บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานด้วยความรับผิดชอบ ชูกลยุทธ์ “อาหารมั่นคง” ผลิตอาหารคุณภาพและปลอดภัย รองรับความต้องการของประชากรโลกอย่างเพียงพอและยั่งยืนในทุกสถานการณ์
วิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปี 2563 จากภัยธรรมชาติและโรคระบาดโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของประชาชน ซีพีเอฟในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแบบครบวงจร ตระหนักดีถึงภาระกิจสร้างความมั่นคงทางอาหาร ยืนหยัดเคียงข้างสังคมไทยมาโดยตลอด โดยเป็นบริษัทแรกๆที่ส่งความช่วยเหลือสู่สังคม ริเริ่ม“โครงการ CPFส่งอาหารจากใจร่วมต้านภัยโควิด-19” ริเริ่มโดย นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ ส่งมอบอาหารปลอดภัย เพื่อเป็นกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ให้ทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์และครอบครัว เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุข ผู้กักตัวเอง ผู้มีรายได้น้อย แรงงานข้ามชาติ กลุ่มเปราะบาง ฯลฯ ได้มีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอ และยืนยันจะส่งความช่วยเหลือเพื่อก้าวพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน
ในช่วงวิกฤติโควิด-19 นอกจากการส่งมอบอาหารปลอดภัยอย่างเพียงพอแล้ว ซีพีเอฟเป็นบริษัทไทยรายแรกที่ประกาศยกระดับความปลอดภัยของพนักงานขึ้นระดับสูงสุดพร้อมทั้งปรับแผนการดำเนินธุรกิจร่วมกับคู่ค้า โดยจัดทำโครงการ Faster payment ลดระยะเครดิตเทอมเหลือ 30 วัน ให้แก่คู่ค้ากว่า 6,000 ราย เพิ่มสภาพคล่องและรักษางานของลูกจ้างในกลุ่มคู่ค้า
ภายใต้การดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ ซีพีเอฟผนวกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) เข้ากับกลยุทธ์ความยั่งยืน 3 เสาหลัก โดยสนับสนุนเป้าหมาย SDGs ทั้งหมด 13 เป้าหมาย จาก 17 เป้าหมาย มีการทบทวนกลยุทธ์ความยั่งยืนให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจเดินหน้าและเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส หน่วยงานความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ทำให้ปีที่ผ่านมา มีส่วนร่วมลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิตลดลง 36% เทียบกับปีฐาน 2558 นำน้ำกลับใช้ใหม่หรือใช้ซ้ำได้ถึง 42% ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้รวม 586,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ทำให้สามารถเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนตลอดกระบวนการผลิตอยู่ที่ 26% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ตลอดจนการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถใช้ซ้ำ หรือใช้ใหม่ หรือเป็นสินค้าใหม่ หรือย่อยสลายได้สูงถึง 99.9%
นอกจากนี้ ในปี 2563 บริษัทฯบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน 100% จำนวน 7 เป้าหมาย อาทิ ลดปริมาณการใช้พลังงานต่อหน่วยการผลิต ลดปริมาณการดึงน้ำมาใช้ ลดปริมาณของเสียที่กำจัดโดยการฝังกลบ และเดินหน้าขับเคลื่อนเป้าหมายที่ต้องดำเนินการต่อ คือลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ (Climate-friendly products) วางแผนระบบโลจิสติกส์ ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร แก้ปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน(Nature-based Solution)
ซีพีเอฟ ยังมีส่วนร่วมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านการทำกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า เช่น โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ช่วยฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชายเลนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ 5 จังหวัดรวม 2,388 ไร่ โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี อนุรักษ์และฟื้นฟูป่า 5,971 ไร่ โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ สนับสนุนให้พนักงานปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการทั่วประเทศ ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 1,720 ไร่ และยังเดินหน้าโครงการเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งต่อยอดจากการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า สู่การสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับชุมชน ด้วยการส่งเสริมการทำโครงการผลิตอาหารปลอดภัย เพื่อให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
นายวุฒิชัย กล่าวด้วยว่า กลยุทธ์ด้านความยั่งยืน ปี 2573 ( ปี 2030) เน้นสร้างนวัตกรรมอาหาร การพัฒนาบุคลากรให้สามารถพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต การผลิตที่มุ่งสู่เป้าหมาย Net-zero ลดก๊าซเรือนกระจกและขยะอาหารโดยใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับกลุ่มอุตสาหกรรม ประเทศและโลก พร้อมทั้งแบ่งปันคุณค่าร่วมให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่สร้างความมั่นคงทางอาหารของโลกอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ได้เปิดตัวรายงานความยั่งยืนประจำปี 2563 ตอกย้ำกลยุทธ์สู่ความยั่งยืน 3 เสาหลัก อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ สนับสนุนการบริหารจัดการธุรกิจให้ดำเนินไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและต่อเนื่อง เพื่อผลิตอาหารคุณภาพดีปลอดภัย เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ควบคู่กับการมีส่วนร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามแนวทาง เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ตามวิสัยทัศน์ “ครัวของโลกที่ยั่งยืน” โดยที่ผ่านมา ได้จัดทำรายงานความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 เพื่อสื่อสารผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัท ซึ่งรายงานความยั่งยืนประจำปี 2563 ฉบับนี้พิมพ์ด้วยหมึกและกระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สามารถติดตามรายละเอียดของรายงานความยั่งยืนได้ที่>>www.cpfworldwide.com/en/sustainability/report > https://www.cpfworldwide.com/th/sustainability/report
https://www.cpfworldwide.com/en/sustainability/report