_1743665249.jpg)

วันนี้น้องๆนักเรียน รร.วัดฉางหลาง อ.สิเกา จ.ตรัง ใช้เวลาวันหยุดร่วมกันปลูกหญ้าทะเล ที่ท่าเรือหาดปากเมง อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน เพาะหญ้าทะเลทั้งหมดเป็นฝีมือการเพาะของพวกเขาเอง จากศูนย์เรียนรู้หญ้าทะเล รร.วัดฉางหลาง ทุกคนทั้งสนุกและได้ความรู้จากพี่ๆเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่ช่วยอธิบายวิธีการปลูกที่ถูกต้อง ถึงแม้ตัวจะเปื้อนไปด้วยโคลน แต่ทุกๆคนกลับมีความสุขที่ได้ร่วมกันทำกิจกรรมดีๆคืนความสมบูรณ์สู่ธรรมชาติ
“หนูชอบมากที่ได้มาปลูกหญ้าทะเลกับเพื่อนๆ หนูอยากให้หญ้าทะเลที่เราเพาะปลูกเองโตเร็วๆ จะได้เป็นที่อยู่ของสัตว์ทะเล โดยเฉพาะพะยูนจะได้มีหญ้าทะเลเป็นอาหารมากขึ้น หญ้าทะเลยังช่วยฟอกอากาศ ช่วยลดมลพิษในน้ำ ถ้าทะเลบ้านเราอุดมสมบูรณ์ สัตว์น้ำก็จะเพิ่มขึ้น ชาวประมงก็มีรายได้เพิ่ม ขอให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์ทะเลและหญ้าทะเลกันนะคะ” น้องกนกวดี ถ่อแก้ว หรือน้องกอหญ้า นักเรียนชั้นป.5 รร.วัดฉางหลาง อ.สิเกา จ.ตรัง เล่าขณะกำลังขะมักเขม้นปลูกหญ้าทะเล
อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ได้กำหนดเขตอนุรักษ์พะยูนเป็นจุดแรกของไทยบริเวณหาดปากเมง เนื้อที่ 1,300 ไร่ มาตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากพะยูนเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนใกล้สูญพันธุ์ ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีประชากรพะยูนมากที่สุดในประเทศ
ศูนย์เรียนรู้หญ้าทะเลโรงเรียนวัดฉางหลาง เกิดขึ้นเพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบายนี้ และกลายเป็นโมเดลการอนุรักษ์พยูนและทะเลไทย โดยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา เด็ก-เยาวชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ผ่านกิจกรรมการเพาะเลี้ยงและปลูกหญ้าทะเล เพื่อให้เป็นถิ่นอาศัยและแหล่งอาหารชั้นดีของสัตว์ทะเล และช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ชั้นยอดของมนุษย์ ที่ทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนฯได้ดีที่สุด โดยกักเก็บไว้ในรูปแบบชีวมวล และยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยของสัตว์น้ำ ในการวางไข่ หลบซ่อนศัตรู และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ที่สำคัญยังช่วยลดมลพิษในทะเล และช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำ
สุดใจ ตั้งคีรี ผู้อำนวยการ รร.บ้านฉางหลาง เล่าว่า การอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเล เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ทุกคนต้องหันมาให้ความสนใจ รร.บ้านฉางหลาง ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ได้ผลักดันให้ทั้งนักเรียนและชุมชนร่วมกันดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เราทำกิจกรรมลงพื้นที่สำรวจหญ้าทะเลบริเวณเขาแบนะ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม นักเรียนได้ร่วมกันเก็บหญ้าทะเลที่ลอยขึ้นมาที่ชายหาดเพื่อนำมาเพาะขยายพันธุ์ และได้ลงมือปลูกหญ้าทะเลที่ได้ดูแลกันเองในเขตพื้นที่ที่ได้ดูแลอยู่ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมและเกิดความรักในทรัพยากรทางธรรมชาติและเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของนักเรียนด้วย
“จากกิจกรรมที่ทำมาต่อเนื่องกว่า 6 ปีส่งผลให้ชาวประมงมีผลผลิตทางทะเล กุ้ง หอย ปู ปลา เพิ่มขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย โรงเรียนบ้านฉางหลางมีโครงการส่งเสริมคุณลักษณะและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม สร้างความตระหนักรู้และจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ผู้เรียนทุกคน เรียนดีมีความสุข”
ฟาร์มอนุบาลลูกกุ้งภาคใต้ ซีพีเอฟ เป็นภาคส่วนสำคัญที่เข้ามาร่วมเสริมสร้างขีดความสามารถแบบมีส่วนร่วม กับสถาบันการศึกษา นักเรียน ชุมชน โดยทีมจิตอาสานำอุปกรณ์มามอบให้กับโรงเรียน ทั้งถังเพาะหญ้าทะเล การเดินระบบน้ำใหม่ ตรวจสอบระบบไฟฟ้า และปรับปรุงอาคารใหม่ เพิ่มกระเบื้องใสเพื่อเพิ่มการรับแสง อุปกรณ์ที่ได้ติดตั้งสามารถเพาะหญ้าทะเลได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 กิ่งต่อปี และโรงเรียนต่อยอดเป็นการจำหน่ายกิ่งหญ้าทะเลให้กับหน่วยงานต่างๆเพื่อนำไปปลูกต่อ เกิดรายได้หมุนเวียนในการดำเนินโครงการ
วรวัฒน์ หมั่นเรียน ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฟาร์มอนุบาลลูกกุ้งภาคใต้ บอกว่า ซีพีเอฟสนับสนุนที่นี่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องหญ้าทะเล สำหรับให้นักเรียนในโรงเรียนต่างๆและประชาชนทั่วไปได้เข้าศึกษาเรียนรู้ และเป็นแหล่งเพาะต้นหญ้าทะเลแล้วนำไปปลูกเพื่อฟื้นฟูทะเล จากนี้จะพัฒนาหลักสูตรอบรมให้ความรู้ด้านการเพาะหญ้าทะเลแก่นักเรียน เช่นการคัดเลือกกิ่งหญ้าทะเล การเตรียมน้ำและเตรียมสภาพแวดล้อมก่อนการเพาะ การติดตามวัดผลการเจริญเติบโต การทำปุ๋ยสำหรับบำรุงหญ้าทะเล และวางแผนในการสร้างอาชีพเสริมให้แก่นักเรียน อาทิ การเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นและสาหร่ายขนนก โดยใช้อุปกรณ์เดียวกันกับที่ใช้เพาะหญ้าทะเล เพื่อให้นักเรียนนำผลผลิตมาแปรรูปและจำหน่ายสร้างรายได้ต่อไป
วันนี้ ศูนย์เรียนรู้หญ้าทะเล รร.วัดฉางหลาง กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานกิจกรรมปลูกหญ้าทะเล ทั้งที่โรงเพาะพันธุ์หญ้าทะเลและสถานที่ปลูกจริง ความเข้มแข็งของความร่วมมือของทุกภาคส่วนช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและท้องทะเลให้กับทุกคนได้อย่างแท้จริง./
ไปดูความน่ารักเต็มๆ ในคลิปเลย! >> Click