ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากเอกอัครราชทูตแห่งสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ว่าเป็นแหล่งผลิต ไก่เนื้อ ที่มีศักยภาพสูง มีกระบวนการผลิตอาหารที่เคร่งครัดได้มาตรฐานในระดับสากล ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพสูง ปลอดภัย เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวยุโรป
นอกจาก สหภาพยุโรปที่นำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อของไทยแล้ว ประเทศญี่ปุ่น ยังเป็นตลาดหลักที่นำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อไทยในแต่ละปีจำนวนไม่น้อย เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้บริโภคทั้งในอียู และญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับคุณภาพ และมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารขั้นสูงสุด แต่ละประเทศจึงมีการตรวจสอบคุณภาพ ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้าจากประเทศต่างๆอย่างเข้มงวด
การเลี้ยงไก่เนื้อของไทยในปัจจุบันนั้น เป็นการเลี้ยงที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการส่งออก ที่ควบคุมการใช้ยาตามมาตรฐานของทั้งประเทศไทยและประเทศคู่ค้า ซึ่งห้ามไม่ให้มีการใช้ฮอร์โมนเพื่อเร่งการเจริญเติบโตในการเลี้ยงอย่างเด็ดขาด หากตรวจพบว่ามีตัวยาหรือฮอร์โมนตกค้างในเนื้อไก่ที่ส่งออก จะถูกตีกลับมาและยกเลิกการเป็นคู่ค้า จึงไม่มีการใช้ฮอร์โมนเร่งโตในการเลี้ยงไก่แน่นอน และประเทศไทยยังมีกฎหมายควบคุมในเรื่องการใช้ฮอร์โมนในการผลิตไก่เนื้อมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2529 ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลกันว่า การให้บุตรหลานกินเนื้อไก่นั้นจะทำให้เด็กได้รับฮอร์โมนตกค้างในไก่และทำให้เด็กมีร่างกายที่เจริญเติบโตไวกว่าปกติ
อุตสาหกรรมการผลิตไก่เนื้อของไทยมีศักยภาพในการผลิตโปรตีนคุณภาพดี ไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนเร่งโตแต่อย่างใด ซึ่งเป็นผลจากเทคโนโลยีมาพัฒนาสายพันธุ์ไก่ให้เป็นสายพันธุ์ที่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และใช้เวลาในการเลี้ยงที่สั้นลง ควบคู่ กับระบบการเลี้ยงในโรงเรือนระบบปิดที่ทันสมัย มีระบบการป้องกันโรคที่ดี รวมถึง การผลิตอาหารที่เหมาะสมกับช่วงวัยของการเติบโตของไก่ ช่วยให้ไก่ไทยเติบโตได้ตามลักษณะของสายพันธุ์
นอกจากนี้ ปัจจัยที่ช่วยให้ไก่เจริญเติบโตได้เต็มที่ คือ ระบบการเลี้ยงในโรงเรือนระบบปิดที่ทันสมัย การมีระบบการป้องกันโรคที่ดี ไม่ให้เชื้อโรคเข้ามาทำ ให้ไก่เจ็บป่วย เช่น พื้นที่เลี้ยงไก่ที่มีรั้วรอบขอบชิด การฆ่าเชื้อพาหนะและอุปกรณ์ก่อนเข้าฟาร์ม เจ้าหน้าที่ต้องอาบน้ำสระผมเปลี่ยนเสื้อผ้าที่สะอาด เปลี่ยนรองเท้าบู๊ทก่อนเข้าฟาร์ม เป็นต้น ที่สำคัญ ในสภาวการณ์ปัจจุบันที่มีการงดใช้ยาปฏิชีวนะในลักษณะเร่งการเจริญเติบโต และเน้นการเลี้ยงที่ยึดตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ ที่ยกหลักอิสรภาพ 5 ประการในการปฏิบัติต่อสัตว์ ประกอบด้วย ความเป็นอิสระจากความหิวกระหาย (Freedom from hunger and thirst) อิสระจากความไม่สบายกาย (Freedom from discomfort) อิสระจากความเจ็บปวดและโรค (Freedom from pain injury and disease) อิสระจากความกลัวและความทุกข์ทรมาน (Freedom from fear and distress) และอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ (Freedom to express normal behavior) ไก่สามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ ช่วยให้ไก่อยู่อย่างสุขสบาย มีความเครียดลดลง ซึ่งส่งผลให้ไก่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยา สามารถให้ผลผลิตได้ดี แม้ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ไม่มีการใช้ฮอร์โมนเร่งโตในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ จึงกล่าวได้ว่า การรับประทานเนื้อไก่นั้นรไม่เป็นสาเหตุให้เด็กเจริญเติบโตไวกว่าปกติอย่างแน่นอน นอกจากนี้ เนื้อไก่ยังมีไขมันน้อยดีต่อสุขภาพแล้วยังมีรสชาติอร่อยอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการบริโภคสินค้าโปรตีนจากสัตว์นั้น ผู้บริโภคควรใส่ใจเลือกสินค้าเนื้อสัตว์ที่มีความปลอดภัย จากสถานที่จำหน่ายที่สะอาดถูกสุขลักษณะ สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ มีเครื่องหมายรับรอง มีการตรวจสอบในการกระบวนการผลิตตามมาตรฐานการผลิตที่ดี และรับประทานอาหารที่ผ่านการปรุงสุกไม่ผ่านขั้นตอนการเสริมแต่งด้วยวัตถุเคมีภัณฑ์ที่มีความสุ่มเสี่ยงมากเกินความเหมาะสม เพียงเท่านี้ ผู้บริโภคก็จะห่างไกลจากโรค ห่างไกล จากสารตกค้างต่างๆ ทำให้สามารถบริโภคอาหาร ได้อย่างมั่นใจ
รศ.ดร.ยุวเรศ เรืองพานิช
ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร กำแพงแสน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ