้อนแก่อาหารอีกวิธีหนึ่งนอกเหนือไปจาก การต้ม ผัด ทอด ซึ่งเป็นการให้ความร้อนแก่อาหารผ่านการนำความร้อนจนทำให้อาหารร้อนหรือสุก การอุ่นด้วยเตาไมโครเวฟจะให้ความร้อนกับอาหารโดยตรง ด้วยการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในย่านความถี่ที่มีชื่อว่า “ไมโครเวฟ” ผ่านเข้าไปในโมเลกุลของน้ำในอาหาร ทำให้เกิดการขยับของเมโลกุลตามความถี่ของคลื่น จนเกิดเป็นการเสียดสี เกิดเป็นความร้อนขึ้น กลไกดังกล่าวไม่สามารถสร้างรังสีตกค้างใด ๆ ภายในอาหารได้ ทั้งนี้เพราะไมโครเวฟไม่ใช่กัมมันตรังสี แต่เป็นเพียงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเท่านั้น ไมโครเวฟจึงไม่ใช่สาเหตุของการเกิดมะเร็งอย่างที่กังวลแต่อย่างใด
จะเห็นว่าการอุ่นร้อนด้วยไมโครเวฟก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าทางอาหารลดลงต่างไปจากกระบวนการให้ความร้อนวิธีอื่น ดังนั้น การรับประทานอาหารที่อุ่นร้อนด้วยไมโครเวฟเป็นประจำ ก็ไม่ได้แตกต่างจากการอุ่นร้อนด้วยวิธีการอื่น ๆ จึงไม่ได้มีผลกระทบใด ๆ ต่อสุขภาพของผู้บริโภค มิหนำซ้ำ ยังใช้เวลาในการให้ความร้อนที่น้อยกว่า จึงช่วยรักษาคุณค่าของอาหารได้ดีกว่าเดิมอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีผู้บริโภคบางส่วนมีความกังวลกับอันตรายจากแสงในตู้ไม่โครเวฟ ความจริงแล้ว แสงสีส้มที่อยู่ในเตาไมโครเวฟนั้น เป็นเพียงแสงจากหลอดไฟธรรมดา ไม่ใช่แสงของคลื่นไมโครเวฟ เพราะความถี่ของไมโครเวฟอยู่ในย่านที่สายตาของมนุษย์มองไม่เห็น ผู้ผลิตเตาเพียงแต่ติดหลอดไฟในเตาไมโครเวฟไว้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ผู้ใช้รู้ว่าเครื่องกำลังทำงานอยู่ และยังเพิ่มความสะดวกกับการมองอาหารที่กำลังอุ่นในเตาไมโครเวฟอีกด้วย
ในความจริงแล้ว อันตรายจากการใช้ไมโครเวฟไม่ได้มาจากตัวเตาหรือคลื่นไมโครเวฟ แต่มาจากการใช้งานที่ผิดวิธี เช่น การใช้โลหะประเภท อะลูมิเนียมฟอยล์ จานชามที่เคลือบลายทอง เงิน ทองเหลือง ทองแดง ที่เป็นตัวนำไฟฟ้าซึ่งจะก่อให้เกิดประกายไฟ ทำให้ไมโครเวฟชำรุดได้ หรือมาจากการนำภาชนะที่ทนความร้อนไปอุ่นอาหารในเตาไมโครเวฟ อาทิ โฟม วัสดุจำพวกเมลามีน หรือฟิล์มพลาสติกถนอมอาหาร (wrapping plastic) ในการห่ออาหารหรือหุ้มภาชนะก่อนจะเอาเข้าไมโครเวฟ ซึ่งทำให้ภาชนะบิดเบี้ยว เปลี่ยนรูป หรือละลายเข้าไปปนกับอาหาร หรือภาชนะหรืออาหารที่ปิดสนิท ไม่มีส่วนระบายความดันได้ เช่น ไข่ ที่อาจระเบิดเลอะเทอะภายในเตา หรือการใช้แก้วผิวเรียบ ขัดมัน ต้มน้ำและใช้เวลาในการอุ่นในไมโครเวฟนานเกินไป จะก่อให้เกิดอุณหภูมิที่สูงมากทำให้ผู้ใช้ถูกน้ำร้อนลวกได้
นอกจากนี้ การเลือกซื้อไมโครเวฟและอายุการใช้งาน ก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเตาไมโครเวฟที่มีมาตรฐาน ได้รับการรับรองคุณภาพ เช่นเดียวกับอายุการใช้งานของเครื่อง ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานและวัสดุโครงสร้างของเครื่อง เมื่อใช้ไมโครเวฟอุ่นอาหาร ควรหมั่นทำความสะอาดตู้ ไม่ปล่อยให้มีเศษอาหารตกค้างในตู้เป็นระยะเวลานาน ความชื้นและน้ำจากอาหารอาจทำให้เหล็กในตู้เกิดสนิมและเป็นรอยทะลุได้ นอกจากนี้ยังไม่ควรใช้ของมีคมขูดหรือขัดตู้ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณด้านในหรือด้านนอกของตู้ก็ตาม
ในยุคนิวนอร์มอล ที่ทุกคนอยู่บ้าน “ไมโครเวฟ” จึงเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน และประจำสำนักงานที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการอุ่นอาหารหลากหลายประเภท เพราะนอกจากช่วยประหยัดเวลาแล้ว อาหารที่อุ่นร้อนด้วยไมโครเวฟยังปลอดภัย แถมยังง่ายและสะดวกอีกด้วย ถ้าหากใช้เตาอย่างถูกวิธี เราก็ไม่ต้องกังวลกับการใช้เตาไมโครเวฟอีกต่อไป
รศ.ดร.สุรเชษฐ์ หลิมกำเนิด
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ