สถานการณ์ระบาดของเชื้อ Coronavirus หรือ โรคที่เรียกชื่อย่อสั้นๆ ว่า COVID-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก และ ส่งผลกระทบกับทุกคน ทุกอาชีพ ในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย มีมาตรการหยุดการแพร่ของเชื้อ Coronavirus อาทิ ทำงานจากบ้าน ( Work From Home) หรือ ให้มีระยะห่างระหว่างสังคม (Social Distance) โดยมีการสั่งปิดสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการรวมตัวของคนหมู่มาก สถานศึกษา สวนสาธารณะ คนที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง หรือ พื้นที่ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จะต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน ในสถานการณ์เช่นนี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ที่ต้องอยู่บ้าน ทำงานจากบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงในการกระจายเชื้อ
อาหารและน้ำ เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตในแต่ละวัน จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์การกักตุนอาหาร ในช่วงแรกของการประกาศของรัฐบาลให้ประชาชนอยู่กับบ้านและทำงานจากบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะกักตุนอาหารแห้ง ข้าวสาร อาหารกระป๋อง และไข่ แต่อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง และ อาหารกึ่งสำเร็จในรูปของแห้ง แม้ว่าจะสามารถเก็บไว้ได้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลานาน มักจะมีรสชาติไม่ถูกปากผู้บริโภค และ ต้องนำมาประกอบอาหารเพิ่ม เติมแต่งรสชาติ ใส่วัตถุดิบเพิ่มเติม
ยังมีกลุ่มอาหารที่มีความหลากหลายของเมนู มีรสชาติ ลักษณะเนื้อสัมผัสใกล้เคียงกับของสดหรือของปรุงสุกใหม่ คือกลุ่มอาหารสำเร็จรูปแช่เยือกแข็ง ที่ผ่านกรรมวิธีการปรุงสุก การให้ความร้อนฆ่าเชื้อ และนำมาแช่เยือกแข็งเพื่อรักษาความสด รสชาติ และสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 6 เดือน เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องอยู่บ้านในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ระบาด เนื่องจากสามารถนำมาให้ความร้อนและรับประทานได้เลย
ในสถานการณ์ปัจจุบัน ลักษณะอาหารที่นำมาบริโภคควรที่จะเป็นอาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ หรือ อุ่นให้ร้อน ควรหลีกเลี่ยงบริโภคอาหารที่มีการสัมผัสอาหารของคนขายและอาหารนั้นไม่ได้มาผ่านความร้อนอีกครั้ง เช่น ข้าวแกงตัก ข้าวมันไก่ หรือ ส้มตำ ที่แม่ค้าต้องหยิบ หั่น หรือตักให้ ดีที่สุดคือ อุ่นให้ร้อนเอง หรือ ทำอาหารรับประทานเอง เมื่อมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้นก็สามารถใช้เวลากับคนในครอบครัวทำอาหารร่วมกันได้ หากไม่มีเวลา การเลือกรับประทานอาหารสำเร็จรูปแช่เยือกแข็ง ก็เป็นทางเลือกที่สะดวกและปลอดภัย
ผู้บริโภคควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเน้นวัตถุดิบ หรืออาหารที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน หรือมีฤทธิ์ต้านไวรัส เช่น อาหารที่มีวิตามินซีสูง (ผลไม้ตระกูลส้ม ฝรั่ง มะขามป้อม) เห็ด (มีสารเบต้ากลูแคนที่ช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันและต้านไวรัส) ปลาและถั่วเมล็ดแห้ง ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่ดี โยเกิรต์มีจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่ช่วยสร้างภูมิต้านทานของลำไส้และภูมิคุ้มกันของร่างกาย เครื่องเทศและสมุนไพร เช่น กระเทียม หัวหอม ขิง ข่า หรือ พืชตระกูลขมิ้น ซึ่งมีสารพฤกษเคมีที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ หมั่นออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ต้องเครียดมากเกินไป ไม่ต้องกังวลเรื่อง Coronavirus ที่อาจจะปนเปื้อนในอาหาร เพราะยังไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันพิสูจน์ว่าอาหารเป็นสื่อกลางของการแพร่เชื้อ coronavirus
ที่สำคัญ คือ การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากากอนามัยเวลาที่ต้องเข้าไปในที่ชุมชน รับประทานอาหารปรุงสุก หรืออาหารอุ่นให้ร้อน ใช้ช้อนและภาชนะของตัวเอง ไม่จับใบหน้า ตา จมูกและปาก ล้างมือด้วยสบู่ หรือ เจลแอลกอฮอล์ ทุกครั้งที่สัมผัสพื้นที่สาธารณะ ไอ จาม และก่อนรับประทานอาหาร และอย่าลืมรักษาระยะห่าง 2 เมตร ระหว่างบุคคล ถ้าพวกเราช่วยกัน มีวินัย มีความตระหนักในสุขอนามัยส่วนบุคคล การหยุดเคลื่อนย้าย เราสามารถลดอัตราแพร่ของโรคระบาด COVID-19 ได้อย่างแน่นอน./
รศ. ดร. ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล
ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ