บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำกว่า 790 รายการ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 1.418 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เดินหน้าโมเดล “ธุรกิจสีเขียว” ร่วมดูแลสมดุลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
นางสาวกุหลาบ กิมศรี รองกรรมการผู้จัดการ สำนักระบบมาตรฐานสากล ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่บริโภค รวมไปถึงการผลิตอาหารสัตว์ โดยมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การจัดหาแหล่งวัตถุดิบ การใช้พลังงานทดแทน หรือพลังงานหมุนเวียน การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ตลอดจนการขนส่ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission : GHG) และบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
ในปี 2563 ซีพีเอฟ มีผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำที่ได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint Label) และฉลากลดโลกร้อน (Carbon Footprint Reduction Label) กว่า 790 รายการ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 1.418 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าจากหลากหลายผลิตภัณฑ์ เช่น ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก เนื้อหมูสด เนื้อหมูอนามัย อาหารไก่เนื้อ อาหารหมูขุน เป็นต้น
"การพัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของการเดินหน้าตามเป้าหมาย“ต้นแบบธุรกิจสีเขียว” ซึ่งในปี 2563 สัดส่วนรายได้สีเขียว (Green Revenue) ของซีพีเอฟ คิดเป็น 32% ของรายได้รวมของบริษัท และยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เนื่องจากการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์รักษ์โลกอย่างต่อเนื่อง เป็นการร่วมดูแลสมดุลสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก "นางสาวกุหลาบ กล่าว
นอกจากนี้ ซีพีเอฟมีการพัฒนานวัตกรรมอาหารสัตว์รักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ช่วยลดปริมาณไนโตรเจนส่วนเกินจากการขับถ่ายของหมูได้ 20-30% และลดปริมาณไนโตรเจนส่วนเกินจากมูลไก่ไข่ได้ 12-13 % ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 72,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
นางสาวกุหลาบ กล่าวเพิ่มเติมว่า ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตโดยไม่เหลือขยะหรือของเสีย เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายองค์กรคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Organization) ในปี 2573
ซีพีเอฟ ยังมีเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการใช้พลังงานต่อหน่วยการผลิตลง 25% ในปี 2568 เทียบกับปีฐาน 2558 ตามเป้าหมายสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างพอเพียงให้กับมนุษยชาติ (People) ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ (Planet) และสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการทำธุรกิจ (Profit) ให้กับบริษัทฯ จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ เพื่อความยั่งยืนต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในอนาคต./