บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมแสดงศักยภาพผู้นำด้านเทคโนโลยีอาหาร บนวิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” นำผู้บริหารร่วมขึ้นเวทีแบ่งปันและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาอาหารแห่งอนาคต ในงานเสวนา “Future Food การพัฒนานวัตกรรม สู่ความมั่นคงทางอาหาร” ในมหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน SUSTAINABILITY EXPO 2023 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
คุณนลินี โรบินสัน ผู้บริหารสูงสุด สายงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซีพีเอฟ ได้ร่วมแชร์แนวคิดด้านความมั่นคงทางอาหา ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทชั้นนำ และสตาร์ทอัพของไทย กล่าวว่า ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยยึดมั่นหลักปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน คือ ดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์ของประเทศ ประชาชน และบริษัท รวมถึงมีพันธกิจสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ผู้คนทั่วโลก ตามวิสัยทัศน์ ครัวของโลกที่ยั่งยืน บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนา "อาหารแห่งอนาคต" ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกให้สามารถเข้าถึงอาหารที่หลากหลาย มีคุณภาพสูง ปลอดภัย ในราคาที่เข้าถึงได้ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงกระบวนการในการดำเนินธุรกิจให้มีความยั่งยืนมากขึ้น ร่วมบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พื้นที่เพาะปลูก และหนึ่งในนวัตกรรมอาหารที่สำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคต คือ plant-based protein หรือเนื้อจากพืช อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และมีห่วงโซ่การผลิตอาหารที่สั้นลง เพราะเป็นการแปรรูปอาหารจากพืชโดยตรง
ซีพีเอฟได้ตั้งหน่วยงานสำหรับทำงานวิจัยและพัฒนา "อาหารโปรตีนทางเลือก" หรือ Alternative Protein โดยดำเนินงานวิจัยพัฒนาสินค้าและร่วมมือกับสถาบันชั้นนำระดับโลก ตลอดจนสตาร์ทอัพเพื่อพัฒนานวัตกรรมโปรตีนทางเลือก ซึ่งซีพีเอฟ ได้เปิดตัว ผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช แบรนด์ Meat Zero ตั้งแต่ 2564 ด้วยนวัตกรรม Plant-TEC และยังเดินหน้าพัฒนาให้สินค้ากลุ่มนี้มีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริงให้มากที่สุด ทั้งในมุมของ รสชาติ เนื้อสัมผัส รูปลักษณ์ และราคาที่แข่งขันได้เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนให้ผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืชเติบโตได้แบบก้าวกระโดด
นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังมองโอกาสของ "โปรตีนทางเลือก" ชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น โปรตีนทางเลือกจากจุลินทรีย์ (mycoprotein) ซึ่งทั่วโลกมีการศึกษาและพัฒนามาเป็นเวลามากกว่า 40 ปี และสามารถผลิตได้ในเชิงพาณิชย์ ด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้ รวมถึง เนื้อสัตว์สังเคราะห์จากแล็ป (Cultivated meat) ที่ตอบโจทย์ด้านรสชาติ แต่ยังต้องใช้เวลาพิสูจน์ในระยะยาวถึงต้นทุนการผลิตจะทำให้ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริงๆ อย่างไรก็ตาม ทั้งสามนวัตกรรมยังมีโอกาสในการพัฒนาอีกมาก ซีพีเอฟ จึงได้ผสมผสานระหว่างการทำวิจัยภายในกับการร่วมมือกับภายนอก ทั้งมหาวิทยาลัยและบริษัท startup ทั่วโลก เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนำเทคโนโลยีไปสู่การผลิตสินค้าเชิงพาณิชย์ให้กับผู้บริโภค
“เรามองว่าเทคโนโลยี Future Food ยังอยู่ในจุดเริ่มต้น เพิ่งมีการลงทุน และมีคนเก่งๆ เข้ามาทำวงการนี้แบบเข้มข้นจริงๆ ยังไม่ถึง 5 ปี เพราะฉะนั้นยังมีศักยภาพ และโอกาสอีกมากที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ต้นทุนของสินค้ากลุ่มนี้ถูกลงได้อีกมากๆ ” คุณนลินี กล่าว
คุณนลินี เสริมว่า ประเด็นด้านความมั่นคงทางอาหาร ไม่ใช่แค่เรื่องของความอิ่มท้อง แต่เชื่อมโยงไปถึงการเข้าถึงอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ดีต่อสุขภาพ (Health & Wellness) ตอบโจทย์ความต้องการแบบเฉพาะทางของผู้บริโภคทุกกลุ่ม เช่น กลุ่มอาหารเสริม อาหารทางการแพทย์ โดยพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงและเจาะจงการแก้ปัญหาของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มอีกด้วย